...+

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โพธิญาณพฤกษา พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้ ต้นสะเดา (ต้นนิมพะ)

โพธิญาณพฤกษา พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้

ต้นสะเดา (ต้นนิมพะ)


ใน พระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ สุเมธพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 14 พระนามว่า พระสุเมธพุทธเจ้า ผู้ทรงแสวงหาประโยชน์เพื่อสรรพสัตว์ ทรงเปลื้องสัตว์ให้พ้นจากเครื่องผูกเป็นอันมาก ได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้สะเดา หลังทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม

ในบ้านเรานั้นสะเดามี 3 พันธุ์ คือ

1. สะเดาอินเดีย มีลักษณะขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ปลายใบแหลมเรียวแคบมากคล้ายเส้
นขร ผลสุกในเดือน ก.ค.- ส.ค.

2. สะเดาไทย มีลักษณะขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย แต่ปลายของฟันเลื่อยทู่ โคนใบเบี้ยวแต่กว้างกว่า ปลายใบแหลม ผลสุกในเดือน เม.ย.- พ.ค.

3. สะเดาช้าง หรือต้นเทียม ไม้เทียม ขอบใบจะเรียบ หรือปัดขึ้นลงเล็กน้อย โคนใบเบี้ยว ปลายเป็นติ่งแหลม ขนาดใบและผลใหญ่กว่า 2 ชนิดแรก ผลสุกในเดือน พ.ค.- ส.ค.

Image

ในที่นี้จะพูดถึง ต้นสะเดาอินเดีย ที่เป็นโพธิญาณพฤกษาของพระสุเมธพุทธเจ้า สะเดาอินเดีย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Azadirachta indica A. Juss.” อยู่ในวงศ์ “Meliaceae” ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นนิมพะ” หรือ “ต้นมหานิมพะ” ชาวฮินดูเรียกว่า “นิมะ” มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย คือ กะเดา (ภาคใต้), สะเลียม (ภาคเหนือ), คินินหรือขี้นิน (ภาคอีสาน), ควินิน, ควินนิน, จะตัง, ไม้เดา, เดา เป็นต้น

ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า ในพรรษาที่ 11 พระพุทธเจ้าได้จำพรรษาภายใต้จิมมันทพฤกษ์ คือไม้สะเดา อันเป็นมุขพิมานของเพรุยักษ์ ใกล้นครเวรัญชา

สะเดาเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 8-16 เมตร เปลือกสีน้ำตาลแกมเทา ลำต้น เปลา ตรง เรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบ ใบประกอบแบบขนนก มีสีเขียวเข้ม และหนาเป็นมันวาว ขอบใบหยัก เป็นฟันเลื่อย ปลายใบแหลมเรียว ดอกสีขาวออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง มีกลิ่นหอม ผลกลมรี ผิวบาง มีเมล็ดภายในเมล็ดเดียว เมื่อสุกจะมีสีเหลืองและมีกลิ่นหอม

สรรพคุณด้านพืชสมุนไพรนั้นมีมาก มาย ใบอ่อนและดอกนำมารับประทาน เพื่อบำรุงโลหิตและน้ำดี ช่วยย่อยอาหาร แก้ลม แก้พยาธิ แก้เลือดกำเดาไหล แก้ริดสีดวงในคอ แก้ลม บิดมูกเลือด, ผล ใช้บำรุงหัวใจที่เต้นไม่เป็นปกติ, รากใช้แก้โรคผิวหนัง ยางใช้ดับพิษร้อน, เปลือกใช้แก้ไข้มาเลเรีย และน้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช

Image

ทาง คติอินเดียถือว่า ผู้ใดนอนใต้ต้นสะเดาแล้วโรคภัยไข้เจ็บจะหายไป เพราะสะเดาเวลาคายน้ำออกจะมีสารระเหยบางชนิด ที่เข้าใจว่ามีคุณสมบัติทางยาใช้รักษาโรค ถึงกับมีเรื่องเล่ากันว่า ภรรยาชาวอินเดียที่ไม่ยอมให้สามีออกไปต่างบ้าน พยายามสั่งสามีว่า เมื่อจะไปให้ได้ก็ไม่ว่า แต่ในระหว่างเดินทางไปจะพักนอนที่ไหน ขอให้นอนใต้ต้นมะขาม เมื่อนึกจะกลับบ้านก็ขอให้นอนใต้ต้นสะเดา สามีก็เชื่อฟังภรรยา เมื่อออกจากบ้านก็นอนใต้ต้นมะขามเรื่อยไป ต้นมะขามกล่าวกันว่าเป็นต้นไม้ที่ทำให้เกิดความเจ็บไข้ เมื่อนอนใต้โคนอยู่เรื่อยๆ ก็เกิดอาการไม่สบาย ไม่สามารถจะเดินทางต่อไปได้จึงคิดเดินทางกลับบ้าน

เมื่อนึกถึงคำ ภรรยาสั่งไว้ว่าขากลับให้นอนใต้ต้นสะเดา จึงนอนใต้ต้นสะเดาเรื่อยมา ฤทธิ์ทางยาของไม้สะเดาก็รักษาอาการไข้ของชายคนนั้นให้หายไปทีละน้อยๆ และหายเด็ดขาดเมื่อกลับมาถึงบ้านพอดีนับว่า หญิงอินเดียมีกุโศลบายดีมาก การที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาใต้ต้นสะเดาจะเกี่ยวข้องกับคติดังกล่าวหรือไม่คง ไม่มีใครทราบ

แต่คตินี้ก็น่าจะให้ข้อคิดบางอย่าง เพราะแพทย์แผนปัจจุบันพยายามสกัดสารพวกอัลคอลอยด์บางอย่างไปใช้ผสมยา เช่น ทำยาธาตุ ยาแก้ท้องเสีย ฯลฯ ฉะนั้น เวลากลางคืนสะเดาจะคายน้ำรวมทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ย่อมจะมีสารระเหยพวกนี้ออกมาด้วย เมื่อสูดเข้าไปเรื่อยๆ ก็อาจเป็นการบริโภคได้ทางหนึ่ง

มะขามมักจะอยู่ตามโคกและตามโคกมักจะ มีสัตว์พวกงูพิษซุ่มอยู่ คนนอนก็จะต้องคอยระมัดระวัง จะไม่เป็นอันหลับอันนอน ก็ย่อมจะเพลียไม่มีแรงเดินทางต่อ และพาลจะเจ็บป่วยไปด้วย แต่สะเดาชอบขึ้นตามที่ราบโล่ง บรรดาสัตว์ร้าย เช่น งูไม่ชอบอาศัย คนนอนก็นอนสบายทำให้มีกำลังแข็งแรง คนเราถ้านอนได้เต็มที่ก็สามารถสร้างภูมิต่อสู้กับโรคภัยได้เช่นกันก็เป็นได้

สะเดาอินเดีย ค่อนข้างจะหายาก แหล่งปลูกใหญ่คือทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด และการตอนกิ่งปักชำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น