...+

วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

นักจิตเวชชี้แม่ลูกอ่อนดิ่งตึก เพราะซึมเศร้า-ขาดที่ปรึกษา

นักวิชาการจิตเวช ชี้ กรณีหญิงแม่ลูกอ่อน ดิ่งตึกตาย เพราะขาดคนเคียงข้าง ระบุ โดยทั่วไปสำหรับหญิงหลังคลอดบุตรนั้น จะมีภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป ช่วง 1 เดือนหลังคลอด หากไม่มีใครรับฟังปัญหาอาจคิดสั้น ด้าน "พรรณสิริ" ฝากถึงสามี-ครอบครัวดูแลแม่เพิ่งคลอดใกล้ชิด


พญ.วินิทรา นวลละออง อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า โดยทั่วไปสำหรับหญิงหลังคลอดบุตรนั้น จะมีภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป เพราะฮอร์โมนเพศที่เรียกว่า เอสโตรเจน ในร่างกายลดระดับลง ภาวะนี้เรียกว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum blue) ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่จะมีอาการดีขึ้น จึงจำเป็นต้องมีคนใกล้ชิดเข้ามาดูแลหญิงกลุ่มนี้ เพื่อช่วยแบ่งเบาความทุกข์ในใจและรับฟังปัญหา ทั้งนี้ กรณีที่หญิงรายนี้มีความซึมเศร้าจนนำมาสู่การฆ่าตัวตาย อาจเพราะช่วง 1 เดือนหลังคลอดไม่มีใครรับฟังปัญหาและต้องอยู่ลำพังคนเดียว จึงเลือกที่จะจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายในที่สุด

“เมื่อหลายปีก่อนเคยมีงานวิจัยต่างประเทศ ระบุว่า วิธีการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าฆ่าตัวตาย คือ การรับฟังปัญหา แม้ว่าจะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหานั้นได้ แต่จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่โดดเดี่ยว และช่วยลดความเครียดที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงและเป็นผลสำเร็จ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ส่วนในกลุ่มวัยรุ่นนั้น พบว่า มีปัญหาการฆ่าตัวตายเช่นกัน แต่มักจะไม่สำเร็จ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่ต้องการฆ่าตัวตายจริงๆ เพียงแต่ต้องการสื่อสารให้คนรอบข้างรู้ว่ากำลังมีความทุกข์ โดยจะมีพฤติกรรมการฆ่าตัวตายซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง” พญ.วินิทรา กล่าว

พญ.วินิทรา กล่าวด้วยว่า การฆ่าตัวตายเกิดจากสาเหตุสำคัญ 2 อย่าง คือ 1.ปัจจัยภายในร่างกาย เช่น โรคภัยไข้เจ็บและโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนฆ่าตัวตายสำเร็จ และ 2.ปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่ทำให้เกิดความเครียด ทั้งนี้ วิธีสังเกตว่าบุคคลใกล้ชิดมีความเสี่ยงฆ่าตัวตายหรือไม่นั้น จะดูได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป หากพบว่าคุณภาพการเรียนหรือทำงานแย่ลง หรือมีพฤติกรรมกล่าวโทษตนเองอย่างไม่มีเหตุผล สันนิษฐานเบื้องต้นได้เลยว่าบุคคลนั้นมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดภาวะเครียดและ ซึมเศร้า

ด้านดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวน.ส.จงกล จำปาขาว ที่กระโดดตึกฆ่าตัวตายพร้อมลูกวัย 3 วัน และคณะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

ดร.พรรณสิริกล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์นี้มีข่าวหญิงหลังคลอดฆ่าตัวตายหลายกรณี กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยปัญหาด้านสุขภาพจิตของประชาชน ที่เกิดความเครียด จากปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และปัญหาอื่นๆ จนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะในกรณีหญิงหลังคลอด ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่วนใหญ่จะมีอาการเศร้าหลังคลอด มีอาการร้องไห้ง่าย อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดหรือวิตกกังวล มักเกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด และอาการจะดีขึ้นเองภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์ หรือในรายที่รุนแรงอาจจะมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด มีอารมณ์เศร้ามาก วิตกกังวลเกินเหตุ หรือมีอาการย้ำคิดย้ำทำ บางรายอาจคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ มักเกิดหลังคลอดประมาณ 2-4 สัปดาห์

ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า ขอย้ำเตือนครอบครัว โดยเฉพาะสามีให้คอยช่วยเหลือดูแลภรรยาในการดูแลเลี้ยงดูลูก และคอยเป็นกำลังใจให้คุณแม่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นคุณแม่มือใหม่ อายุน้อยหรือยังไม่พร้อม อาจขาดความมั่นใจ มีความวิตกกังวลสูง หรือมีปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาครอบครัว คู่สมรส มีความเครียดหรือว่าเคยมีภาวะซึมเศร้าอยู่เดิม ก็จะทำให้ความรุนแรงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมีมากขึ้น

นอกจากนี้ ขอให้แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกคนมีกำลังใจในการทำงาน เข้าใจดีว่าไม่มีใครต้องการให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกคนให้ความสนใจ คอยสังเกตอาการของคุณแม่หลังคลอดอย่างใกล้ชิด และให้ญาติ ครอบครัวเข้ามาร่วมดูแลแม่หลังคลอดตั้งแต่ต้น เพื่อให้คุณแม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เกิดความรู้สึกอบอุ่น มั่นใจ เพื่อป้องกันปัญหาจากภาวะซึมเศร้าที่อาจเกิดขึ้นได้

ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า ตามปกติครอบครัวมักให้ความสำคัญในช่วงระยะก่อนคลอด กังวลว่าจะเกิดปัญหาขณะคลอด แต่ในความเป็นจริงแล้วจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดจนถึงระยะหลังคลอด โดยเฉพาะด้านจิตใจ ขอให้ตัวคุณแม่เอง สามี และครอบครัว สังเกตอาการที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะซึมเศร้า เช่นตื่นตระหนก หวั่นกลัว วิตกกังวลตลอดเวลาทั้งเรื่องสุขภาพแม่และลูก ร้องไห้บ่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุ หลับยาก ไม่รับรู้เรื่องเวลา คุณแม่เกิดความรู้สึกหมดหวัง ชีวิตไม่มีค่า ไม่รู้สึกผูกพันหรือรู้สึกใดๆกับลูก รู้สึกว่าตัวเองไม่สบาย เช่นเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ปวดหัว รู้สึกว่านอนไม่พอ อยากนอนตลอดเวลา เป็นต้น

หากพบอาการเหล่านี้ ขอให้รีบปรึกษาแพทย์ หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1223 และ 1667 ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะหากแม่เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด จะมีการตัดสินใจผิดไปจากปกติธรรมดา การตัดสินใจแก้ปัญหาไม่ดี จึงอาจคิดสั้นฆ่าตัวตายได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น