...+

วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

คนไทยรุ่นใหม่ยังศรัทธาศาสนาพุทธ!

โดย แสงแดด 3 สิงหาคม 2553 14:46 น.
เมื่อช่วงปิดวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา "วันอาฬหบูชา" และ "วันเข้าพรรษา"
ที่ผ่านมาสัปดาห์ที่แล้ว "แสงแดด"
ได้สบโอกาสเดินสายทำบุญตามวัดวาอารามต่างๆ
ทั้งในกรุงเทพมหานครและชานเมือง

ทั้งนี้ ช่วงเข้าพรรษาของทุกปี ครอบครัวเราจะถวายหลอดไฟนีออน 11
วัด วัดละ 9 หลอด (ดวง) สิริรวม 99 หลอดไฟ
ในอดีตมักจะเดินทางออกต่างจังหวัด ถวายตามวัดที่ค่อนข้างยากจนและกันดาร
แต่บังเอิญปีนี้ "แสงแดด" มี ภารกิจยุ่งยากมาก
จึงถวายตามวัดที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและชานเมืองเท่านั้น อาทิ
วัดเอี่ยมวรนุช วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดชนะสงคราม วัดปทุมวนาราม
วัดบวรฯ วัดสระเกศ เป็นต้น

เหตุผลสำคัญที่ถวายหลอดไฟ ซึ่งปฏิบัติทุกปีประมาณเกือบ 20
กว่าปีแล้ว โดยครั้งหนึ่งเคยไปถวายเทียนพรรษาที่วัดเก่าแก่วัดหนึ่งแถวๆ
บางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เจ้าอาวาสได้ปรารภกับคณะเราว่า "โยม
ต่อไปถวายหลอดไฟจะดีกว่า
เพราะปัจจุบันทางวัดไม่ได้ใช้เทียนพรรษาในการจุดเพื่อแสงสว่างอีกต่อไปแล้ว
ดูที่ข้างหลังซิ มีเทียนพรรษากองพะเนินเทินทึก!"

ตั้งแต่บัดนั้นมา คณะเราก็ไม่ได้มีการถวายเทียนพรรษาอีกเลย
ถวายหลอดไฟนีออนตลอด อย่างไรก็ตาม ทราบต่อมาภายหลังว่า
เทียนพรรษาที่ทางวัดได้รับการถวายมานั้น ก็เอาเก็บไว้จุดเป็นพิธีบ้าง
นอกนั้นนำไปจำหน่ายหรือแจกจ่ายบ้างตามวัดต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสาน
เพื่อนำไปหล่อเป็นรูปร่างต่างๆ เพื่อนำเข้าแสดงใน
"ขบวนพิธีแห่เทียนพรรษา" ดังที่เราได้เห็นกันตามภาพข่าวต่างๆ

ประเด็น สำคัญ ที่ต้องการถ่ายทอดสู่ท่านผู้อ่าน ก็คือว่า
ช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาทั้งสองวันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ที่ประทับใจมากที่สุด คือ การที่ได้เห็นพี่น้องประชาชนจำนวนมาก
ที่มากันทั้งครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ผู้อาวุโส ลูกเด็กเล็กแดง
หรือแม้กระทั่ง ชายหนุ่มหญิงสาวสมัยใหม่ต่างไปถวายสังฆทาน
ทำบุญกับพระสงฆ์ "แน่นขนัด" ทุกวัดที่คณะเราเดินทางไปทำบุญ

คำว่า "แน่นขนัด!" ที่ กล่าวถึงนี้ หมายถึง
จำนวนหลักพันขึ้นไปอาจจะถึงหลักหมื่นด้วยซ้ำ
ที่ประชาชนทุกเพศทุกวัยเดินทางไปตามวัดวาอารามที่ดังๆ หรือไม่ดัง
ก็ยังมีประชาชนจำนวนมากไปทำบุญถวายสังฆทาน
เริ่มตั้งแต่เช้าไปจรดเอาเวลาประมาณ 18.00 น. หรือ "6 โมงเย็น" พูดง่ายๆ
คือ ตลอดวัน ซึ่งก็จะค่อยๆ ทยอยเป็นชุดๆ ไป แต่ละชุดประมาณ 20-25 คณะ

ในขณะเดียวกัน พระสงฆ์ผู้ที่ต้องรับภารกิจ "กิจกรรมสงฆ์"
ด้วยการรับประเคนสังฆทาน
พร้อมกล่าวสวดมนต์กับกล่าวสังฆทานจบด้วยการกรวดน้ำที่บางวัดจะมีพระสงฆ์องค์
เดียวที่ต้องรับหน้าที่ไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง หลายๆ ชุดนับร้อยคน
หรือบางวัดจะมีพระสงฆ์ไม่ต่ำกว่า 3-5 รูป คอยสวดมนต์
นั่งรับประเคนสลับหมุนเวียนกันไป จนดูเสมือน "งานวัด" ยังไงยังงั้น!

