...+

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ปรองดอง...แบบไหน!? โดย สำราญ รอดเพชร

อุตส่าห์ตั้งหน้าตั้งรอ “พิมพ์เขียว” แผนปรองดองของ “เสธ.หนั่น” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ นักเลงโบราณเจ้าตำรับ “คำไหนคำนั้น” รอมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2553 วันนี้เดือน มิ.ย. 2554 เพิ่งจะได้เห็น...

มันคือป้ายหาเสียงริมถนน มีรูป พล.ต.สนั่น โลโก้พรรคชาติไทยพัฒนา จารึกข้อความว่า “ปรองดอง คืนความสุขของคนไทยทั้งชาติ”

พร้อมๆ กับกระแสข่าวหนาหูว่า หลังการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554 ท่านอาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีทางเลือกของประเทศไทย ขณะที่ตัวท่านก็พูดทีเล่นทีจริงว่า "พร้อมเป็นนายกฯ ปรองดอง แต่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี” ขณะที่ปลาไหลเรียกพ่ออย่างบรรหาร ศิลปอาชา เจ้าของพรรคชาติไทยพัฒนา ประกาศกลางเมืองว่า...ใครอยากได้ เสธ.หนั่นเป็นนายกฯ ยินดีมอบให้...

คำว่า “ปรองดอง” กลายเป็นคำฮิตติดอันดับในเทศกาลเลือกตั้งทั่วไป 2554 นี้ แต่ยังไม่แน่ว่าคำว่า “ปรองดอง” นี้จะเป็นจุดขายหรือจุดบอดของการหาเสียง มันคงขึ้นอยู่กับว่าใคร พรรคไหน เป็นคนพูดและพูดหรืออธิบายความว่าอย่างไร..?

เจ้าตำรับ “ปรองดอง” อย่างเสธ.หนั่น จนป่านนี้ก็ยังไม่สามารถพูดยาวๆ ได้ว่าปรองดองของท่านหน้าตามันเป็นอย่างไร มีแต่หัวหน้าพรรคอย่างนายชุมพล ศิลปอาชา ปลาไหลผู้น้องเท่านั้นที่พยายามพูดเป็นรูปธรรมอยู่บ้างแต่ก็ยังไม่ชัดเจนนัก นอกจากการเรียกร้องว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพื่อปลดปล่อยหรือคืนความเป็นธรรมให้นักการเมืองที่ถูกเว้นวรรค 5 ปีจากกรณียุบพรรค

เช่นเดียวกับ พรรคเพื่อไทย ที่นับวันก็จะพูดคำว่า “ปรองดอง” ได้ยากมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะแค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่แล้วว่า...คำตอบสุดท้ายของการปรองดองก็คือ การนิรโทษกรรมหรือล้างมลทินให้คนชื่อ “ทักษิณ”

ส่วน พรรคภูมิใจไทย ที่เคยเป็นผู้นำในเรื่องนี้เมื่อหลายเดือนก่อนหรือร่วมปีมาแล้ว ถึงขนาดขึ้นป้ายกลางกรุงว่าต้องนิรโทษกรรมคืนความสุขให้คนไทย อีกทั้งในเวลาต่อมาคุณเนวิน ชิดชอบ ผู้มีบารมีแห่งภูมิใจไทยก็ออกสมุดปกขาวเรื่อง “ทำไมต้องนิรโทษกรรม” วันนี้กลับไม่พูดไม่จาเรื่องนี้ หันไปชูธงซีรีส์ “พูดแล้วทำ” ในการหาเสียงแทน...

หันไปมองทาง พรรคประชาธิปัตย์ ที่เชื่อมั่นว่าการยุบสภาเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้จะนำบ้านเมืองออกจากวิกฤตได้ระดับหนึ่งก็ดูเหมือนจะไม่แตะคำว่าปรองดอง นอกจากจะรอจังหวะสวนหรือย้อนเกล็ดพรรคเพื่อไทยว่าต้องการนิรโทษกรรมให้ทักษิณ

พรรคประชาธิปัตย์ปล่อยให้ “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)” ที่มี ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธานทำงานไปโดยลำพัง ถึงขนาดคนที่เป็นประธานออกมาโอดครวญว่า ต้องทำงานโดยที่แทบจะไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานใด....

