...+

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ปัญหาแผงลอยบนทางเท้าสยามสแควร์ โดย พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ

ช่วงบ่ายของวันที่ 31 พฤษภาคม 2554 ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ได้มีการจัดงานแถลงข่าวการรื้อถอนแผงต้นไม้บนทางเท้ารอบสยามสแควร์ ที่อาคารดิจิตอลเกทเวย์ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางสยามสแควร์ ในงานแถลงข่าวนี้มีผู้บริหารของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เป็นฝ่ายแถลงข่าว โดยมีโฆษกกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ตัวแทนจากตำรวจนครบาลร่วมแถลง ตลอดจนมีผู้ค้าผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่เช่าพื้นที่อยู่ภายในสยามสแควร์เข้าร่วมฟังพอสมควร ในระหว่างการแถลงข่าวนี้ก็มีการเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมฟังได้ซักถามอีกด้วย

ประเด็นเกี่ยวกับแผงลอยบนทางเท้ารอบสยามสแควร์นั้น ดูผิวเผินอาจจะเหมือนเป็นเรื่องเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปัญหาอื่นๆ ของประเทศ ซึ่งดูเหมือนจะรุมเร้ารุนแรงในหลายๆ เรื่อง แต่บังเอิญพื้นที่สยามสแควร์เป็นย่านการค้าใจกลางเมืองกรุงเทพฯ เป็นหน้าเป็นตาของเมืองหลวงแห่งประเทศไทย เป็นสถานที่ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยก็มักจะแวะเวียนมาอยู่เสมอนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง การที่สยามสแควร์แห่งนี้มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่นี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และสยามสแควร์เป็นสถานที่ตั้งอยู่ในเขตปทุมวันซึ่งมีหน่วยงานเทศกิจเขตปทุมวัน ในกำกับของกรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายที่มีหน้าที่ในการดูแลพื้นที่สาธารณะส่วนนี้โดยตรงอีกเรื่องหนึ่ง

ดังนั้นปัญหาเกี่ยวกับการยึดครองพื้นที่บาทวิถีตรงสยามสแควร์ของบรรดาผู้ค้าแผงลอยจึงไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของความยากลำบากของผู้สัญจรทางเท้าหรือภาพอันรกหูรกตาสำหรับผู้ที่ผ่านไปผ่านมาบนท้องถนนเท่านั้น แต่เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องของการครอบครองสาธารณะสถานเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เป็นการละเมิดสิทธิ การละเมิดกฎหมาย ตลอดจนเป็นภาพสะท้อนความฉ้อฉลฟอนเฟะของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดย่อมไม่ควรจะละเลย หรือปัดความรับผิดชอบกันอย่างง่าย ๆ

ปัญหาแผงลอยซึ่งเข้ามายึดครองพื้นที่ทางเท้าสยามสแควร์นั้นเป็นปัญหาซึ่งก่อตัวมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ดูเหมือนจะเริ่มมีความรุนแรงเข้าขั้นวิกฤตเมื่อประมาณช่วงเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากการที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ จำเป็นต้องเข้ามาดำเนินการผลักดันแผงลอยและผู้ค้าริมทางเหล่านี้อย่างจริงจังเมื่อประมาณสามถึงสี่เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เหตุการณ์การกระทบกระทั่งกันระหว่างกลุ่มผู้ค้าแผงลอยกับชุดรักษาความปลอดภัยของจุฬาฯ ที่สื่อฯ เคยเรียกขานว่า “กลุ่มชายฉกรรจ์” มาจนถึงยุทธศาสตร์ใหม่ล่าสุดของจุฬาฯ โดยการวางแผงหรือกระบะต้นไม้ขนาดใหญ่บนทางเท้าโดยรอบสยามสแควร์ จนกระทั่งถึงปฏิบัติการตอบโต้กลับของกลุ่มผู้ค้าแผงลอย โดยการรื้อทำลายต้นไม้และยึดแผงเหล็กเพื่อใช้วางแผงขายสินค้าเสียเอง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือประชาชนคนเดินเท้า ที่จำต้องเดินเบียดเสียดบนทางเท้าอันคับแคบหรือบางจุดก็จะไม่มีพื้นที่เหลือให้สามารถเดินสัญจรได้เลยเพราะมีคนหยุดยืนเพื่อซื้อขายของตามแผงลอยเหล่านั้น

