...+

วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ธรรมะสว่างกลางดวงใจ อานิสงส์การภาวนา

หลวง ปู่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการปฏิบัติบูชามาก เนื่องจากประโยชน์ที่จะได้รับในขณะที่ปฏิบัติสมาธินั้น ได้บุญพร้อมถึง ๓ องค์คือ ทาน ศีล และภาวนา
เกี่ยวกับทานมีกล่าวไว้ในพระสูตร ว่าด้วยเรื่องของการให้ทานกับคนธรรมดาหนึ่งครั้ง ให้ทานคนธรรมดาร้อยครั้ง ไม่เท่ากับการให้ทานคนที่มีศีลหนึ่งครั้ง ให้ทานผู้มีศีลร้อยครั้ง ไม่เท่ากับให้ทานพระอริยบุคคลขั้นโสดาบันหนึ่งครั้ง เรื่อยมาจนถึงให้ทานพระสัมมาสัมพุทธเจ้าร้อยครั้ง ไม่เท่ากับถวายสังฆทานหนึ่งครั้ง โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และการถวายสังฆทานร้อยครั้ง ไม่เท่ากับการถวายวิหารทาน ได้แก่ โบสถ์ วิหาร ฯลฯ แต่ถึงแม้จะถวายวิหารทานไว้มากมายถึงร้อยครั้ง อานิสงส์ก็ยังไม่เท่ากับการเจริญเมตตาจิต หรือการภาวนาได้แสงสว่างเพียงเท่าช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น เพียงครั้งเดียว ถ้าจะมีผู้แย้งว่า ขณะนั่งสมาธิไม่มีการให้ทาน ขอตอบว่า ทานในขณะปฏิบัติเป็นทานอันยิ่ง คือ อภัยทาน เพราะในเวลานี้ ถ้าเราโกรธ อาฆาต พยาบาทใครก็ตาม เราต้องให้อภัย มิเช่นนั้นแล้วสมาธิจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น เราต้องมีเมตตาธรรมบังเกิดขึ้น จุดประสงค์ของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับการให้ทานนี้ ก็เพื่อลดความเห็นแก่ตัวนั่นเอง มิใช่เป็นการให้ทานเพื่อหวังผลตอบแทนอย่างเลอเลิศ เพราะจะกลายเป็นผู้โลภบุญ หลวงปู่ทวดเคยให้คำจำกัดความของบุญกับผู้เขียนว่า “บุญ คือความสบายใจ ก่อนทำก็สบายใจ ขณะทำก็สบายใจ ทำแล้วก็สบายใจ คิดถึงทีไร สบายใจทุกที”
เรื่อง ของศีลนั้น ในขณะที่ปฏิบัติ เราจะเป็นผู้ที่มีศีลอย่างบริบูรณ์ เนื่องจากได้สมาทาน และมีเจตนาที่จะรักษาศีลเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้บางท่านจะภาวนาเลย ก็ย่อมมีศีลอยู่กับใจ (ศีลโดยแท้ คือ ภาวะปกติของใจ ที่ไม่กระเพื่อมไปตามอำนาจกิเลส เรียกว่า ศีลใจก็ไม่ผิด) เพราะว่าเราไม่ได้ไปผิดศีลข้อใดในขณะนั้น ตั้งแต่การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม เป็นต้น เมื่อเรามีศีลบังเกิดขึ้น อานิสงส์ของศีลย่อมทำให้เรามีความสุข มีชีวิตอยู่ก็มีความสุข ตายไปแล้วก็มีสุคติเป็นที่หวังอย่างแน่นอน สำหรับการภาวนามีจุดประสงค์เพื่อให้จิตเกิดความสงบมีสมาธิ การบริกรรมภาวนา ไม่ว่าสัมมาอรหัง พุทโธ หรือพุทธังฯ ธัมมังฯ สังฆังฯ ต่างก็มุ่งหวังให้จิตเป็นสิ่งเหนี่ยวนำหรือได้ทำงานในสิ่งที่ดี เนื่องจากสภาพของจิต มักจะไม่อยู่นิ่ง เหมือนลิงมีอาการซุกซน คิดโน่นคิดนี่ ไม่มีสมาธิ ผู้ปฏิบัติจึงต้องอาศัยคำภาวนา ผูกจิตเอาไว้ไม่ให้วอกแวกไปทางอื่น เมื่อมีสติรู้อยู่กับคำภาวนาจนจิตเกิดความสงบ หรือบังเกิดแสงสว่างขึ้น จึงมีอานิสงส์พร้อมกัน ในเวลาเดียวกัน เป็นการรวมตัวของบุญที่กระทำขึ้น จึงมีอานิสงส์มากกว่าการตักบาตร หรือการทำทานเพียงอย่างเดียว
ดังนั้น การปฏิบัติสมาธิ หรือการภาวนา ดังที่หลวงปู่กล่าวไว้ จึงเป็นการสร้างบารมีอย่างดียิ่ง อันให้ประโยชน์กับตนเองทั้งปัจจุบัน และภายภาคหน้าด้วยประการนี้…..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น