ส่วนใหญ่แล้วในอดีต คณะเราจะเดินทางออกต่างจังหวัด
หรือไม่ก็ถวายสังฆทานหลอดไฟหลังวันเข้าพรรษา ประมาณ 2-3 สัปดาห์
หลังจากนั้น จึงไม่เคยประสบพบเจอผู้คนร่วมทำบุญมากขนาดนั้น

ความประทับใจกับภาพที่ปรากฏต่อสายตา "แสงแดด" คือ
กลุ่มผู้คนที่เป็นทั้งครอบครัวคละเคล้ากันไป
มีลูกเด็กเล็กแดงตัวเล็กที่นั่งพนมมือไหว้พระอย่างสงบเสงี่ยม
มีพ่อแม่คอยกำกับดูแล และที่สำคัญคือมี "กลุ่มคนรุ่นใหม่"
อายุน่าจะประมาณ 15-25 ปี ที่ตั้งจิตตั้งใจไปทำบุญทำทานอย่างจริงจัง

ทั้งๆ ที่เรามักได้ยินผลการสำรวจจากสารพัดสำนัก
พร้อมการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่า "คนรุ่นใหม่" ไม่ค่อยให้ความสนใจกับ
"วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา" ส่วน "พิธีการ" นั้นแทบไม่ต้องพูดถึงเลย
เนื่องด้วยอาจจะขาดศรัทธา หรือไม่มีความรู้ความเข้าใจ
และให้ความสำคัญของขนบธรรมเนียมประเพณีทางศาสนาพุทธ

ตลอดจนปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง
ที่บิดามารดาผู้ปกครองทั้งไม่มีเวลา
เนื่องด้วยต้องทำมาหากินดิ้นรนกับการดำเนินชีวิต
ประกอบกับไม่มีความรู้ความเข้าใจหรือ "พร่อง"
จนไม่สามารถที่จะอบรมบ่มสั่งสอน หรือเป็น "แบบอย่าง" ให้กับลูกๆ ได้

อย่างไรก็ตาม ทั้งๆ ที่สารพันปัญหาที่กล่าวข้างต้น
ถึงบรรดาสารพัดโพลที่ทำการสำรวจที่ผลออกมาเป็นเช่นนั้น แต่ในทางกลับกัน
ปรากฏว่าช่วงปิดวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ที่มีประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกเพศวัยที่บางกลุ่มเป็น "คนรุ่นใหม่"
ที่ต่างทยอยหิ้วของถวายพระเดินเข้าสู่วัดวาอารามกันแน่นขนัด
ซึ่งน่าจะสวนทางกับการค้นพบของการสำรวจต่างๆ

สังคมไทย ในช่วงระยะเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา
ได้เปลี่ยนแปลงตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงของ "สังคมโลก" โดยเฉพาะ
ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่เราคงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่ต้องเกาะติดไปตามกระแสโลก
เนื่องด้วย "กลไก (Mechanism)" สำคัญของ "กระแสโลกาภิวัตน์" คือ
"ข้อมูลข่าวสาร" ที่เผยแพร่และครอบคลุมแทบทุกอณูของพื้นผิวโลก
เท่านั้นยังไม่พอ
ยังเป็นข้อมูลข่าวสารที่สามารถติดตามดูชมได้อย่างทันทีทันใด

จากสภาพความจริงดังกล่าว ก่อให้เกิด "การตื่นตัว" ของประชาชน
ในการรับรู้และเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมากขึ้นกว่าเดิม จนทำให้
"การพัฒนาทางความรู้" ในการศึกษานอกหลักสูตรเข้าถึงประชาชนมากยิ่งขึ้น
และเป็น "การพัฒนาทางความคิด" ในที่สุด

แน่นอน "กระแสโลกาภิวัตน์" ก่อให้เกิด "การบริโภคนิยม
(Consumerism)" อย่างกว้างขวางของประชาชนที่อยู่ตามเมืองใหญ่ๆ และตามชนบท
ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นอย่างนี้ทั่วทั้งโลก

และประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกาภิวัตน์ นำพาจาก
"การบริโภคนิยม" เป็น "วัตถุนิยม (Materialism)" จนแทบจะก้าวข้าม
"วัฒนธรรมเดิม (Old Culture)" ซึ่งเป็น "มาตรฐานเดิม (Old Norm)" สู่
"มาตรฐานใหม่ (New Norm)" ที่กลายเป็น "ทุนนิยม (Capitalism)" ในที่สุด

