...+

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อำนาจการเมืองกับอำนาจรัฐ โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เหลืออีกไม่กี่วันก็จะมีการเลือกตั้งแล้ว ประเทศไทยเราแปลกกว่าประเทศอื่นอยู่อย่างหนึ่ง คือ ประชาชนได้สิทธิการเลือกตั้งโดยไม่มีพรรคการเมือง กว่าจะมีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองก็ล่วงเข้าปี 2495 คือ 20 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้รัฐธรรมนูญจะให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มกัน แต่เราก็ยังต้องไปออกพระราชบัญญัติพรรคการเมืองอีก แสดงว่าเรานิยมการออกกฎหมายซึ่งก็สะท้อนลักษณะของรัฐไทยที่ควบคุมรักษาอำนาจเหนือสังคมนั่นเอง กฎหมายพรรคการเมืองเกิดขึ้นขณะที่กฎหมายสมาคมยังคงใช้อยู่ กฎหมายสมาคมนี้มีที่มาจากกฎหมายอั้งยี่ มีบทบัญญัติสำคัญก็คือ ห้ามสมาคมยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง สมาคมจึงเป็นเพียงที่สังสรรค์มีโต๊ะบิลเลียด มีอาหารและเครื่องดื่มขาย

การเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทย เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม คือเลือกผู้แทนตำบลก่อน แล้วผู้แทนตำบลมารวมกันเลือกผู้แทนจังหวัดอีกทอดหนึ่ง ผู้สมัครผู้แทนราษฎรในระยะแรกๆ ส่วนมากเป็นครู และทนายความ พวกพ่อค้าจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว เพราะนอกจากจะเป็นคนสัญชาติจีนแล้ว ก็ยังอยากทำแต่การค้า และหาที่พึ่งโดยมีความสัมพันธ์กับนักการเมือง และข้าราชการมากกว่าที่จะเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองเสียเอง

การเมืองในยุคแรกๆ ไม่ต้องใช้เงินมากเหมือนสมัยนี้ อาจเป็นเพราะในสมัยก่อน ผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีไม่ค่อยจะมีโอกาสหาเศษหาเลยกับการใช้เงินงบประมาณเหมือนสมัยนี้

นักการเมืองแบบครูฉ่ำ จำรัสเนตร ใช้วิธีหาเสียงที่แปลกไปกว่าคนอื่น เขานำเงินไปฝากไว้กับนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเวลานั้นกำลังมีอำนาจ พอใกล้วันเลือกตั้งเขาก็ส่งโทรเลขใจความว่า “โปรดส่งเงินมาให้ผมด่วน” คนก็นึกว่านายปรีดี สนับสนุนครูฉ่ำ

สำหรับคนอื่นๆ ที่แม้จะมีการแจกของ แต่ก็ไม่ถึงกับแจกเงิน ที่เลื่องลือกันมากก็คือ ที่ศรีสะเกษ ผู้สมัครแจกปลาทูเค็ม อีกจังหวัดหนึ่งมีการแจกรองเท้า แต่แจกเพียงข้างเดียว หลังการเลือกตั้งจึงจะให้อีกข้างหนึ่ง

การใช้เงินหรือการลงทุนเพื่อการเลือกตั้ง เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมานี้เอง ข้อน่าสังเกตก็คือ พ่อค้าที่ลงทุนตั้งพรรคการเมืองเล็กๆ ขึ้นนี้ มีความประสงค์เพียงแต่จะมีพรรคการเมืองเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของตน ไม่ต้องไปกลัวการรีดไถจากข้าราชการ เขาคิดเพียงว่าปีหนึ่งๆ เขาต้องเสียเงินให้ข้าราชการ 10 ล้าน สู้เอาเงินนี้มาตั้งพรรคเล็กๆ จะดีกว่า พ่อค้าผู้นี้มีสัมปทานทำไม้ และมีโรงเลื่อยในภาคอีสาน แต่ในสมัยนี้ คนตั้งพรรคการเมืองขึ้นไม่ใช่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ แต่เข้าไปหาผลประโยชน์จากการมีโครงการใหญ่ๆ และจากโครงการลงทุนต่างๆ ที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน

เมื่อเป็นเช่นนี้ การเลือกตั้งจึงมีบทบาทที่เปลี่ยนไปจากเดิม พรรคการเมืองเริ่มมีการจัดตั้งเป็นสองรูปแบบคือ เพื่อดำเนินการเลือกตั้งอย่างหนึ่ง กับเพื่อจัดการหาผลประโยชน์เข้าพรรคอย่างเป็นกอบเป็นกำ เพื่อเก็บเงินไว้เป็นทุนรอนสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป และให้เงินเดือนประจำแก่ ส.ส.อีกด้านหนึ่ง

พัฒนาการของการเมืองไปสู่การเป็นธุรกิจประเภทหนึ่งนี้ ทำให้เกิดนวัตกรรมทางการเมืองขึ้นอย่างหนึ่ง คือ การมีแนวทางสองแนวทางได้แก่ การให้ประโยชน์แก่ประชาชนกับการแสวงหาผลประโยชน์เข้าพรรค และเข้าตัวนักการเมืองซึ่งเป็นที่มาของการมีนโยบายประชานิยม

การดำเนินงานสองแนวทางนี้ เท่ากับเป็นการนำประชาชนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนผลประโยชน์ด้วย แนวทางนี้ได้รับความนิยมมาก และทุกพรรคต่างแข่งขันกันเสนอประโยชน์ให้ประชาชนในรูปต่างๆ จะว่าไปแล้ว ก็เป็นการทำให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากรัฐบาลมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต

การเลือกตั้งครั้งนี้ต่างจากครั้งอื่นๆ ตรงที่มีตัวแปรคือ พ.ต.ท.ทักษิณ มาแทรก แทนที่การเลือกตั้งจะเป็นการตัดสินอนาคต และชะตากรรมของประเทศ กลับกลายเป็นการตัดสินอนาคต และชะตากรรมของบุคคลเพียงคนเดียว คือ พ.ต.ท.ทักษิณ

ขณะที่เขียนบทความนี้ โพลของทุกสำนักต่างรายงานว่า พรรคเพื่อไทยกำลังนำอยู่ เป็นที่รู้กันว่าพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนนิยมสู้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ ในภาคอีสานและภาคเหนือ แต่มีภาษีกว่าในภาคใต้ และในกรุงเทพฯ การมีคะแนนเสียงหนาแน่นในภาคใต้ ทำให้คะแนนที่พรรคได้ทั่วประเทศแพ้พรรคเพื่อไทยเพียงเล็กน้อย แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.เขตจำนวนมากกว่าก็ตาม

กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่จะตัดสินว่าพรรคประชาธิปัตย์จะชนะหรือแพ้มากน้อยแค่ไหน คราวนี้เป็นการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีความได้เปรียบ นอกจากนั้น พรรคประชาธิปัตย์ยังส่ง ส.ส.หน้าใหม่เพิ่งลงสมัครครั้งแรกหลายคน และยกระดับผู้สมัครคนเก่าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อ

ในจำนวน ส.ส. 375 คน คาดว่าพรรคเพื่อไทยอาจได้ ส.ส.ถึง 230-245 คน พรรคประชาธิปัตย์น่าจะได้ ส.ส. 160-180 คน ขึ้นอยู่กับว่าที่กรุงเทพฯ จะได้กี่คน ที่เหลือก็เป็นของพรรคขนาดเล็ก ซึ่งคงได้ประมาณ 20-40 คน ดังนั้น พรรคขนาดเล็กอย่างภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนา-เพื่อแผ่นดิน ก็จะเป็นตัวตัดสิน แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะอย่างถล่มทลายคือได้ ส.ส.เข้ามา 250-260 คน ก็จะเป็นรัฐบาลได้ และคงหาพรรคร่วมไม่ยาก เพราะพรรคอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา ก็เป็นพรรคที่สามารถเข้ากับใครก็ได้ที่จะช่วยให้ร่วมเป็นรัฐบาลได้

หากพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน เราก็จะมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง แต่ครั้งนี้ฝ่ายพันธมิตรฯ กับพรรคประชาธิปัตย์เกิดมาขัดกัน ดังนั้นการเมืองภายนอกสภาจึงจะไม่เข้มข้นเท่ากับครั้งก่อนๆ

ผมคาดว่า หากพรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ต้องรอคอยเวลาให้เกิดปัญหา การนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วประชาชนมีความไม่พอใจ แต่ความเป็นไปได้ที่จะมีการปรองดองคงเป็นไปไม่ได้ ในเวลานี้คนไทยเราแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน คือ พวกนิยมทักษิณกับพวกไม่นิยมทักษิณ คนที่อยู่กลางๆ นั้นมีน้อย และไม่อาจรวมตัวกันเป็นพลังที่สามได้

ประชาธิปไตยของไทยย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขของสังคมไทย ที่ผู้นำทางการเมืองไม่ต้องการมีแต่อำนาจทางการเมือง แต่ต้องการมีอำนาจรัฐด้วย ความต้องการมีอำนาจรัฐนี้ ทำให้ผู้นำทางการเมืองเข้าไปสู่ความขัดแย้งกับสถาบันอำนาจรัฐ โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันกองทัพ ส่วนระบบราชการนั้น นักการเมืองสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่งแล้ว

เราต้องคอยดูว่าพรรคเพื่อไทยจะดำเนินเกมอย่างไร จะมุ่งเฉพาะอำนาจการเมืองหรือยังต้องการเข้าไปกุมอำนาจรัฐด้วย ความขัดแย้งอย่างรุนแรงจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อมีการเข้าไปแทรกแซงสถาบันอำนาจรัฐ

โดยสรุปแล้ว การมีการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ลักษณะเฉพาะของการเมืองไทยก็คือ อำนาจรัฐ กับ อำนาจทางการเมือง ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน หากแยกกันอยู่มานานแล้ว ประชาธิปไตยช่วยให้การเมืองมีความชอบธรรม และสามารถเข้าไปร่วมใช้อำนาจรัฐกับสถาบันหลักๆ ได้ ตราบใดที่นักการเมืองไม่เข้าไปควบคุมอำนาจรัฐ อำนาจการเมืองก็สามารถอยู่ร่วมกับอำนาจรัฐได้

เมื่อใดก็ตามที่มีการเคลื่อนไหวที่จะปรับโครงสร้างอำนาจรัฐ เช่น การกระจายอำนาจอย่างจริงจัง เมื่อนั้นจะเกิดการต่อต้านอย่างรุนแรง ทั้งนี้รวมไปถึงการปฏิรูปกองทัพด้วย

ถ้าเราต้องการเข้าใจการเมืองไทย เราต้องเข้าใจลักษณะพิเศษของสังคมไทยในข้อนี้เสียก่อน ประชาธิปไตยทำให้อำนาจการเมือง และโครงสร้างการเมืองเป็นประชาธิปไตยได้ แต่จะทำให้อำนาจรัฐเป็นประชาธิปไตยด้วยนั้น เป็นเรื่องยาก

เรามีสังคมที่เป็นประชาธิปไตย แต่มีรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น