จะเห็นได้ว่าบนทางเท้าตลอดแนวถนนพระราม 1 ตรงข้ามห้างฯ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอร์รี่ ไปจนถึงริมถนนพญาไทตรงข้ามห้างฯ มาบุญครองนั้น แต่เดิมก็ไม่ได้มีสภาพเป็นตลาดนัดขายเสื้อผ้าเครื่องประดับเหมือนอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้ บาทวิถีสามารถใช้เป็นทางเดินเท้าได้อย่างปกติ จะมีเพียงหาบเร่ขายอาหาร ขนม หรือรถขายผลไม้อยู่บ้างเพียงบางจุด ซึ่งก็ไม่ได้ตั้งอยู่อย่างที่จับจองกันเป็นถาวร และไม่ได้กีดกั้นทางเดินสัญจรแต่อย่างใด แม้แต่ในยุคฟองสบู่ที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูและเป็นยุคทองของสยามสแควร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้ากลางเมืองกรุงเทพฯ ถือเป็นช่วงเวลาที่มีผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่ในบริเวณสยามสแควร์มากที่สุดนับเป็นแสนๆ คนต่อวันก็ตาม

แล้วทำไมแผงลอยหรือตลาดนัดเสื้อผ้าที่เห็นอยู่นี้จึงเพิ่งจะบุกเข้ามายึดทางเท้าโดยรอบสยามสแควร์ในช่วงไม่กี่ปีนี้?

สาเหตุประการแรกก็คือ เป็นผลมาจากการบริหารจัดการของจุฬาฯ เอง เริ่มตั้งแต่การที่สำนักงานฯ ได้ทำการแปลงสภาพพื้นที่สัญจรภายในสยามสแควร์เพื่อการค้าประเภทแผงขายสินค้า อย่างเช่นทางเดินตามช่องว่างระหว่างตึกแถวซึ่งปัจจุบันกลายเป็นตลาดค้าที่เรียกว่าสยามบายพาสและลิตเติ้ลสยาม โดยมุ่งแสวงหารายได้จากค่าเช่าเพิ่มเติมจากที่เคยได้จากบรรดาผู้เช่าตึกแถวและอาคารประเภทอื่นอย่างโรงภาพยนตร์ในสยามสแควร์

ประเด็นนี้นอกจากเป็นการผลักบรรดาผู้ค้าประเภทหาบเร่ที่เคยแอบแฝงอยู่ภายในสยามสแควร์ให้ออกไปนอกบริเวณแล้ว ยังเป็นเชื้อปะทุให้เกิดเป็นตลาดนัดเสื้อผ้าเครื่องประดับราคาถูกลุกลามไปยังทางเท้าโดยรอบสยามสแควร์อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้ เพราะเมื่อสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจะสามารถเข้ามาจัดพื้นที่ ซึ่งทั้งตามกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้วสมควรจะเป็นทางเดินเท้าอย่างเดียว แต่กลับทำเป็นพื้นที่ค้าขายได้แล้ว ทำไมชาวบ้านจะไม่สามารถกระทำการคล้ายๆ กันได้บ้าง ลองไปดูที่ซุ้มขายของหรือคีออสซึ่งตั้งเรียงรายบนทางเดินภายในสยามสแควร์ โดยทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ จัดสร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้ค้ารายย่อยที่ประสบภัยจากเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงภาพยนตร์สยาม แน่นอนว่าให้ผู้ประสบภัยได้ใช้ฟรีในช่วงเวลาหนึ่งแต่ปัจจุบันมีการเก็บค่าเช่า และต่อมาไม่นานก็ได้แผ่ขยายการใช้พื้นที่ค้าขายออกมาต่อเนื่องกับแผงลอยบนทางเท้าริมถนนอย่างเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว

ประการที่สอง มาจากฐานค่าเช่าพื้นที่ในสยามสแควร์ซึ่งปรับสูงมากขึ้นเทียบเท่าหรืออาจจะสูงกว่าศูนย์การค้าระดับไฮเอนด์ที่อยู่ใกล้กัน เปิดช่องให้สามารถมีการแสวงหาผลประโยชน์จากค่าเช่าพื้นที่สาธารณะ แผงลอยตลาดนัดจึงแห่กันเข้ามาครอบครองพื้นที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าผลประโยชน์จากค่าเช่าแผงบนทางเท้านี้ จะไม่ได้เป็นการเก็บอย่างเป็นทางการ ไม่มีใบเสร็จ เป็นค่าเช่าใต้ดิน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องย่อมเยากว่าอัตราค่าเช่าพื้นที่ตึกแถวในสยามสแควร์ และย่อมจะต้องมีการจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายหนึ่งหรือหลายฝ่าย รวมถึงการเข้ามาครอบงำของผู้มีอิทธิพลด้วย