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็หมายความว่า
"ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม" ค่อยๆ ถูกกลืนหายไปกับ "กระแสโลกใหม่"
ทั้งในเชิงบริโภคนิยม วัตถุนิยม และทุนนิยม จนน่าเชื่อว่า "ศาสนา"
จะถูกกลืนหายจากไปด้วยเช่นเดียวกัน

ถามว่า สภาพสังคมยุคใหม่เป็นเช่นนั้นหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า
"เป็นเช่นนั้น!" และอาจจะเกิดขึ้นในสภาพเดียวกันทั่วทั้งโลก
และในทางกลับกัน จากปรากฏการณ์ที่ "แสงแดด" ได้ประสบพบเจอด้วยตาตนเองกับ
"การทำบุญ" อย่างแน่นขนัดในวัดวาอารามต่างๆ ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาที่ผ่านมา
ก่อให้เกิดฉุกคิดว่า "เอ!
สังคมไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกมากมายนัก!
ยังยึดถือกับค่านิยมประเพณีดั้งเดิมด้วยการทำบุญ"

ว่าไปแล้ว ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่า สหรัฐอเมริกา อังกฤษ
ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น โดยเฉพาะสังคมตะวันตก (Western Society)
ทุกวันอาทิตย์ ประชาชนยังนิยมไปโบสถ์กัน จนเสมือนเป็น "ภาคบังคับ" ที่
ประชาชนในแต่ละชุมชนต่างนำอาหารไปที่โบสถ์และรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน
จนเป็น "ประเพณีปฏิบัติ" ทุกวันอาทิตย์ และบางโบสถ์ก็จะมี
"โรงเรียนวันอาทิตย์" หรือเรียกว่า "Sunday School" ที่บรรดาเด็กๆ
ต่างต้องเข้าโรงเรียนเพื่อศึกษา "หลักธรรมะ" ของศาสนาคริสต์

ประเด็นสำคัญ ก็คือว่า ทั้งๆ
ที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะล้ำหน้าไปไกลเพียงใด แต่ "ค่านิยม (Value)" แบบ
ดั้งเดิมที่เกี่ยวกับศาสนาและหลักคำสอนตามศาสนาคริสต์
ประชาชนยังคงยึดมั่น เชื่อถือ ศรัทธา
และประพฤติปฏิบัติถ่ายทอดจากยุคสู่ยุค
แม้นปัจจุบันก็ยังดำเนินการกันอยู่ทุกวันอาทิตย์

สังคมไทยจริงๆ แล้ว แม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่
"ค่านิยม" ใน การประพฤติปฏิบัติประกอบพิธีทางศาสนาพุทธทุกวันอาทิตย์น่าจะมีบ้าง
เพียงแต่อาจจะไม่กว้างขวางมากมายนัก แต่มักประกอบพิธีทางศาสนาพุทธ
เข้าวัดเข้าวา เฉพาะวันสำคัญทางพุทธศาสนาเท่านั้น
หรืออาจจะดำเนินการกันทุกวันอาทิตย์หรือวันเสาร์ก็เป็นได้

จาก บรรยากาศของปรากฏการณ์ที่ไปได้พบเห็นมานั้น ต้องขอบอกว่า
"น่าดีใจ" จนถึงขั้น "น่าศรัทธา" ที่คนไทยรุ่นใหม่บางส่วน
อย่างน้อยร้อยละ 50 ที่ยังยึดถือ "ค่านิยมเดิม"
กับการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาอย่างน้อยก็ทุกวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

แต่ ถ้าสามารถกำหนดให้เป็น "ค่านิยม"
ที่ประพฤติปฏิบัติทุกวันอาทิตย์ได้ จะทำให้เกิด
การเรียนรู้ตามหลักคำสั่งสอนและหลักธรรมของพระพุทธองค์
ที่กล่อมเกลาให้คนไทยยุคใหม่ ยึดถือ "ศีลธรรม"
ที่ดีเพื่อเป็นพื้นฐานทางด้าน "คุณธรรม-จริยธรรม" ที่ดีงาม
อย่างน้อยที่สุดยังเกิด "หิริโอตตัปปะ : ละอายเกรงกลัวต่อการทำบาป"
และสามารถแยกแยะว่า "ผิด ชอบ ชั่ว ดี" เป็นเช่นไร

ทั้ง นี้
ยังนับว่าเป็นการดีที่คนไทยต่างเดินสายทำบุญกับพระและวัดวาอารามตามเทศกาล
และค่านิยมเดิมยังคงมีกระจัดกระจายอยู่บ้างไม่มากก็น้อย!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น