...+

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ตรวจเลือดดูสุขภาพคน ตรวจ “นโยบายพลังงาน” ดูสุขภาพประเทศ โดย ประสาท มีแต้ม

ทั้งๆ ที่เรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่มาก นอกจากจะกระทบต่อปัญหาปากท้องของเราทุกคนแล้วยังกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพของอากาศที่เราหายใจด้วย แต่ความสนใจของคนในสังคมเรายังน้อยมาก

ผมติดตามนโยบายพลังงานของแต่ละพรรคการเมืองใหญ่ๆ พบว่าไม่ได้เรื่อง ไม่ตรงประเด็น และแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ นอกจากจะทำให้พ่อค้าและพรรคการเมืองร่ำรวยขึ้นเท่านั้น ในส่วนภาคสังคมเองก็ให้ความสำคัญกับ “ดอกส้มสีทอง” มากกว่า “นโยบายพลังงาน” ถึง 20 เท่าตัว (ค้นจากอินเทอร์เน็ต)

ผมถามอาจารย์ใหม่รุ่นลูกศิษย์ที่เพิ่งกลับมาจากการศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาว่า “ราคาน้ำมันที่โน่นลิตรละเท่าใด” หลังจากกดเครื่องคิดเลขเพื่อปรับตัวเลขให้เข้ากับค่าเงินไทยและหน่วยเป็นลิตรแล้วได้ความว่า ราคาดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 33 บาท ถ้าเบนซินก็ประมาณ 31 บาท หรือประมาณว่า น้ำมันลิตรละหนึ่งดอลลาร์ แต่รายได้ของคนที่โน่นสูงกว่าของเราหลายเท่า เงินที่ใช้กินอาหารจานด่วนราคาถูกๆ ในอเมริกา(เทียบกับข้าวแกงจานเดียวในบ้านเรา) สามารถซื้อน้ำมันได้ 6-7 ลิตร ค่าแรงขั้นต่ำเพียง 1 ชั่วโมงเดียวมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำของบ้านเราทั้งวัน

แต่พูดก็พูดเถอะ ถึงพรรคการเมืองจะเขียนนโยบายดีอย่างไร ก็มักจะไม่ทำตามที่เขียน เพราะมีองค์กรที่อยู่เหนือรัฐบาลอีกทอดหนึ่ง นั่นคือพ่อค้าพลังงานอยู่เหนือรัฐบาล เรื่องแผนพัฒนาไฟฟ้า (พีดีพี 2010) ที่ใช้เงินถึง 4.4 ล้านล้านบาท ตลอดปี 2553-2573 ก็เขียนไว้เรียบร้อยแล้ว ว่าจะทำอะไร ปีไหน ด้วยเงินเท่าใด

การ์ตูนที่ผมนำมาเสนอถึงจะเป็นของอเมริกา แต่ก็ไม่ต่างจากบ้านเรา พ่อค้าพลังงานเป็นผู้เชิดหุ่นตัวแรก (รองประธานาธิบดี) แล้วหุ่นตัวแรกก็เชิดหุ่นตัวที่สอง (ประธานาธิบดี) ในมือของทั้งสาม (หนึ่งคนกับสองหุ่น) ต่างก็ถือ “นโยบายพลังงาน” เดียวกัน นับเป็นการ์ตูนที่สะท้อนความจริงได้ถึงแก่นและสะใจมาก

“ถ้าอย่างนั้นเราเลือกรัฐบาลไปทำอะไร?” ผมถามตัวเอง “จึงต้องโหวตโน” ผมตอบเอง

โดยปกติ แพทย์นิยมตรวจเลือดเพื่อดูสุขภาพของคน (หากจำเป็น) ทำนองเดียวกัน เราก็สามารถตรวจดูราคาน้ำมัน หรือถ้ากล่าวให้ครอบคลุมกว้างขึ้นไปอีกก็คือตรวจ “นโยบายพลังงาน” เพื่อดูสุขภาพหรือคุณภาพชีวิตของประเทศ จากข้อมูลที่ลูกศิษย์เล่าให้ฟังก็พอจะเห็นความแตกต่างระหว่างคนของสองประทศนี้ได้ระดับหนึ่ง

ข้อมูลในตารางนี้ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) และค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแต่ละชนิดของประเทศไทยในช่วง 20 ปี คือ 2533 ถึง 2553



ท่านที่ไม่ชอบตัวเลขอาจจะรู้สึกรำคาญ แต่ผมจะพยายามอธิบายไม่ให้ยุ่งครับ และเชื่อว่าถ้าท่านกรุณาให้ความสำคัญก็จะพบว่าเป็นตัวเลขที่สะท้อน “นโยบายพลังงาน” และสะท้อน “สุขภาพ” ของประเทศเรารวมทั้งตัวเราเองได้จริงๆ

