...+

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กับดักของพรรคเพื่อไทย โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิ

เป็นที่น่ายินดีว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีผู้ไปใช้สิทธิถึง 75% นับเป็นสถิติสูงสุด ผลของการเลือกตั้งก็เป็นไปตามที่มีการคาดหมายกัน เพียงแต่ไม่นึกว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส.เขตน้อยอย่างนี้ ส่วนคะแนนผู้ที่ Vote No ก็ไม่มากเท่าที่คิด แต่ก็ยังนับว่าสูงพอควร คือล้านกว่าคน

พรรคเพื่อไทยมีการจัดตั้งมวลชนดีกว่าพรรคประชาธิปัตย์ วิธีการหนึ่งก็คือ การมีงานกิจกรรมทางการเมืองเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือ การชุมนุมของคนเสื้อแดง เราไม่ควรมองการเคลื่อนไหวของ นปช.แยกออกไปจากพรรคเพื่อไทย เพราะที่จริงแล้ว คนเสื้อแดงนั่นแหละคือมวลชนที่แท้จริงของพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้น นอกจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งซึ่งมีเวลาเพียง 40 วันแล้วก็ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวอะไร ความรู้สึกร่วมกันของมวลชนที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จึงมีน้อย แต่ก็ยังดีที่คะแนนเลือกพรรคของพรรคเพื่อไทยยังไม่มากนัก ทำให้คุณอภิสิทธิ์ สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ทักษิณยังไม่ได้อาณัติจากประชาชน และการที่จะไปออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมจึงคงทำได้ยาก

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้การเมืองไทยเข้าสู่ระบบสองพรรคมากขึ้น เพราะประชาชนเริ่มเลือกพรรคใหญ่ พรรคขนาดกลางอย่างพรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินกลายเป็นพรรคขนาดเล็ก

ผมคาดว่าต่อไปประชาชนคงจะค่อยๆ เลิกสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรค ที่ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็อยากเข้าร่วมทั้งนั้น ที่จริงพรรคพวกนี้คือผู้ที่พยายามสร้างมายาคติทางการเมืองว่า หากต้องการเสถียรภาพ ก็ควรจะมี ส.ส. 300 เสียง ลำพังพรรคเพื่อไทยเองก็สามารถเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ เพราะได้เกินครึ่งมาถึงสิบกว่าคน

พรรคเพื่อไทยมีโอกาสจะคุมอำนาจไว้ได้นาน หากรู้จักกำหนดท่าทีทางการเมือง เวลานี้พรรคเพื่อไทยค่อนข้างเป็นปึกแผ่น เพราะไม่มีมุ้งเล็กมุ้งน้อยอยู่ในพรรค ข้อสำคัญก็คือ ประชาชนคอยจ้องดูว่า พรรคเพื่อไทยจะดำเนินการอย่างไรในเรื่องต่อไปนี้

1. ความสัมพันธ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเป็นอย่างไร พรรคจะเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเพื่อช่วยทักษิณหรือไม่ และจะให้ทักษิณเข้ามาบงการทิศทางการดำเนินนโยบายมากน้อยเพียงใด

2. ความสัมพันธ์กับ นปช.จะให้แกนนำ นปช.เข้ามามีบทบาทในระดับคณะรัฐมนตรีหรือไม่ หากยอมให้แกนนำเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ประชาชนส่วนหนึ่งก็จะมีความรู้สึกไม่ดี

3. ความสัมพันธ์กับข้าราชการประจำ จะมีการ “เช็กบิล” โดยโยกย้ายข้าราชการเหมือนดังที่มีการขู่ไว้หรือไม่ เช่น การขู่ว่าจะย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

4. ความสัมพันธ์กับกองทัพ จะหาบุคคลใดมาเชื่อมประสานกับกองทัพ และจะเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายทหารหรือไม่

5. การเลือกตัวคณะรัฐมนตรี ประชาชนไม่อยากเห็นนักการเมืองหน้าเก่าๆ แม้แต่ลูกหลานของคนเหล่านี้เข้ามาเป็นรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยมีคนมีความรู้ความสามารถไม่น้อย จะคัดเลือกคนอย่างไร

แต่ที่เป็นจุดสำคัญที่สุดก็คือ บทบาทของทักษิณต่อไปก็จะมีการซุบซิบกันว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้ทักษิณอยู่เบื้องหลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น