...+

วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

‘การศึกษาทางเลือก’ ความหวังทศวรรษที่สองของปฏิรูปการศึกษา

โดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

การศึกษาควรเปิดกว้างทางเลือกแก่เด็กและเยาวชนไทยได้ใช้ชีวิตตาม ปรารถนา ทว่าที่ผ่านมาการศึกษากระแสหลักแบบแพ้คัดออกของเมืองไทยไม่เปิดโอกาสให้ ‘เลือก’ เลย แม้มีหลายหลากสาขาวิชาก็ตามที ด้วยถึงที่สุดแล้วบีบบังคับให้นักเรียนแต่ละคนต้องแข่งขันกันบนลู่วิ่งปลาย ตีบเพื่อไปให้ถึงเส้นชัย

นั่นทำให้ไม่เพียงธุรกิจกวดวิชาเฟื่องฟู ขณะที่เยาวชนไทยจำนวนมากไปไม่ถึงซึ่งเส้นชัยมหาวิทยาลัยหรือคณะที่ใฝ่ฝัน หากแต่ตัวระบบการศึกษากระแสหลักเองก็กลับล้มเหลวด้านคุณภาพด้วย ดังรายงานสมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากล ปี 2551 โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปไม่รู้หนังสือเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.7 ในปี 2545 เป็น 7.4 ในปี 2550 และเด็กไทยวัยเดียวกันนั้นยังมีความสามารถด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต่ำกว่าเด็กในกลุ่มประเทศ OECD มาก

มากกว่านั้นสมรรถนะด้านการศึกษาของไทยปี 2551 ยังอยู่เพียงอันดับที่ 43 มีระบบการศึกษาที่ตอบสนองความสามารถในการแข่งขันอันดับที่ 24 จากจำนวนทั้งสิ้น 55 ประเทศ และผลการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาระดับนานาชาติของ The Times Higher Education Supplement (THES) ในปี 2549 ที่เปรียบเทียบสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก 520 แห่งก็พบว่ามีมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับแค่ 7 แห่งเท่านั้น

ผู้สำเร็จการศึกษาจากระบบนี้ส่วนหนึ่งซึ่งมีไม่น้อยจึงมีคุณภาพและ ทักษะความสามารถต่ำ ก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ความรู้อันมีลักษณะพลวัตเป็นปัจจัยผลัก ดันความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) แต่ในทางกลับกันก็เป็นฐานรากสำคัญของการแข่งขันกันกอบโกยตามแนวทางทุนนิยม

ความเหลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่คู่สังคมไทยจึงได้ผู้สำเร็จการศึกษากระแส หลักใช้ ‘แต้มต่อ’ ที่เล่าเรียนมาเอารัดเอาเปรียบตลอดชีพ รูปธรรมก็การเข้าถึงการงานที่คนจบอุดมศึกษาได้เปรียบคนที่เรียนต่ำกว่า

การล่มสลายของระบบการศึกษาไทยทั้งด้านคุณภาพการศึกษา ความเป็นเลิศทางวิชาการ และกลไกการเข้าถึงสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา ท่ามกลางการปฏิรูปการศึกษาที่ล้มเหลวมาถึงหนึ่งทศวรรษเต็มๆ จึงเป็นเหตุให้สังคมไทยควรหันมาพิจารณา ‘การศึกษาทางเลือก’ มากขึ้นในฐานะทางออกวิกฤตการศึกษาที่มีทั้งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 49 รองรับ และรูปธรรมแบบปฏิบัติที่ดี

เนื่องด้วยการศึกษาทางเลือกเน้นกระบวนการสร้างเสริมปัญญา พัฒนาเด็กให้มีความเป็นมนุษย์ ภายใต้ระบบการจัดการศึกษาแบบอิสระ ยืดหยุ่น มีรูปแบบ เนื้อหา และวิธีการเรียนรู้หลากหลายที่แตกต่างจากการศึกษากระแสหลัก โดยมุ่งการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับธรรมชาติตามความถนัดความสนใจของเด็กแต่ละ คน และให้ผู้เรียนมีส่วนเสริมสร้างทักษะจากการปฏิบัติผ่านกระบวนการที่สอดคล้อง กับความเป็นจริงทางสังคมทั้งทางทรัพยากร วิถีชีวิตชุมชนและสังคมที่ตนสังกัดและไม่ได้สังกัดแต่มีปฏิสัมพันธ์กัน

