...+

วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

“วันที่ยุโรปรัดเข็มขัด แต่พี่ไทยฟาดแหลก”

เหลือเวลาอีกประมาณ 4 เดือน หน่วยงานที่มีหน้าที่จัดทำงบประมาณประเทศ ก็จะได้ฤกษ์เคาะตัวเลขงบประมาณประจำปี พุทธศักราช 2555 ออกมาให้ได้เชยชม ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และที่ประชุมรัฐสภาเพื่อรอการพิจารณาต่อไป

ที่น่าสนใจก็คือ ตัวเลขคร่าวๆ ของงบประมาณปีหน้า ใครได้ฟังก็คงจะหัวเราะ 555 ไม่ออกแน่ เพราะมีแนวโน้มที่ตัวเลขจะพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 2.2-2.3 ล้านล้านบาท หรือ มากกว่าของเก่าถึง 20 เปอร์เซ็นต์

แม้ว่าตัวเลขงบประมาณปีที่แล้ว รัฐบาลชุดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะตั้งไว้สูงอยู่แล้วถึง 2.07 ล้านล้านบาท เรียกว่า สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทย

ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปดูรายละเอียดของโครงสร้างงบประมาณปีที่แล้ว จะพบว่า พี่ไทยมีความสามารถในการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 1.65 ล้านล้านบาทเท่านั้น แต่มียอดใช้จ่ายสูงถึง 2.07 ล้านล้านบาท พูดง่ายๆ คือ หาได้ไม่พอจ่าย หรือใช้เงินเกินตัว จึงทำให้ประเทศต้องทำงบประมาณอยู่ในรูปขาดดุลถึง 4.2 แสนล้านบาท

สำหรับในปีหน้าก็เช่นกัน เบื้องต้นมีรายงานว่า ได้มีการวางเป้าจะทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องอีกปี ประมาณ 4 แสนล้านเป็นอย่างน้อย ด้วยข้ออ้างที่ยังคงต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไทยเราผ่าน การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจัดทำงบประมาณขาดดุลเยี่ยงนี้มาแล้วตลอด 14 ปีที่ผ่านมา และเรายังจะเดินหน้าขาดดุลต่อเนื่องเป็นปีที่ 15

แต่น่าแปลกที่ยิ่งกระตุ้นเท่าไร คนไทยยิ่งลำบาก ทำมาหากินยากเหมือนเดิม หรือยิ่งกว่าเดิม ตรงกันข้ามกับความเป็นอยู่ของ “กลุ่มการเมือง” หรือ “กลุ่มนายทุน” ที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังแต่ละรัฐบาล กลับยิ่งมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายขึ้นเรื่อยๆ ตระกูลธุรกิจการเมืองบางตระกูลแถวคลองหลอด ใช้เวลาไม่ถึงสิบปี ในการพลิกสถานะจากที่เคยวิ่งแลกเช็คบริษัท มาเป็นคู่สัญญากับโครงการสัมปทานรัฐมูลค่ารวมหลักแสนล้าน...

กลับมาที่เรื่องการขาดดุลงบประมาณอีกนิด มีการตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจระบุว่า หลังการเลือกตั้งปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล และมีนายกรัฐมนตรีชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ที่ก่อเกิดให้การเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้างงบฯ

กล่าวคือ ถ้าจะเปรียบงบประมาณประเทศเป็นรายได้ในกระเป๋า เมื่อเราหารายได้มาแล้ว เงินจะต้องถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ใช้ชำระเป็น “รายจ่ายประจำ” อาทิ เงินเดือนข้าราชการ บุคลากร, ส่วนที่ต้องเตรียมไว้สำหรับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และสุดท้าย คือ ส่วนที่ต้องนำไปจ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ที่รัฐบาลที่แล้วไปกู้มา

ผลปรากฏว่า “นโยบายประชานิยม” ที่ถือกำเนิดขึ้นในสมัยแรกของรัฐบาลทักษิณ ยุคปี 2544 มีส่วนทำให้ยอดรายจ่ายประจำโตผิดหูผิดตา จนไม่พอจะนำไปใช้จ่ายส่วนอื่น

และที่น่าสนใจกว่า นั่นก็คือ หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พ.ศ. 2549 แม้ทักษิณจะได้ถูกขจัดไปจากอำนาจการเมือง แต่มรดกบาปเรื่อง “นโยบายประชานิยม” ยังคงถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง

ดูได้จากงบประมาณปี 2554 จำนวน 2.07 ล้านล้านบาท ที่นอกจากถูกนำไปใช้เป็นค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าใช้จ่ายภาครัฐ และเป็นเงินเดือน โบนัสข้าราชการ (อัตราที่มีการปรับขึ้นแล้ว) มากถึง 37 เปอร์เซ็นต์ 7.39 แสนล้านบาท