นับจากปี 2533 จนถึง 2553 รายได้ของคนทั้งประเทศ (หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เขาเรียกว่า จีดีพี) เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัว คำว่า “ราคาตลาด” หมายความว่าได้รวมเอาเรื่องเงินเฟ้อเข้าไปแล้ว

ท่านที่มีรายได้เป็นเงินเดือนลองตรวจสอบดูก็ได้ครับว่า มันเป็นจริงตามนี้หรือเปล่า หรือว่าจำกันไม่ได้แล้ว สำหรับผมขอย้อนไปถึงปี 2516 (ย้อนไปเกือบ 40 ปี) คนจบปริญญาตรี ถ้ารับราชการจะได้เงินเดือน 1,340 บาท ซึ่งในขณะนั้นเงินจำนวนนี้สามารถซื้อทองคำได้ประมาณ 3 บาท หรือซื้อน้ำมันได้ประมาณ 700 ลิตร ในปัจจุบันเงินเดือนระดับปริญญาตรีเริ่มต้นที่ประมาณ 8 พันบาท แต่สามารถซื้อทองคำได้ไม่ถึงสองสลึง หรือซื้อน้ำมันได้ไม่ถึง 200 ลิตร

นี่คือตัวอย่างของรายได้ที่เป็นราคาตลาดที่นับปัจจัยเงินเฟ้อเข้าไปด้วย แม้รายได้ที่ได้รับจะเพิ่มเป็นเกือบ 6 ตัว แต่ “มูลค่า” ของรายได้ที่แท้จริงกลับลดลงอย่างมาก

กลับมาที “นโยบายพลังงาน” ซึ่งซ่อนอยู่ในตาราง ผมมีข้อสังเกต 4 ข้อ คือ

1. ในแถวที่ (3) ของตาราง พบว่าร้อยละของรายจ่ายค่าพลังงานขั้นสุดท้าย (หมายถึงไม่มีการนับซ้ำ เช่น คิดค่าไฟฟ้าแล้วจะต้องไม่คิดค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า) จากร้อยละ 10.9 ในปี 2533 เป็นร้อยละ 17.7 ในอีก 20 ต่อมา นั่นแปลว่า ค่าใช้จ่ายของเราในด้านอื่นๆ เช่น การพักผ่อนหย่อยใจ การศึกษาต้องลดลง เพราะในแต่ละเดือนก็แทบ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” อยู่แล้ว

2. สัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน ซึ่งได้แก่ ไม้ฟืน ถ่าน (เป็นแหล่งรายได้ของกิจการขนาดเล็ก และไม่ถูกผูกขาดเหมือนถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) ต่อพลังงานทั้งหมด (แถวที่ 8) กลับลดลงจากร้อยละ 17.3 เป็น 6.6% ข้อมูลนี้ได้สะท้อนถึง “รวยกระจุก จนกระจาย” เพราะพ่อค้าพลังงานผูกขาดรวยขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีงานทำ

3. ในปี 2553 ค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าสูงขึ้นเป็น 4.73 แสนล้านบาท แต่มีการจ้างงานในภาคไฟฟ้าทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 0.29 ของแรงงานทั้งประเทศ หรือประมาณ 1 แสนคนเท่านั้น
ประเทศเยอรมนีใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 65% ของที่ประเทศไทยผลิตได้ แต่มีการจ้างงานในส่วนนี้ถึง 2.8 แสนคน นอกจากนี้รายได้จากค่าเชื้อเพลิงก็กระจายไปสู่คนจำนวนมากภายในประเทศ ต่างจากถ่านหินที่ขนมาจากต่างประเทศโน่น

4. มีการใช้ก๊าซธรรมชาติ (แอลพีจี) เพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการนำเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานซึ่งเก็บจากผู้ใช้น้ำมันทั่วประเทศมาชดเชยให้กับผู้ใช้ก๊าซในภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือนและภาคการขนส่ง

ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วนะครับว่า ข้อมูลในตารางนี้เพียงไม่กี่ตัวได้สะท้อนปัญหาของประเทศไทยในหลายมิติ ทั้งด้านความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม การจ้างงาน รวมไปถึงด้านสิ่งแวดล้อม

สรุป พอกันที่กับนักการเมืองขี้ฉ้อและหุ่นเชิด จึงต้องโหวตโน เพื่อมาร่วมสร้างนโยบายพลังงานของเราเองครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น