...+

วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

การเลี้ยงดูเด็ก

โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช
มีนักวิชาการคนหนึ่งชื่อ Lucian Pye หากยังมีชีวิตอยู่ ป่านนี้ก็คงอายุเกิน 90 ปีแล้ว Pye เขียนหนังสือเกี่ยวกับพม่า และวิเคราะห์ว่าคนพม่ามีปัญหาเรื่องการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจคน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “trust” ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการมีระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนี้ คนในหลายประเทศจะมีต่อนักการเมือง เพราะคนมองนักการเมืองว่าเป็นคนไม่จริงใจ ตลบตะแลง และหาทางที่จะโกงกินอยู่เสมอ นักวิชาการบางคนถึงกับสรุปว่า คนที่ยากจนจะมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยต่อประชาธิปไตย ทั้งนี้ก็เพราะการขาดความไว้เนื้อเชื่อใจนั่นเอง

Pye วิเคราะห์ว่า การที่ชาวพม่าขาดความไว้เนื้อเชื่อใจคนก็เป็นเพราะวิธีการเลี้ยงดูเด็กที่ พ่อแม่มีอารมณ์แปรปรวนจนเด็กคาดคะเนไม่ถูกว่า เวลาไหนจะเป็นอย่างไร พ่อแม่ชอบเลี้ยงดูลูกแบบไม่มีระเบียบ เวลาโกรธก็ตี เวลาอารมณ์ดีก็เอาอกเอาใจ ทำให้เด็กเกิดความระแวง และพัฒนาไปเป็นความไม่ไว้วางใจสูง

ที่จริงการเลี้ยงดูเด็กมีส่วนสำคัญในการสร้างทัศนคติ และบุคลิกภาพของเด็ก นานมาแล้วมีหมออเมริกันชื่อ Dr.Spock เขียนหนังสือวิธีเลี้ยงดูเด็กไว้ จัดว่าเป็นคู่มือของพ่อแม่เมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว จนมีการเรียกขานเด็กที่เกิดในยุค 1950-1960 ว่าเป็นเด็กของหมอ Spock

เด็กที่เกิดในยุค 1960 ได้รับการเลี้ยงดูให้มีระเบียบวินัย และพึ่งพาตัวเอง แม้เด็กจะร้องนานแค่ไหน ก็มีข้อห้ามไม่ให้พ่อแม่ไปอุ้ม มีการแยกเด็กเล็กๆ ให้นอนอีกห้องหนึ่ง และมีการอบรมให้ถ่ายอย่างเป็นที่เป็นทาง ด้วยการหัดให้นั่งกระโถนตั้งแต่ยังเล็ก เรียกว่า “toilet training” เชื่อกันว่าเด็กจะเติบโตขึ้นเป็นคนมีระเบียบวินัย

การที่ห้ามไม่ให้พ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างตามใจนี้ มีข้อวิจารณ์ว่า มีผลทำให้เด็กฝรั่งเกิดความเหินห่างพ่อแม่เมื่อเติบโตขึ้น ฝรั่งนิยมให้ลูกพึ่งตนเองได้ พอโตขึ้นเรียนจบหางานทำได้ ก็แยกบ้านออกไปอยู่ตามลำพัง นานๆ ก็กลับมาเยี่ยมบ้านครั้งหนึ่ง ในอเมริกาคนชอบเปลี่ยนงานย้ายที่อยู่กันบ่อย ก็ยิ่งทำให้ครอบครัวแยกออกเป็นครอบครัวเดียวมากขึ้น ต่างกับคนเอเชียซึ่งชอบอยู่รวมกัน ทิ้งปู่ย่าลงมาจนถึงรุ่นหลาน