ห้วงทศวรรษที่สองของการปฏิรูปการศึกษาจึงต้องเปิดพื้นที่แก่การ ศึกษาทางเลือก การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อจะบรรลุอุดมคติ ‘การศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์’ นอกเหนือจากการปรับโครงสร้างการศึกษากระแสหลักที่ต้องบูรณาการทั้งนักเรียน ครู สถาบันการศึกษา

ด้วยปัจจุบันสายธารการศึกษาทางเลือกนาน 3 ทศวรรษนับแต่กำเนิดโรงเรียนทางเลือกอย่างโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก รูปแบบการจัดการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ เช่น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน จนถึงการจัดการศึกษาแบบบ้านเรียน (Home School) กำลังงอกงามจากการริเริ่มและลงมือทำของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถตอบโจทย์สังคมไทยในบริบทที่หลากหลายได้ ถึงแม้รัฐบาลไม่สนับสนุนนัก

สภาการศึกษาทางเลือกที่พัฒนามาจากความร่วมมือของผู้ทำงานทั่วประเทศ ทั้งเครือข่ายโรงเรียนไทยไท 25 แห่ง สถาบันอุดมศึกษาทางเลือก 7 แห่ง โรงเรียนและหน่วยงานอื่นๆ กว่า 21 องค์กร โดยมีนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เป็นประธาน จึงเป็นความหวังสังคมไทยในการเปิด ‘พื้นที่การศึกษาทางเลือก’ โดยการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาอย่างเป็นอิสระบนหลักการและเป้าหมายของหลัก สูตรแกนกลางและ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พัฒนาแนวทางที่หลากหลายในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา และที่สำคัญเสนอแนะข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาที่มีการศึกษา ทางเลือกเป็นกลไกสำคัญ ดังนี้

1) ตั้งกองทุนส่งเสริมการศึกษาทางเลือกเป็นกลไกสนับสนุนสภาการศึกษาทางเลือก เช่น ปรับปรุงโรงเรียนขนาดเล็กที่จะถูกยุบให้เป็นโรงเรียนการศึกษาทางเลือกของ ชุมชนที่ท้องถิ่นมีส่วนร่วมจัดการศึกษา

2) ยกเลิกแนวคิดยุบเลิก ควบรวม โรงเรียนขนาดเล็ก ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประมาณ 12,000 แห่งทั่วประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นจับมือกับกลุ่มการศึกษาทาง เลือกแก้ปัญหาตามแนวทางการศึกษาของชุมชน ตลอดจนออก พ.ร.บ.การศึกษาทางเลือกเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองการศึกษาทางเลือกขึ้นมาโดยเฉพาะ

3) สร้างการศึกษาทางเลือกในโรงเรียนและสถานศึกษา โดยขยายผลการจัดการศึกษาของโรงเรียนทางเลือกเป็นต้นแบบไปสู่การจัดการศึกษา ในสถานศึกษาอื่นๆ รวมถึงสร้างหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ที่ตอบสนองต่อผู้เรียนทุกกลุ่ม ทั้งเด็กผู้เรียนปกติ เด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส เด็กกลุ่มเสี่ยง

การศึกษายุคใหม่ต้องเปิดพื้นที่การศึกษาทางเลือกเพื่อสร้างการ เรียนรู้ที่หลากหลายโดยนอกจากเปลี่ยนการศึกษาระบบเดียวไปสู่การศึกษาที่หลาก หลายเหมาะสมกับตัวผู้เรียนแล้ว สิ่งสำคัญต้องสนับสนุนทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้จัดการศึกษา เรียนรู้แทนภาครัฐมากขึ้น ซึ่งจะเป็นหนึ่งหนทางลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมขึ้นในสังคมพหุ วัฒนธรรมได้

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น