...+

วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554

การบังคับใช้กฎหมาย : การหยุดความตายและไม่รับผิดชอบ โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

กล่าวไม่อ้อมค้อม อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยไม่ว่าจะเกิดกับรถจักรยานยนต์ รถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารสาธารณะ ล้วนแล้วแต่มีความไม่รับผิดชอบต่อชีวิตตนเอง ชีวิตผู้ใช้รถใช้ถนนคนนอื่น และกฎหมายจราจรเป็นองค์ประกอบหลักแทบทั้งสิ้น ซึ่งหลายต่อหลายครั้งอุบัติเหตุรุนแรงอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกลายเป็นสาธารณภัย (disaster) ที่คร่าชีวิตคนหมู่มาก โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับรถโดยสารสาธารณะทั้งประเภทรถตู้และรถบัส ดังกรณี 9 ชีวิตที่ต้องสิ้นดับไปในโศกนาฏกรรมรถตู้โดยสาร

อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของคนไทยที่สูงกว่าการตายจากอาชญากรรมราว 4-5 เท่าต่อปี จึงมีชะตากรรมคล้ายกัน คือถึงอุบัติเหตุจราจรจะควบคุมป้องกันได้ไม่ต่างจากอาชญากรรม แต่กระนั้นประเทศไทยก็ไม่เคยควบคุม ป้องกัน หรือทำให้ความตายจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญหรือน่าพึงพอใจของผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไปที่ถึงที่สุดแล้วก็ไม่ต่างจากคนธรรมดาที่ไม่รู้ว่าเมื่อใดจะตกเป็นหยื่ออาชญากรที่จะก่ออาชญากรรมอุกอาจ อันเนื่องมาจากขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ทั้งๆ ผลการวิจัยในต่างประเทศยืนยันว่าการบังคับใช้กฎหมายสามารถลดอุบัติเหตุได้ถึงร้อยละ 40

ทั้งนี้ที่ผ่านมา แม้มีการยกระดับการทำงานของผู้บังคับใช้กฎหมายในโครงการกวดขันวินัยจราจรและลดอุบัติเหตุหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘365 วันอันตราย หยุดความตายด้วยวินัยจราจร’ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ดำเนินโครงการมาตั้งแต่กลางปี 2551 ที่เพียงแค่ 9 เดือนของการขับเคลื่อนโครงการก็สร้างประวัติศาสตร์ได้ ดังตำรวจภูธรภาค 3 ที่สามารถจับกุมสูงเป็นประวัติการณ์ โดยจับกุมผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยได้ถึง 354,104 ราย เมาสุรา 11,500 ราย ไม่คาดเข็มขัด 107,167 ราย และขับรถเร็ว 22,188 ราย

ภายใน 9 เดือนของโครงการยังเผยภัยร้ายแรงของถนนปนเปื้อนผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตจำนวนมาก เพราะนอกเหนือจากการจับกุมผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยนับหมื่นๆ รายทั้งในระดับกองบัญชาการขนาดเล็กและใหญ่แล้ว ตำรวจภูธรภาค 8 ยังสามารถจับกุมผู้กระทำผิดในข้อหาขับขี่รถโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ 11,179 ราย ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ 116,284 ราย ขณะที่ตำรวจภูธรภาค 9 จับกุมผู้กระทำผิดไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ 11,123 ราย ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ 75,433 ราย

นัยนี้ความตายจะมากหรือน้อยจากอุบัติเหตุจราจรจึงขึ้นกับระดับความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมาย (law enforcement) ยิ่งเข้มข้นยิ่งคุ้มครองชีวิต ยิ่งตรวจจับยิ่งสร้างวินัยจราจร การปล่อยปละละเลยให้มีการขับรถยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์จึงเปิดโอกาสให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสาธารณชน เพราะผลพวงจากการขับโดยขาดประสบการณ์และรู้กฎกติกาของคนเพียงคนเดียวสร้างความสูญเสียมหาศาลสู่ผู้อื่นอย่างถาวรได้ ไม่นับรวมถึงกระบวนการยุติธรรมที่อาจสูญสลายไปในแรงวิ่งเต้น

