...+

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ญี่ปุ่น...รู้หน้าไม่รู้"ใจ"

จันทร์สินี แก่นแก้ว อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์ ซึ่งเดินทางไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นเขียนบันทึกเล่าประสบการณ์จากการได้สัมผัส ชาวญี่ปุ่นในห้วงแห่งวิกฤตที่พวกเขากำลังเผชิญ

โดย...จันทร์สินี แก่นแก้ว

ตอนแรกเคยคิดอยากจะเขียนบันทึกเกี่ยวกับการลี้ภัย(ธรรมชาติ)ครั้งแรกในชีวิต

แต่ด้วยอะไรหลายๆ อย่างที่เจอมาวันนี้ ทำให้รู้สึกว่า อยากเขียนเกี่ยวกับ "ญี่ปุ่น" "คนญี่ปุ่น" ที่เรารู้สึกด้วยสายตาของคนนอกอย่างเรา

แน่นอนว่าหลังจากที่ภาพความเสียหายจากภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ แผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ แพร่ภาพออกไปสู่สายตาชาวโลก
ความวิตกกังวล ความห่วงใย ข่าวลือ คาดการณ์ต่างๆ ทั้งจะเกิดแผ่นดินไหวรอบใหม่ขนาดความรุนแรง 7 ริกเตอร์ หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะระเบิด สารกัมตภาพรังสีจะกระจาย..ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้คนที่อยู่อาศัยหรือคนที่มีญาติพี่น้องอยู่อาศัยที่เกาะเล็กๆ เกาะนี้ ต่างตื่นตระหนก....


ตลอดเวลาสามสี่วันนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหววันที่ 11 มีนาคม 2554 เวลา 14.46 น.ตามเวลาท้องถิ่น เราได้รับโทรศัพท์ แมสเซจจากพ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูงอย่างล้นหลาม และรุนแรงหนักเมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่สามระเบิด พร้อมกับคำขาดของพระมารดาที่เรียกกลับฐานทัพด่วนนนน..ทั้งๆที่ในใจเราเองยัง ไม่ได้รู้สึกว่าต้องกลับก็เถอะ

และตอนเรากำลังนั่งรถไฟไปซื้อตั๋วกลับบ้าน ภาพที่เราเห็นกับสิ่งที่เรากำลังเป็นอยู่มันช่างทำให้เราเห็นความแตกต่าง และนับถือหัวใจของคนญี่ปุ่น

ในขณะที่พวกเรา คนต่างชาติ ต่างตื่นตระหนกและหาทางหนีออกจากประเทศแห่งนี้

คนญี่ปุ่น คนที่เป็นเหยื่อกับภัยธรรมชาติครั้งนี้ กลับพยายามที่จะใช้ชีวิตของพวกเขาให้ปกติที่สุดเท่าที่จะทำได้

ใบหน้ายังคงนิ่งเฉย เหมือนกับไม่สะทกสะท้านภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด หรือแรงแผ่นดินไหวที่สั่นอยู่เกือบสิบรอบต่อวัน

ซารารีมังยังคงแต่งสูทผูกไท รอรถไฟไปทำงานเหมือนเดิม แถวรอรถบัส หรือซื้อของต่างๆ ยังคงต้องเข้าคิวยาวอย่างเป็นระเบียบ แม้ว่าทุกคนจะรีบแค่ไหนก็ตาม...ร้านค้าแม้จะดูเงียบเหงาและมืดครึ้มไปบ้าง เพราะต้องช่วยกันประหยัดไฟ ตามคำสั่งของรัฐ แต่ก็ยังคงเห็นภาพคนญี่ปุ่นที่ยังคงนั่งดื่มเหล้า กินราเมง ไม่ต่างจากเดิมมากนัก

คนญี่ปุ่นเราว่าเป็นพวกรู้หน้าไม่รู้ใจ...แม้ภายนอกจะพยายามทำให้ทุกอย่างเป็นปกติที่สุด แต่จิตใจของพวกเขาในตอนนี้คงตื่นตระหนกและบอบช้ำไม่ต่างจากพวกเรา หรือซ้ำร้ายอาจจะหนักกว่าพวกเราด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาคือคนที่สูญเสีย....


หลายคนมีญาติพี่น้องที่อยู่ในเขตที่ได้รับผลจากแผ่นดินไหว แต่ด้วยหน้าที่การงานและความรับผิดชอบครอบหัวทำให้ชีวิตประจำวันที่เคยเป็น ยังไง ก็ยังคงต้องทำให้เป็นอย่างงั้นต่อไป...พนักงานบริการยังคงหน้าตายิ้มแย้ม แม้จะซ่อนความกังวลไว้ข้างในลึกๆ

...และยิ่งถ้าต้องเจอปัญหา คนญี่ปุ่นจะนิ่งและแบกความรับผิดชอบไว้จนถึงวินาทีสุดท้ายก่อนจะปริปากขอความช่วยเหลือ ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้เกิด ความแตกต่างระหว่างคนญี่ปุ่นและชาติอื่น โดยเฉพาะตะวันตกซึ่งมีแนวคิดเรื่องทุกอย่างต้องโปร่งใส่ ต้องรีบพูด รีบบอกออกมาให้รู้ เห็นได้จากบ่อยครั้งที่คนข้างนอกจะได้ข่าวจากสำนักข่าวต่างชาติก่อนที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งมันทำให้เกิดข้อกังขาและสับสนได้ว่า ใครปิดข่าว หรือใครข่าวมั่ว..

คนญี่ปุ่นที่เรานับถือเคยบอกเราว่า คนญี่ปุ่นไม่เคยกลัวหรือย่อท้อกับความหายนะ เพราะเค้ามั่นใจว่าเค้าจะสร้างใหม่ได้

ไม่แปลกที่ทำไม คนญี่ปุ่นถึงนิยมพูดให้กำลังใจกันว่า กัมบาเระ (พยายามเข้านะ หรือ สู้ๆ) เป็นคำฮิตติดปากมาจนถึงปัจจุบัน..

หลายคนอาจจะบอกว่า เพราะคนญี่ปุ่นเคยชินกับแผ่นดินไหว หรือเคยมีประสบการณ์การสูญเสียมาแล้วในอดีตทั้งสงครามโลก ทั้งแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คนญี่ปุ่นซะอย่าง ต้องผ่านไปได้และกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิมได้..

แต่ในความเป็นจริง การที่จะก้าวผ่านช่วงเวลาที่ต้องนับศูนย์ใหม่นั้นมันยากลำบากเกินกว่าใครหลายคนจะเข้าใจ และถ้าจิตใจไม่แข็งแกร่งพอ คงไม่สามารถทำได้ และ จากสิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกนับถือ "ใจ"ของเหล่าลูกหลานพระอาทิตย์ผู้ที่ผ่านบทเรียนการทดสอบจิตใจอันแข็งแกร่งมานับครั้งไม่ถ้วน..

นิฮอน กัมบาเระ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น