การที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ต้องดำเนินการผลักดันกลุ่มผู้ค้าแผงลอยเหล่านี้ออกไป เพราะนอกเหนือจากความเดือดร้อนของผู้สัญจรบนทางเท้าแล้ว ความหนาแน่นประดุจสลัมของแผงลอยที่ยึดครองพื้นที่บาทวิถีไปมากกว่าครึ่ง บางส่วนยังรุกล้ำลงไปบนถนน ปัญหาขยะ กลิ่นเหม็นคละคลุ้งของสิ่งปฏิกูล ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของผู้ประกอบการค้าภายในสยามสแควร์ถดถอยลงอย่างน่าตกใจ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อแผนการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ในย่านการค้าแห่งนี้ไม่มากก็น้อย

แต่ภาระการผลักดันกลุ่มผู้ค้าแผงลอยบนทางเท้ากลายเป็นยาดำที่ไม่มีหน่วยงานไหนอยากจะเข้ามาดำเนินการ เพราะภาพที่สังคมส่วนใหญ่รับรู้คือ ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยคือคนทำมาหากินเป็นคนยากคนจนคนต่อสู้เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับจริยธรรม การที่ภาครัฐจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดคล้ายๆ กับปฏิบัติการชายฉกรรจ์ ก็ย่อมจะมีกระแสต่อต้านจากภาคสังคม ในขณะที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ในฐานะเจ้าของพื้นที่จำเป็นที่จะต้องแสดงบทบาทนำ ในขณะที่หน่วยงานอื่นซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงอย่าง สำนักงานเทศกิจและตำรวจท้องที่กลับทำเพิกเฉย

ความจริงทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ก็ได้พยายามจะประนีประนอมกับผู้ค้าแผงเหล่านี้แล้ว โดยเสนอจัดให้มีพื้นที่ค้าขายเป็นตลาดนัดในบริเวณด้านหลังอาคารจอดรถแห่งใหม่ เรียกว่าสยามสแควร์ไนท์มาร์เก็ต แต่มีผู้ค้าแผงที่ให้ความร่วมมือน้อยมาก ส่วนใหญ่ยังคงยืนกรานจะปักหลักอยู่บนทางเท้าต่อไปโดยไม่สนใจอะไร

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผู้ค้าแผงเหล่านี้ไม่ใช่คนยากจนคนด้อยโอกาสเสียทั้งหมด ปัจจุบันน่าจะเหลือผู้ค้าที่มีฐานะยากคนจนเป็นแบบหาบเร่แผงลอยเหลืออยู่น้อยเต็มที เพราะพื้นที่บาทวิถีตรงนี้มีค่าเช่า (นอกระบบ) ซึ่งมีอัตราสูงเกินกว่าคนยากคนจนจะแบกรับไหว มีแผงลอยเป็นจำนวนมากแต่มีเจ้าของตัวจริงเพียงไม่กี่ราย เจ้าของแผงก็มีการว่าจ้างเด็กมาขายของ กระจายอยู่หลายแผง บางแผงจ้างเด็กหนุ่มนั่งขายซีดีและดีวีดีเถื่อนอยู่ประจำ พอจะมีชุดเฉพาะกิจมาตรวจจับลิขสิทธิ์ ก็สามารถปรับเปลี่ยนสินค้า หันมาขายเครื่องประดับ แหวน ตุ้มหู กำไลได้ชั่วคราว ก่อนที่จะกลับมาขายซีดี ดีวีดีเถื่อนได้เหมือนเดิมภายในเวลาไม่กี่วัน

สมัยก่อนยุคบุกเบิกการยึดบาทวิถี คนขายของก็จะต้องออกมาแย่งกันจับจองพื้นที่ทางเท้ากันตั้งแต่ช่วงเย็น แต่ปัจจุบันจะมีการจัดสรรพื้นที่ขายของกันอย่างเป็นระบบ สามารถตั้งแผงขายของเป็นที่ทางประจำกันตั้งแต่บ่ายของทุกวัน แผงพวกนี้ส่วนใหญ่จะขายสินค้าพวกเสื้อผ้า เครื่องหนัง เครื่องประดับ เครื่องสำอาง ส่วนหนึ่งก็เป็นสินค้าหนีภาษีและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย ผู้ประกอบการเหล่านี้จึงมิใช่เป็นผู้ค้าที่ด้อยโอกาสอย่างที่พยายามสร้างภาพให้เห็นกัน แต่เป็นผู้มีศักยภาพ มีทุน ดังจะเห็นผู้ค้าแผงหลายรายขับรถยุโรปหรูหรือรถตู้ญี่ปุ่นนำเข้ามาลงของขายเป็นประจำทุกๆ วัน ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถเรียกผู้ค้าเหล่านี้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลได้เต็มปากนัก แต่ก็อยู่ภายใต้การกำกับของผู้มีอิทธิพล ซึ่งว่ากันว่าเป็นคนที่เคยอยู่ในเครื่องแบบ และแน่นอนว่าย่อมจะมีสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐในหลายระดับในการดำเนินธุรกิจประเภทนี้ ดังนั้นการดำเนินการในลักษณะต่างๆ ที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้ผล แต่กลับกลายเป็นกระแสทางสังคมสะท้อนกลับมาที่มหาวิทยาลัยเอง จนกระทั่งปฏิบัติการเหล่านี้ต้องถูกล้มเลิกไป

