...+

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Blessing in Disguise’ ล้างหนี้เก่าเพื่อก่อหนี้ใหม่ ?

Blessing in Disguise’ ล้างหนี้เก่าเพื่อก่อหนี้ใหม่ ?

โดย คำนูณ สิทธิสมาน


ความพยายามเบื้องต้นของรัฐบาลที่จะดึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่งออกมาก่อตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติเพื่อไปลงทุนในนวัตกรรมการเงินยุคใหม่และแหล่งพลังงานมีอันต้องพังพาบลงอย่างรวดเร็วนกกระจอกไม่ทันกินน้ำ เพราะสังคมไม่เห็นด้วย แบงก์ชาติก็ไม่เห็นด้วย

แต่ความพยายามนี้ยังไม่สิ้น !

รัฐบาลปรับแผนโดยการรับฟังแบงก์ชาติมากขึ้น ไม่ใช้ไม้แข็งเหมือนเดิม เพราะแบงก์ชาติเองก็มีปัญหาแก้ไม่ตกเรื่องหนี้เงินต้นกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14 ล้านล้านบาท หากทำให้แบงก์ชาติแก้ปัญหานี้ตกไป พร้อม ๆ กับการดึงทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาให้รัฐบาลลงทุน ก็จะทำให้ได้แนวร่วมเพิ่มขึ้น เพราะอย่างน้อยแบงก์ชาติก็จะไม่คัดค้านแนวทางแก้ปัญหาที่ตนเองได้ประโยชน์ด้วย การดึงทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาจึงถูกพูดไปพร้อม ๆ กับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ

ประจวบเหมาะกับมหาอุทกภัยที่เข้ามาในจังหวะที่พอเหมาะ !

การดึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมานับจากนี้ไปจะไม่ได้เป็นไปเพื่อก่อตั้งกองทุนความมั่งคั่งฯไปลงทุนในแหล่งพลังงานอีกต่อไปแล้ว แต่จะเป็นไปเพื่อลงทุนในโครงการระยะกลางระยะยาวเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยอย่างถาวร

สรุปว่าเหตุผลในการดึงทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาไม่ว่าจะในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้จะเป็นไปภายใต้เหตุผล 2 ประการ

1. ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างถาวร

2. แก้ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ

เพื่อการนี้จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายการเงินอย่างน้อย 2 ฉบับ

1. พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

2. พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501

หลักการในการแก้ไขประการที่ 1 คือจะมีการโยกหนี้เงินต้นของกองทุนฟื้นฟูฯที่เหลืออยู่ประมาณ 1.14 ล้านล้านบาทพร้อมสินทรัพย์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของแบงก์ชาติมาให้กระทรวงการคลังรับผิดชอบแทน โดยจะโยกหน้าที่การจ่ายดอกเบี้ยรายปีของเงินต้นจำนวนนี้ที่กระทรวงการคลังเคยจ่ายโดยตั้งจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีไปให้แบงก์ชาติจ่ายแทนจากผลประกอบการของตน ยอดเงินจำนวนนี้ตกปีละ 50,000 ล้านบาท แต่ถ้ายอดเงินต้นที่กระทรวงการคลังเอามาบริหารแทนลดลงไป ยอดดอกเบี้ยก็จะลดลง แต่น่าจะยังคงเหลือปีละเป็นหมื่นล้านบาท ข้ออ้างคือจะได้ไม่เป็นภาระงบประมาณ ไม่เป็นภาระภาษีประชาชน

ฟังแล้วดูดีไม่น่าค้าน เพราะเหมือนจะทำให้ประชาชนปลอดภาระ

แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่

เพราะกระทรวงการคลังจะจ่ายคืนหนี้เงินต้น 1.14 ล้านล้านบาทนี้ได้ก็แต่โดยการขายสินทรัพย์ที่โยกมาพร้อมกับหนี้เงินต้นออกไป ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นธนาคารกรุงไทย ถ้าไม่ขายก็จะเอามาหาประโยชน์ หุ้นเหล่านี้ก็เป็นสินทรัพย์ของประเทศของประชาชนอยู่ดี

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การแก้ไขประการที่ 2 ที่จะทำให้แบงก์ชาติมีกำไรพอจะจ่ายดอกเบี้ยปีละเป็นหมื่นล้านได้โดยไม่ต้องตั้งจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งานนี้เดาว่าจะมีการแก้ไขพ.ร.บ.เงินตราในมาตรา 31, 32, 33 และ 34 เป็นการแก้ไขวิธีการลงบัญชี วิธีตีราคาทรัพย์สิน วงรอบในการลงบัญชี ซึ่งถ้าจะอธิบายจะยาวมากและเป็นประเด็นทางเทคนิคที่ผมเองอาจจะยังไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะอรรถาธิบายให้กระชับ สั้น และเข้าใจง่าย แต่ภาพรวมโดยสรุปคือจะทำให้แบงก์ชาติมีกำไร และผลประโยชน์จากทั้ง 3 บัญชีที่อยู่ในความดูแลของฝ่ายออกบัตร แบงก์ชาติ ที่ถือกันว่าเป็นสินทรัพย์ของแผ่นดินไม่ใช่สินทรัพย์ของแบงก์ชาติ จากที่เคยไหลไปอยู่ในบัญชีทุนสำรองพิเศษ หรือ “คลังหลวง” ให้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ๆ จะไม่ไหลไปเหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะการแก้ไขกฎหมายใหม่จะเปลี่ยนทางไหลของผลประโยชน์ดังกล่าวออกมาเป็นกำไรของแบงก์ชาติ เพื่อตัดใช้หนี้ดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูฯ พูดให้รอบด้านก็คือแม้ไม่ต้องตั้งจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็เอามาสินทรัพย์ส่วนที่จะไปเพิ่มพูนสินทรัพย์ของแผ่นดินในบัญชีทุนสำรองพิเศษอยู่ดี มันก็เป็นเงินของชาติของประชาชนอยู่ดี