อีกทั้งการสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรด้วยเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายยังละม้ายการพลัดพรากในคดีอาชญากรรมเพราะผูกร้อยอยู่กับปฐมบทของการไม่เคารพชีวิตตนเอง ชีวิตผู้อื่น และกฎหมายบ้านเมืองของผู้กระทำด้วย การอ้างอุบัติเหตุว่าเป็นคราวซวยความบังเอิญไม่คาดคิดตั้งใจให้เกิดขึ้นจึงรับฟังไม่ได้ ด้วยในเบื้องต้นก่อนเหยียบคันเร่งรถยนต์ทุกคนต้องตระหนักรู้แก่ใจดีแล้วว่าตนเองมีใบขับขี่รถยนต์หรือไม่ ถ้ารู้ว่าไม่มีก็ควรถอนคันเร่งแล้วเลือกเดินทางด้วยวิธีอื่น นอกเสียจากว่าจะไม่เคยเคารพกฎหมายและสิทธิในทรัพย์สินชีวิตของบุคคลอื่น และมีเจตนาฝ่าฝืนเพราะรู้ว่าการบังคับใช้กฎหมายเมืองไทยอ่อนแอสุด!

เป็นความจริงเจ็บปวดที่การบังคับใช้กฎหมายจราจรของไทยนั้นอ่อนแอตั้งแต่ต้นธารยันปลายธาร ก่อนเกิดอุบัติเหตุก็ไม่เคยเคร่งครัดตรวจจับหมวกนิรภัย ใบขับขี่รถจักรยานยนต์/ รถยนต์ จับกุมเมาแล้วขับและขับเร็ว หลังเกิดอุบัติเหตุก็กรูกันไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความ ตีค่าราคาผู้สูญสิ้นเป็นทรัพย์สินน้อยนิด ไม่ก็ข่มขู่คุกคามใช้อำนาจบาตรใหญ่เส้นสายเพื่อพยายามยุติความสูญเสียมหาศาลของครอบครัวหนึ่งๆ ซึ่งการกระทำทั้งมวลล้วนแต่สะท้อนฐานคิดการไม่มีความรับผิดชอบ ในระดับผู้ก่อเหตุก็คือไม่รับผิดชอบต่อความผิดพลาดของตนเอง ระดับเจ้าหน้าที่ก็ไม่รับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย

ภายใต้ความหวังจะเห็นความตายจากอุบัติเหตุลดลง ขณะที่การแสดงความรับผิดชอบเท่าทวีขึ้นนั้น ฟันเฟืองหนึ่งซึ่งต้องเคลื่อนด้วยความเร่งและเร็วขึ้นคือ ‘การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดของผู้บังคับใช้กฎหมาย’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นปราการแรกในการสกัดกั้นการกระทำผิดวินัยจราจร ที่นอกจากจะต้องตระหนักว่างานด้านการจราจรสำคัญไม่ด้อยกว่างานด้านอาชญากรรม พร้อมๆ กับปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ว่าถ้าเยาวชนไม่มีวินัยจราจร การป้องกันอุบัติเหตุก็ไม่มีทางสำเร็จแล้ว ยังต้องเรียนรู้ พัฒนา และต่อยอดแนวทางการปฏิบัติจากโครงการ 365 วันอันตราย หยุดความตายด้วยวินัยจราจร ที่พิสูจน์ชัดแล้วว่าการบังคับใช้กฎหมายสามารถคลี่คลายปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้ เท่าๆ กับไม่ต้องรอปลูกฝังวินัยจราจรแก่เยาวชนก่อน เพราะวิกฤตความสูญเสียสืบเนื่องจากอุบัติเหตุจราจรรอไม่ได้

งานจราจร โดยเฉพาะคดีอุบัติเหตุที่มีส่วนสืบเนื่องกับเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายจึงเทียบเท่าคดีอาญาที่ผู้กระทำไม่อาจปัดปฏิเสธความรับผิด (blame avoidance) ได้ ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่โดยไม่มีใบอนุญาตจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต การขับเร็ว และร้ายแรงสุดคือเมาแล้วขับ เพราะพฤติกรรมการขับขี่เหล่านั้นก่ออันตรายร้ายแรงทั้งต่อตนเองและสาธารณชน

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น