...+

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แนวทางพระราชดำริ ที่นักการเมืองไทยไม่ทำ โดย วิทยา วชิระอังกูร

พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 อันมีผลให้ สภาผู้แทนราษฏรและรัฐบาลสิ้นสุดวาระลง นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีรักษาการ ได้แถลงต่อประชาชน ความตอนหนึ่งว่า "...ผมเชื่อว่าการยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นใหม่ด้วย เป็นการเริ่มต้นสำหรับพี่น้องประชาชนอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการเริ่มต้นเดินหน้าประเทศไทยในการที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ของพี่น้องประชาชน และครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ภายใต้กระบวนการของประชาธิปไตย ผมจึงประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง และด้วยความหวังว่าพี่น้องประชาชนจะได้ใช้โอกาสที่สำคัญนี้ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ยังคงค้างอยู่...”

แต่ผมเองกลับไม่เชื่อว่าการยุบสภาครั้งนี้จะเป็นเริ่มต้นใหม่ และรู้สึกผะอืดผะอมกับวาทกรรมของนายอภิสิทธิ์ ที่ประดิษฐ์ถ้อยคำผลักภาระให้ประชาชนใช้โอกาสจากการยุบสภาครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ยังค้างคาอยู่

ผมอยากจะถามกลับว่า ตลอดระยะเวลาที่ครอบครองอำนาจรัฐอยู่เกือบสองปี นายอภิสิทธิ์ เคยคิดที่จะให้โอกาสประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมืองบ้างหรือไม่? แม้แต่สโลแกนสวยหรูที่ว่า ประชาชนต้องมาก่อน แต่ทุกสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ก็เห็นแต่พรรคและพรรคร่วมรัฐบาลต้องมาก่อนทุกทีไป

ผมจึงยังยืนหยัดอยู่ในฟากฝั่งของฝ่ายที่เห็นว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ทางออก เพราะโดยโครงสร้างและองคาพยพของระบบการเมืองการเลือกตั้งที่ดำรงอยู่ การเลือกตั้งก็จะถูกจำกัดวง อยู่ในแวดวงเฉพาะนักเลือกตั้งหน้าเดิมๆ ที่ต่างก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่รัฐบาลและฝ่ายค้านฝ่ายละหลายรอบ โดยไม่เคยซื่อตรง จนสร้างปัญหาหมักหมมทับถมแก่ประเทศชาติมาโดยตลอด

เลือกตั้งไปก็คงเข้าอีหรอบเดิม ซึ่งไม่อาจขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า หรือแก้ไขปัญหาที่ค้างคามากมายของประเทศนี้ อย่างที่นายอภิสิทธิ์แถลงการณ์ข้างต้น

ผมเสียดายโอกาสของประเทศไทยและคนไทย ที่มีองค์พระประมุขของชาติ ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรม ทรงทุ่มเททำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนให้เห็นเป็นแบบอย่างมากว่า 60 ปี

นักการเมืองที่มีโอกาสดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีทุกคน ถือเป็นกฎระเบียบและประเพณีที่จะต้องเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อเบื้องพระพักตร์ แต่แทบจะหานักการเมืองที่ซื่อสัตย์ประพฤติปฏิบัติตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ได้เลย

เอาแค่การให้โอกาสหรือเตรียมความพร้อมของประชาชน ซึ่งเป็นหลักเบื้องต้นที่รัฐบาลควรทำ ไม่ว่าจะก่อนการพัฒนาในด้านต่างๆ รวมทั้งการเลือกตั้งผู้แทนนี้ด้วยก็ได้ พระองค์ท่านเคยทรงแนะนำไว้เนิ่นนานมาแล้วว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” คือทรงมุ่งเน้นที่การพัฒนาคน ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราจะเข้าไปพัฒนา ให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน ไม่ใช่การผลีผลามเอาความเจริญหรือสิ่งใหม่จากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนหมู่บ้านที่ยังไม่ทันมีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว

และแบบอย่างการพัฒนาประเทศชาติที่พระองค์ท่านทรงลงมือทำให้เห็นเป็นขั้นเป็นตอน คือมุ่งเน้นจาก “สิ่งจำเป็นที่สุดของประชาชนก่อน” เช่น เริ่มต้นจากการสาธารณสุข โดยทรงให้เหตุผลที่เป็นตรรกะว่า คนเราเมื่อมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ก็จะสามารถทำประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อไปได้ ต่อจากนั้นจึงเป็นการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภค รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่เรียบง่าย โดยทรงเน้นการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ราษฎรในพื้นที่สามารถนำไปปฏิบัติได้และเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตัวราษฎรและชุมชนโดยส่วนรวม ดังปรากฏให้เห็นในโครงการพระราชดำริต่างๆ นับร้อยนับพันโครงการ

ถ้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และบรรดานักการเมืองทั้งหลาย ยังมืดบอดเล่นการเมืองน้ำเน่ากันแบบมองไม่เห็นหนทางหรือไร้สติปัญญาที่จะนำพาการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองได้ นอกจากการโกหกพกลมหาเสียงกันตามฤดูกาลที่จะไปสู่การเลือกตั้งแบบเดิมๆ ที่ไม่ใช่ทางออกของประเทศไทย

ผมก็ขอแนะนำให้ลองกลับไปอ่าน พระบรมราโชวาท ที่ทรงพระราชทานไว้ เมื่อ 18 กรกฎาคม 2517 เนิ่นนานถึง 34 ปีมาแล้ว ความตอนหนึ่ง ว่า...

“...การพัฒนาประเทศชาติ จำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นต้องสร้างพื้นฐานคือความพอมีพอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน ใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานที่มั่นคง พร้อมพอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศ และของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในเวลานี้

การช่วยสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัว ให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงได้ต่อไปโดยแน่นอน ส่วนการถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญให้ค่อยเป็นไปตามลำดับ ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลว และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์...”

นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของแนวพระราชดำริ ซึ่งยังมีแบบอย่างและแนวทางอีกมากมายที่ทรงวางเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศชาติไว้ ตลอดระยะเลาที่ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม ยาวนานกว่าหกทศวรรษ

ผมอยากให้ท่านผู้มีใจเที่ยงธรรมทั้งหลาย ลองทบทวนดูว่า ตลอดระยะที่ผ่านมา มีรัฐบาลหรือนักการเมืองไทยคนไหนบ้าง ที่ยึดแนวทางการพัฒนาประเทศชาติตามแบบอย่างที่องค์พระประมุขของชาติทรงวางเป็นแนวทางและทำเป็นแบบอย่างไว้

ถ้าท่านตอบว่าไม่มี เลือกตั้งครั้งนี้ ไปร่วมกัน “เข้าคูหา กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน” หรือ Vote No สาปส่งนักการเมืองไทยรุ่นล้าหลังนี้กันเถอะครับ

หลังการเลือกตั้ง เราอาจมีความหวังได้ร่วมกันปฏิรูปการเมืองไทย ให้มุ่งดีมุ่งเจริญ และร่วมกันขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางพระราชดำริขององค์พระประมุขของปวงชนชาวไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น