...+

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อินโดนีเซียเป็นมากกว่าตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาท : บีโอไอ โดย พรรณี เช็งสุทธา

ในเวลานี้หลายท่านคงได้ยินถึงบทบาทของอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน และเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชามาหลายเดือนแล้ว นั่นก็ว่ากันไปตามหน้าที่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ความจริงอินโดนีเซียมีบทบาทที่สำคัญกับไทยมากกว่านั้น เพราะด้วยตลาดขนาดใหญ่ถึง 240 ล้านคน (ที่มีกำลังซื้อที่สูงมากประมาณร้อยละ 20 จะสังเกตได้ว่า ศูนย์การค้าที่มีสินค้า Brand name ดังๆ มีมากกว่าในประเทศไทย) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 6-7 ต่อปี และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นในอนาคต การหลั่งไหลเข้าไปลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุอื่นๆ มีพื้นที่เพาะปลูกมหาศาลซึ่งรอการพัฒนาและการลงทุนอีกมาก ประชากรในวัยแรงงานและราคาถูกที่หาได้ไม่ยากนัก เป็นบริบทที่นักธุรกิจไทยไม่ควรมองข้าม

ความต้องการการบริโภคของชาวอินโดนีเซียมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมการคุมกำเนิดเป็นเรื่องที่ผิดหลักการทางศาสนา ดังนั้น สินค้าอุปโภคบริโภคจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นโอกาสสำหรับการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะหลังเทศกาลตรุษของชาวมุสลิม ชาวอินโดนีเซียจะซื้อสินค้าทุกอย่างที่ขวางหน้าเพื่อแจกเป็นของขวัญแก่ญาติพี่น้องและครอบครัว นับเป็นช่วงเวลาที่การค้าสะพัดมากในอินโดนีเซีย

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเข้าร่วมการสัมมนาของสภาธุรกิจไทย-อินโดนีเซีย เรื่อง “โอกาสการค้าและการลงทุนในอินโดนีเซีย” ซึ่งจัดร่วมกับสำนักงานผู้แทนการค้าไทย และสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียในไทย ทำให้ได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า อินโดนีเซียมีโอกาสมากกว่าที่เรารู้จัก แต่การค้าและการลงทุนของไทยกับอินโดนีเซียกลับลดลง

ปัญหาส่วนหนึ่งคือความไม่รู้และความกลัว มีผู้ตั้งคำถามว่า ในฐานะ SMEs จะสามารถหาข้อมูลเชิงลึกได้อย่างไร ต้องบอกว่า ข้อมูลเชิงลึกเป็นสิ่งที่ท่านอาจจะต้องจ้างศึกษา เพราะไม่มีหน่วยงานใดของรัฐหรือเอกชนที่จะสามารถหาข้อมูลสนองความต้องการของทุกอุตสาหกรรมได้อย่างครบถ้วน แต่หลายหน่วยงาน เช่น สภาธุรกิจไทย-อินโดนีเซีย สมาคมนักธุรกิจไทยในอินโดนีเซีย หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีแผนที่จะทำการศึกษาเจาะลึกรายอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพการลงทุนในอินโดนีเซียในระดับหนึ่ง เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ก่อสร้าง ท่องเที่ยว เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น ที่ท่านสามารถขอรับข้อมูลได้ในโอกาสอันใกล้

ผู้แทนการค้าไทย ดร.สุทัศน์ เศรษฐบุญสร้าง กล่าวในการสัมมนาครั้งนี้ว่า โอกาสของไทย รวมถึงการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เฟอร์นิเจอร์ ของเด็กเล่น ของขวัญและของตกแต่ง ภาคการผลิต เป็นต้น ดร.สุทัศน์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากจะมุ่งมองเพียงตลาดสองฝ่ายคือ ไทยและอินโดนีเซีย นักธุรกิจไทยควรร่วมมือกับอินโดนีเซียเพื่อบุกตลาดในประเทศที่ 3 ด้วย (โดยเฉพาะตลาดในประเทศมุสลิม ซึ่งแน่นอนอาหารฮาลาลหรือผลิตภัณฑ์ฮาลาลมีโอกาสสูงที่ไทยจะร่วมมือกับอินโดนีเซียบุกตลาดได้)

คุณมรกต สินหแพทย์ ประธานบริษัท Sigma & Hearts หนึ่งในนักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จในอินโดนีเซียกล่าวถึงปัญหาเรื่องความกลัว ความไม่มั่นใจต่อการลงทุนในต่างประเทศว่า หลังจากที่ได้ประสบด้วยตนเองจากความจำเป็นที่ต้องออกไปลงทุนในต่างประเทศ กลับพบว่า คนงานอินโดนีเซียเป็นคนน่ารัก สื่อสารได้ดีในระดับหนึ่ง ให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ มีระเบียบ การใช้ชีวิตที่อินโดนีเซียก็ไม่ได้ลำบาก มีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง

ที่สำคัญคือ ในการทำธุรกิจโอกาสผ่านมาและผ่านไปเร็วมาก ไม่ได้หยุดรอ ขณะนี้โอกาสในอินโดนีเซียเปิดมากจริงๆ รัฐบาลอินโดนีเซียพร้อมรับการลงทุนจากต่างชาติ ไทยจึงน่าจะเข้าไปทำธุรกิจ เริ่มต้นแบบเล็กๆ ก็ได้ เริ่มเช่าโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมซึ่งมีให้เลือกหลายแห่ง ที่สำคัญคือ ให้เริ่มแต่วันนี้ และต้องพยายามเข้าใจกันและกัน เราปกครองพนักงานไทยอย่างไรก็ปกครองอินโดนีเซียแบบนั้น

ประธานสภาธุรกิจไทย-อินโดนีเซีย นายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าวว่า จากผลสำเร็จของการดำเนินงานของสภาธุรกิจฯ ที่ผ่านมา และข้อซักถามของนักธุรกิจไทยที่สนใจการทำธุรกิจในอินโดนีเซีย สภาธุรกิจฯ จึงมีแผนจะเชิญเจ้าหน้าที่ของอินโดนีเซียมาให้คำแนะนำในไทยในลักษณะ Investment Clinic โดยจะร่วมกับบีโอไอ จัดเวทีดังกล่าวในช่วงงานบีโอไอแฟร์ ระหว่างวันที่ 10-25 พฤศจิกายน 2554 ที่อิมแพค เมืองทองธานี ผู้สนใจติดตามได้ที่โทร. 0-2537-7317 และ 0-2537-7361

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2553-8111 หรือที่ head@boi.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น