สรุปว่าการแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับกระทบเงินในกระเป๋าประชาชนอยู่ดี เพียงแต่คนละรูปแบบที่เห็นได้ชัดจากในงบประมาณรายจ่ายประจำปีเท่านั้น

รัฐบาลอาจจะบอกว่าไม่จ่ายหนี้วันนี้ก็ต้องจ่ายวันหน้า ยอมเจ็บทีเดียววันนี้ในภาวะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศยังมีมากจะไม่ดีกว่าหรือ ?

รัฐบาลอาจจะถามว่าถ้าไม่ทำแบบนี้จะแก้ปัญหาหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 1.14 ล้านล้านบาท ++ อย่างไร ? อย่าห้ามอย่าด่าอย่างเดียว !

ถ้าคิดในกรอบเก่าก็คิดไม่ออกแน่

แต่ถ้าลองคิดนอกกรอบเก่า ก็ต้องดูว่าใครได้ประโยชน์จากกองทุนฟื้นฟูฯที่หมดไป ตอบว่าสถาบันการเงินใช่ไหม หรือตอบให้ชัดกว่านั้นก็คือผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงินที่รัฐเข้าไปอุ้มตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา กองทุนฟื้นฟูฯ คืออะไรครับถ้าไม่ใช่การเอาเงินภาษีประชาชนไปช่วยเหลือผู้ถือหุ้นสถาบันการเงิน โดยที่ประชาชนไม่มีความผิด ผู้บริหารสถาบันการเงินบางส่วนและผู้บริหารแบงก์ชาติบางส่วนต่างหากที่ผิด แล้วพวกเขาต้องรับผิดชอบบ้างไหม

ผู้ถือหุ้นสถาบันการเงินยังรับเงินปันผล ผู้บริหารสถาบันการเงินและผู้บริหารแบงก์ชาติยังรับเงินเดือนสูงลิ่ว โบนัสสิ้นปีแต่ละปีอีกอย่างน่าอิจฉา

ทำไมไม่ตัดกำไรของสถาบันการเงินมาชดใช้ ?

ทำไมระหว่างที่หนี้ของการแก้ปัญหาให้คนกลุ่มหนึ่งยังดำรงอยู่ แต่คนกลุ่มนี้ยังคงเสวยสุขอยู่ทุกปี ๆ ไม่แปรเปลี่ยน ??

ทราบว่าสหรัฐอเมริกาไม่เคยสนับสนุนสถาบันการเงินฟรี ๆ อย่างนี้ ตราบใดที่หนี้ของรัฐยังไม่หมด อย่างน้อยผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงินที่รับการช่วยเหลือก็ไม่มีโอกาสได้รับเงินปันผล ผู้บริหารไม่มีสิทธิได้รับการขึ้นค่าจ้างและรับโบนัสก้อนโต

ทำไมไม่เอาอย่างสหรัฐอเมริกาในเรื่องแบบนี้ ?

ทำไมไม่กล้าแก้ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯนอกกรอบแบบนี้บ้าง ผมคงไม่ต้องถาม !

พรรคพวกผมคนหนึ่งบอกอย่างประชดแกมจริงว่าในความคิดของเขา คงหนี้กองทุนฟื้นฟูไว้อย่างนี้แหละ ไม่ต้องแตะ ไม่ต้องแก้ เพราะมันเป็นสิ่งที่เรียกว่า...

“Blessing in Disguise”

เป็นโชคแฝงเร้น ความดีแฝงเร้น ตรงที่การมาหนี้ 1.14 ล้านล้านบาทคาไว้อย่างนี้ ทำให้เพดานหนี้สาธารณะของประเทศเหลืออีกไม่มาก ก่อหนี้ใหม่อีกไม่ได้มาก ถ้าแต่เล่นแร่แปรธาตุเสกหนี้ตรงนี้ให้ลดลงหรือหมดไป นอกจากจะเสียหายต่อสินทรัพย์ของแผ่นดินก้อนสำคัญที่บรรพบุรุษสั่งสมไว้ให้ใช้ในยามวิกฤตสุด ๆ จริง ๆ แล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการกู้ใหม่อีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท

พรรคพวกผมคนนี้ตั้งคำถามทิ้งท้ายที่ผมยังตอบไม่ได้ว่า...

“แล้วคุณคำนูณคิดดู 10 % ของยอดเงินกู้ใหม่เท่าไร ? คอมมิชชั่นจากการลงทุนในโครงการใหญ่ใหม่ ๆ เท่าไร ? ผลประโยชน์ทับซ้อนที่ได้จากโครงการเหล่านี้อีกเท่าไร ? ทั้ง 3 ยอดมารวมกันเป็นยอดสุทธิเท่าไร ??”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น