...+

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนจากพลังน้ำตก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน : บีโอไอ โดย สุนันทา อักขระกิจ

ไฟฟ้าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวิถีการดำรงชีวิตของทุกคน เมื่อเกิดไฟฟ้าตกหรือดับ ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงทำให้ระบบไฟฟ้าของประเทศขาดความมั่นคง ดังนั้นหลายฝ่ายจึงต้องเร่งหาและสร้างโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ผู้คนเกือบทั่วประเทศมีแสงสว่างจากไฟฟ้าใช้ แต่ยังมีอีกหมู่บ้านหนึ่ง ที่ประชาชนกว่า 300 ชีวิต สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้มาเป็นเวลานานถึง 36 ปี โดยน้ำที่นำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคเป็นน้ำประปาภูเขาที่มีการจัดสรรปันส่วนกันอย่างเท่าเทียม ซึ่งชุมชนแห่งนี้ก็อยู่กันอย่างมีความสุข

ที่สำคัญชุมชนแห่งนี้ ยังเป็นชุมชนที่ช่วยดูแลรักษาป่าต้นน้ำไว้ได้เป็นอย่างดี เพราะความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ คือ การมีปริมาณน้ำมากเพียงพอสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า และจากการที่ได้ไปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำในพื้นที่อื่นๆ พบว่าชุมชนของตนก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการได้ จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นในชุมชนบ้าง

โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก เป็นนโยบายร่วมของหลายองค์กร เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนที่ดูแลปกป้องรักษาป่าต้นน้ำไว้ ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในชุมชน ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนคุณความดีแก่ชุมชน รวมถึงเกิดความยั่งยืนทั้งป่าและชุมชน อันจะเป็นการทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในด้านพลังงาน

ดังนั้น จึงเกิดโครงการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้โรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนขึ้นที่บ้านคลองเรือ หมู่ที่ 9 ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ซึ่งโรงไฟฟ้าฯ ดังกล่าวจะเป็นต้นแบบการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคี เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนต่างๆ ที่อยู่กับป่า รวมทั้งเป็นแบบอย่างการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ชุมชน สื่อมวลชน และเป็นแหล่งศึกษาดูงานของสาธารณชนอย่างกว้างขวางต่อไป

โครงการดังกล่าวยังเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้น เพื่อน้อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุครบ 84 พรรษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำตกในชุมชน ที่สามารถสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทุกขั้นตอน

ปัจจุบันชุมชนบ้านคลองเรือ มีประมาณ 89 ครัวเรือน จำนวน 306 คน ซึ่งทั้งหมดอพยพมาจาก 17 จังหวัดทั่วประเทศไทย และเข้ามาอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่ปี 2518 ชุมชนแห่งนี้มีกฎกติกาให้ทุกคนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยมุ่งสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนช่วยกันรักษาและใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า นำไปสู่การรักษาพื้นที่ป่ารอบบ้านของตนเองต่อไป

สำหรับแหล่งเงินทุนที่นำมาใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ประกอบด้วย

ทุนที่เป็นเงินสด และแรงงานชุมชน โดยชาวคลองเรือได้ระดมทุนกันเองในหมู่บ้าน ได้เงินจำนวน 80,000 บาท รวมถึงการไปรับจ้างหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ สร้างฝายต้นน้ำจำนวน 70 ฝาย ได้รับเงินจำนวน 350,000 บาท ซึ่งชาวบ้านแต่ละคนจะนำเงินค่าแรงงานทั้งหมดมาซื้อเสาไฟฟ้า และลงบันทึกค่าแรงงานไว้เพื่อคำนวณเป็นมูลค่าหุ้นโรงไฟฟ้า

ทุนที่เป็นมูลค่าหุ้นซึ่งแปลงจากค่าแรงงาน ในส่วนของการก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้า ฝาย และบ่อตะกอน ชุมชนจ่ายเงินเพื่อซื้อวัสดุต่างๆ เอง รวมทั้งชาวบ้านยังได้มาช่วยออกแรงทำงานโดยไม่รับค่าแรงเป็นเงินสด แต่มีการบันทึกการทำงานไว้ และจะนำมาคำนวณเป็นมูลค่าหุ้นโรงไฟฟ้าต่อไป ซึ่งจะคิดค่าแรงเท่ากับ 200 บาทต่อคนต่อวัน

ทุนในรูปของการสนับสนุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดย กฟผ.ได้อนุมัติสนับสนุนชุดกังหันและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์และระบบส่งไฟฟ้า ในวงเงินมูลค่า 10 ล้านบาท และยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อช่วยในการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้า ระบบสายส่งแรงสูง และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ในการทำงานร่วมกับชุมชน

นางวราทิพย์ อานันทนสกุล หัวหน้ากองประสานสื่อสารระบบผลิตและส่งไฟฟ้า ฝ่ายสื่อสารองค์การ กฟผ.กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนบ้านคลองเรือแห่งนี้ มีขนาดกำลังการผลิต 100 กิโลวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน โดย กฟผ.ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมดำเนินการพัฒนาโรงไฟฟ้าดังกล่าว มี นายละเมียด สวัสดิ์ภักดิ์ ราษฎรอาวุโสบ้านคลองเรือเป็นผู้นำคนสำคัญของชุมชน

ขณะนี้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ในส่วนต่างๆ ก้าวหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 30 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถเดินเครื่องเข้าระบบไฟฟ้าได้ประมาณเดือนสิงหาคม 2554

การที่โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จได้ ก็ด้วยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จึงนับได้ว่า โรงไฟฟ้าฯ แห่งนี้ เป็นต้นแบบของการบูรณาการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร่วมกับชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และยังเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนให้พึ่งตนเองทางด้านพลังงานได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2553-8111 หรือที่ head@boi.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น