ฯลฯ

เมื่อส่องกล้องมองข้อเท็จจริงเมื่อพูดถึงคำว่าปรองดองและตามมาด้วยคำว่า “ให้อภัย” และ “นิรโทษกรรม” กันแล้ว ในหมู่นักการเมืองและคนทั่วๆ ไปก็จะมีความรู้สึกว่า มีผู้ที่การปรองดองน่าจะยื่นมือไปโอบอุ้มดูแล 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1) ตัวทักษิณ ชินวัตร นักโทษชายที่หลบหนีคดี

2) กลุ่มคนเสื้อแดงทั้งที่เป็นแดงเผาบ้านเผาเมือง และแดงที่เข้าร่วมชุมนุมด้วยความบริสุทธิ์ใจ

3) กลุ่มคนเสื้อเหลืองหรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เคลื่อนไหว 193 วันในปี 2551

4) ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่สลายการชุมนุมหรือปราบปรามประชาชน

5) กลุ่มนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 รวม 220 คนที่ถูกเว้นวรรคทางการเมือง

ดูเหมือนว่าเวลาพูดถึงการปรองดองก็มักจะเอ่ยอ้างว่า..เพื่อการปลดปล่อยทั้งพวกเหลืองพวกแดง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเสียงเรียกร้องให้ปรองดองสมานฉันท์หรือนิรโทษกรรมที่ดังมากที่สุดมาจากกลุ่มที่ 1 และกลุ่ม 5

ผมไม่เคยได้ยินเสียงเรียกร้องจากกลุ่มที่ 3 หรือคนเสื้อเหลืองแม้แต่น้อยนิด ตรงข้ามคนกลุ่มนี้กลับเรียกร้องให้ยึดหลักนิติรัฐนิติธรรม กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย...ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในส่วนของแกนนำคนละนับสิบคดี และหลายสิบคนถูกข้อหา “ก่อการร้าย” ด้วย

ผมย้อนไปดูข้อเสนอ 8 ข้อของ คอป. โดยเฉพาะข้อ 3 ที่ระบุว่า

“คอป.เห็นว่าการเสนอให้มีการนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ความรุนแรงทั้งๆ ที่เกิดความเสียหายอย่างมากต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐ การดำเนินการกับผู้ชุมนุมโดยใช้กระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างเคร่งครัด โดยไม่คำนึงถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่ปัญหาการชุมนุม ล้วนมิใช่แนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คอป.เห็นว่าแนวทางที่ดีที่สุดคือ การที่สังคมรับทราบความจริงถึงสภาพปัญหาที่ทำให้ประเทศไทยก้าวมาถึงจุดนี้และเรียนรู้ที่จะแสวงหาทางออกในปัญหาร่วมกัน”

แม้จะเป็นนามธรรมแต่ก็ชวนคิด

ผมไม่ปฏิเสธว่าสังคมไทยที่ติดอยู่ในหล่มแห่งความขัดแย้งแตกแยกเช่นทุกวันนี้ไม่เป็นผลดีโดยภาพรวมของประเทศ แต่ใช่หรือไม่การปรองดองที่ผิดพลาดหรือเลือกปฏิบัติก็จะยิ่งลากพาสังคมไทยไปสู่ความขัดแย้งที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น สู้ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่ต่อไปแบบตรงไปตรงมา ภายใต้หลักนิติรัฐนิติธรรมจะดีเสียกว่า...

ปล่อยให้ทักษิณระเหเร่ร่อนต่อไปหากยังไม่กล้ามาติดคุก ปล่อยให้เสื้อแดง เสื้อเหลืองเดินหน้าต่อสู้คดีก่อการร้ายคดีต่างๆ ต่อไป นักการเมืองที่ถูกเว้นวรรคก็ต้องรอจนกว่าจะครบวาระ...ฯลฯ..นี่น่าจะเป็นการปรองดองโดยแท้จริง...!?

แม้ผมจะเป็นตัวละครตัวหนึ่งที่จะต้องต่อสู้คดี แต่ก็ยินดี ดีกว่าจะมาปรองดองปูดองกันแบบไม่มีทิศทาง

และไม่มีพิมพ์เขียวที่แท้จริง!!??

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น