ดูเหมือนว่าวิถีทางแก้ปัญหาเรื่องแผงลอยยึดครองทางเท้าสยามสแควร์จะมีเหลือไม่มากนัก การคาดหวังให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างสำนักเทศกิจ หรือตำรวจท้องที่ให้ออกมาทำหน้าที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเพ้อฝัน การที่จะอาศัยวิถีทางกฎหมายอย่างเดียวเพื่อดำเนินการก็ดูเหมือนจะยากลำบากเช่นกัน เพราะจุฬาฯ ไม่ได้มีอำนาจโดยตรงในการจัดการ ถึงแม้จะมีการอ้างว่าหมุดเขตที่ดินของมหาวิทยาลัยอยู่ล้ำออกไปถึงกลางถนนพระราม 1 ก็ตาม และพื้นที่บาทวิถีทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของจุฬาฯ อย่างที่ปักป้ายประกาศไว้ แต่พื้นที่บาทวิถีนี้ถูกใช้เป็นทางสาธารณะมาช้านาน ย่อมต้องอยู่ในความรับผิดชอบของทางกรุงเทพมหานคร ซึ่งดูเหมือนจะเป็นหน่วยงานที่เอาแต่ปัดความรับผิดชอบอย่างเดียวเท่านั้น

สิ่งที่จุฬาฯ น่าจะทำได้ก็คือ การวางแผนปรับภูมิทัศน์ครั้งใหญ่ของทางเท้าดังกล่าวนี้ทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมย่านการค้าใจกลางเมืองแห่งนี้ โดยมหาวิทยาลัยในฐานะเจ้าของพื้นที่สามารถจะเข้าไปขอความร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานครในการผลักดันโครงการที่จะสร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่รอบสยามสแควร์ จุฬาฯ สามารถอาศัยทรัพยากรอันทรงคุณค่าของมหาวิทยาลัย ซึ่งก็คือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งมีทั้งภาควิชาภูมิสถาปัตย์และภาคผังเมือง ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องแบบนี้โดยตรง

มหาวิทยาลัยอาจจะจัดให้มีการประกวดออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเดินเท้าโดยรอบสยามสแควร์ ซึ่งทางสำนักงานทรัพย์สินฯ อาจจะตั้งโจทย์ประมาณว่า “เป็นมิตรต่อผู้สัญจร เป็นอุปสรรคต่อผู้ค้า” อาจจะเป็นเวทีเปิดสำหรับนิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจ ทั้งในเรื่องการระดมความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ และการนำเสนอรูปแบบ โดยมีคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณา วิธีนี้นอกเหนือจะอาศัยการระดมความคิดในการแก้ไขปัญหาของเมืองโดยใช้มืออาชีพแล้ว ยังจะสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์เมืองของพวกเราทุกคน ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปที่ภาครัฐมักจะเป็นฝ่ายยัดเยียดให้

ขั้นตอนในการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้านั้นจะเป็นกระบวนการผลักดันกลุ่มผู้ค้าแผงลอยเหล่านี้ออกไปโดยละม่อม การกั้นเขตก่อสร้างและรื้อถอนพื้นผิวทางเท้าเดิมออกทั้งหมดก็จะทำลายระบบการจับจองพื้นที่ของแผงลอยทั้งหมดได้ ในขณะที่ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ก็จะสามารถเจรจาให้ผู้ค้าเหล่านี้ย้ายออกไปขายในที่ซึ่งจัดเตรียมไว้ที่สยามสแควร์ไนท์มาร์เก็ตได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น

ปัญหาทางเท้าสยามสแควร์นั้นไม่ใช่แค่เรื่องการเบียดบังพื้นที่ทางเดินสาธารณะเท่านั้น แต่เป็นภาพประจานสังคมไทยทั้งในเรื่องของความเหลวแหลกของหน่วยงานภาครัฐและการขาดจิตสำนึกของคนไทยโดยรวม เป็นเรื่องที่ควรได้รับการแก้ไขโดยเร็ว

ptorsuwan@yahoo.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น