มีงบส่วนที่นำไปใช้เป็นรายจ่ายตามนโยบายรัฐ 25 เปอร์เซ็นต์ อีก 2.8 แสนล้านบาท บวกงบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1.2 -1.5 แสนล้านบาท (อัตราเก่ายังไม่มีการปรับเพิ่มตามมติ ครม.ล่าสุด)

และงบประชานิยมผสมสวัสดิการนิยม สุดแล้วแต่เรียก ในรูปเรียนฟรี 15 ปี, เจ็บป่วยรักษาฟรี ฯลฯ อีกกว่า 1.3 แสนล้านบาท

เฉพาะก้อนหลังนี้ ซานต้ามาร์ค ได้จัดแจกเพิ่มอีก ในปี 2555 ด้วยเหตุที่ประชานิยมผสมสวัสดิการนิยม ได้เริ่มแปลงร่างอำพรางตัวเป็น “ประชาวิวัฒน์ไปแล้ว ผลคือ ทำให้ต้องมีการใช้เงินมากขึ้น ผ่านโครงการเรียนฟรี ประกันรายได้เกษตรกร เบี้ยคนชรา คนพิการ อสม. พยุงราคาน้ำมัน ลดค่าครองชีพ ปล่อยกู้มอเตอร์ไซค์ แท็กซี่รับจ้าง โหลงโจ้งแล้วไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งแม้บางนโยบายน่าจะสนับสนุน แต่ก็มีหลายมาตรการที่ทำเพื่อหวังผลการเมืองมากกว่าช่วยประชาชน

นั่นยังไม่รวมโครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสลิ่มหลากสีสัน ที่มีเอกชนได้รับสัมปทานอยู่ไม่กี่เจ้า และใช้งบก่อสร้างแพงเกินจริง จนถูกเรียกร้องให้ตรวจสอบหรืออย่างโครงการมหาอมตะ “ถนนไร้ฝุ่น“ และรถไฟความเร็วสูงที่จีนจะให้งบช่วยเหลือบางส่วน

ตอนนี้ เทรนด์การใช้เงินบ้านเรากำลังสวนทางกับยุโรปโดยสิ้นเชิง เจ้าของต้นตำรับสวัสดิการสังคมตัวจริงหลายเจ้ากำลังเจ๊ง และเร่งตัดลดงบประมาณภาครัฐอย่างหนักหน่วงจนถูกประชาชนที่เสียประโยชน์ออกมา เดินขบวนต่อต้านมากมาย

อังกฤษ การประท้วงต่อต้านมาตรการลดเงินอุดหนุนการศึกษา ทำให้นักศึกษาที่ต้องจ่ายค่าเทอมเพิ่มขึ้นพากันออกมาประท้วง เลยเถิดถึงขั้นทำลายขบวนรถยนต์พระที่นั่งมกุฎราชกุมารอังกฤษ และบุกขึ้นไปปัสสาวะรดอนุสาวรีย์ อดีตนายกรัฐมนตรีเซอร์ วินสตัล เชอร์ชิล เรียกว่าเดือดร้อนไปทั่ว

ที่ฝรั่งเศส ผลของการขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการขยายเวลาเกษียณอายุจาก 60 เป็น 62 ปี และขยายอายุรับบำนาญจาก 65 ไปอยู่ที่ 67 ปี สุดท้ายประชาชนหนีไม่พ้นต้องรับเคราะห์อยู่ดี ต้องทำงานหนักขึ้น และได้รับเงินช่วยเหลือช้าลง

ส่วนบรรยากาศที่กรีซ หรือแม้แต่ไอร์แลนด์ก็แทบจะไม่มีความแตกต่าง เมื่อผู้เสพติดรัฐสวัสดิการมายาวนานเกิดคุ้มคลั่งหลังไม่ได้ในสิ่งที่เคยได้ สำหรับไทยเรา ประชานิยมที่นักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือเพื่อซื้อเสียงล่วงหน้ามาทุกยุค ทุกสมัยก็เช่นกัน คงไม่มีใครกล้าที่จะออกมาปฏิเสธได้อย่างเต็มปากว่า ความเสียหายจากการลุกขึ้นมาต่อต้านรุนแรงของชมรม “คนรักทักษิณ” จนนำไปสู่การเผาบ้านเผาเมือง ส่วนหนึ่งไม่ได้มาจากพฤติกรรมเสพติดประชานิยม ที่ระบอบทักษิณได้หว่านไว้สมัยเรื่องอำนาจ

และก็คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธอีกเช่นกันว่า กลวิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง ไม่ใช่หนทางแก้ไขที่ดีสำหรับกรณีนี้ เพราะรังแต่จะเป็นการบ่มเพาะพฤติกรรมขาดความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในหมู่ ประชาชนให้ยิ่งรุนแรงและฝังราก และเคยตัวมากขึ้นเรื่อยๆ


โดย อุษณีย์ เอกอุษณีษ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น