เด็กในยุค 1980 ได้ชื่อว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตตามสบาย ชอบท่องเที่ยว และให้ความสำคัญกับการพักผ่อน ไม่ชอบการออม แต่จะใช้จ่ายหาความสุขให้ชีวิตไปวันๆ หนึ่ง เด็กยุคนี้เริ่มเข้าสู่ยุค IT ทำให้นิยมการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มีสมาธิสั้นลง การใช้ภาษาก็เปลี่ยนไป ยิ่งมาสมัยนี้ที่มีโทรศัพท์มือถือที่ทำอะไรได้มาก เด็กก็ยิ่งมีทักษะในการสื่อสารอย่างหลากหลายมากขึ้น และการเขียนอะไรอย่างเป็นเรื่องเป็นราวก็มีน้อยลง เพราะการสื่อสารสมัยใหม่นิยมความกะทัดรัด แค่เข้าใจก็พอแล้ว จึงมีการบ่นกันมากว่าเด็กสมัยนี้เขียนไม่เป็น ไม่ว่าจะเป็นจดหมายหรือรายงาน

โดยทั่วไปแล้ว การเลี้ยงดูเด็กมีหลักสำคัญเหมือนกัน แต่ต่างวัฒนธรรมก็มีสภาพแวดล้อม และประเพณีมีข้อห้ามที่ต่างกันไป มีคุณค่าที่ยึดถือต่างกัน โดยทั่วไปแล้ว การอบรมเลี้ยงดูเด็กจะมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 6 ด้านคือ

1. การอบรมสั่งสอนให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ ซึ่งนำไปสู่การเชื่อฟังกฎหมาย สังคมบางสังคมเน้นเรื่องนี้มาก แต่บางสังคมเน้นเฉพาะบางเรื่อง เมื่อเด็กเติบโตขึ้นก็เปิดโอกาสให้เด็กได้คิด ได้โต้เถียงอย่างเป็นอิสระ

2. การอบรมสั่งสอนให้มีความรับผิดชอบ เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ภายในบ้าน ไปจนถึงการมีความรับผิดชอบต่อสังคม

3. การอบรมสั่งสอนให้รู้จักดูแลมีน้ำใจต่อผู้อื่น เริ่มจากพี่น้องและคนในครอบครัว

4. การอบรมสั่งสอนให้มีความพยายามที่จะทำงานให้ดี และมีความสำเร็จ ตั้งแต่เล็กก็สอนให้สามารถทำในสิ่งที่ง่ายๆ และเกิดความมั่นใจ จนในที่สุดสามารถทำงานใหญ่ได้

5. การอบรมสั่งสอนให้รู้จักพึ่งพาตนเอง มีความเป็นอิสระ สามารถช่วยตัวเอง และช่วยผู้อื่นได้

6. การอบรมสั่งสอนให้มีความเป็นอิสระจากการควบคุม การครอบงำ และการตกเป็นเบี้ยล่างผู้อื่น

ในสังคมตะวันออกเน้นข้อ 1 และข้อ 3 ส่วนในสังคมตะวันตกเน้นเรื่อง การทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย การพึ่งพาตนเอง และความเป็นอิสระ

ในเมืองไทยเรา เรามักจะพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาซึ่งเน้นชีวิตของเด็กในวัยเรียน ผมคิดว่าเราควรเพ่งเล็งไปที่วิธีการเลี้ยงดูเด็กด้วย แต่ชีวิตเด็กในโรงเรียนจะไม่มีเวลาทำอย่างอื่นมากนัก เพราะต้องเรียนสาระวิชาต่างๆ จนไม่มีเวลาว่าง ครูเองก็ต้องเน้นการสอนวิชา ไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนมากนัก เราจึงได้ฟังเรื่องเด็กที่มีโอกาสเรียนน้อย แต่ทำงานตั้งแต่ยังเล็กที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมาก ไปๆ มาๆ การอยู่ในระบบโรงเรียนกับการเรียนรู้ชีวิตด้วยตนเอง กลับทำให้เด็กมีความพร้อมในการต่อสู้ชีวิตมากขึ้น

หากเราหันมาสนใจการเลี้ยงดูเด็กมากขึ้น พ่อแม่ก็ต้องมีเวลาให้ลูก ที่สำคัญก็คือ พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างให้ลูก ถ้าทำเช่นนี้ได้ เราก็จะมีเด็กที่เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองดี และมีสังคมที่สงบสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น