โดย อุษณีย์ เอกอุษณีษ์
เมื่อวานเห็นความเคลื่อนไหวที่คณะอนุกรรมการวิเคราะห์กรอบโครงสร้างรัฐ ธรรมนูญเพื่อปฏิรูปประเทศไทยที่มีศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส เป็นประธาน และมี อ.เธียรชัย ณ นคร เป็นเลขานุการได้โยนข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปการเมืองโดยบอกว่า จะขอยืมโมเดลฝรั่งเศสยุคประธานาธิบดี นิโคลาส ซาร์โคซี่ มาใช้ ที่บอกว่าจะให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการ” ขึ้นมาอีกชุดมีหน้าที่ไตร่ตรองและเสนอแนะแนวทางในการทำให้สถาบันต่างๆ ของประเทศมีความทันสมัยและสมดุลยิ่งขึ้น โดยจะศึกษาแนวทางต่างๆ ในการแก้รัฐธรรมนูญ ให้มีคณะกรรมการ 10 กว่าคนที่เป็นนักวิชาการล้วน
เมื่อได้ผลการศึกษาก็รายงานต่อผู้นำประเทศ ก่อนเผยแพร่รายงานสู่สาธารณะเพื่อนำไปสู่การอภิปรายอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งเสนอจะให้มีการทาบทาม ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มาเป็นประธานคณะทำงานที่ว่านี้ โดยมีเงื่อนไขให้ ศ.ดร.อมร ไปตั้งทีมงานนักวิชาการของตัวเองขึ้นมา
จนถึงขณะนี้ผู้เขียนเองก็ไม่อาจทราบได้ว่า ศ.ดร.อมร ท่านจะรับคำเชิญครั้งนี้หรือไม่ แต่เท่าที่ผู้เขียนจำได้ ครั้งหนึ่งศาสตราจารย์ท่านเดียวกันนี้ เคยเขียนงานเรื่องการปฏิรูปการเมืองและมีช่วงตอนหนึ่งน่าสนใจมาก พอจะสามารถหยิบเทียบเคียงกับอารมณ์ความรู้สึกของคนสังคม ที่ขาดความเชื่อมั่นในเรื่องการปฏิรูปประเทศรอบใหม่ ที่นายกฯอภิสิทธิ์ภูมิใจนำเสนอ
โดยในบทความเรื่อง ปฏิรูปการเมืองภาค 2 : ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ; การเล่นเกม - เกมของใคร หน้า 129 - 131 อาจารย์อมรท่านได้เปรียบเทียบการปฏิรูปประเทศที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และความพยายามจะให้เกิดการปฏิรูปประเทศอีกครั้งในสมัยปัจจุบันไว้อย่างนี้ ค่ะ ท่านว่า...
“.. ผู้ใดก็ตามที่จำต้องเข้ามารับผิดชอบการบริหารประเทศไทย ในขณะที่ประเทศมีภัยภายนอกคุกคามจากลัทธิการขยายอาณานิคม (colonization) ของประเทศมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งหากดำเนินการผิดพลาดก็คือการนำคนไทยทั้งชาติต้องตกเป็นเมืองขึ้นของ ประเทศมหาอำนาจเหล่านั้น และวิธีแก้ปัญหาที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นได้ ก็คือ จะต้องทำการปฏิรูป ทั้งการปฏิรูปการเมือง (สถาบันการเมือง) และการปฏิรูปการบริหาร (กลไกราชการประจำ) ให้เร็วที่สุด ทั้งๆ ที่สภาพสังคมวิทยาการเมืองของชุมชน/และชนชั้นนำยังด้อยพัฒนา ใครผู้นั้นย่อมต้องเป็นอัจฉริยบุคคลอย่างไม่ต้องสงสัย
สิ่งที่แน่ชัดจากประวัติศาสตร์ ก็คือ รัชกาลที่ 5 ทรงเลือกที่จะสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นก่อน และใช้พระราชอำนาจอันสิทธิขาดของพระองค์ในฐานะกษัตริย์ทำการ government reform (administration reform) ขึ้นก่อน และจะทำการปฏิรูปการเมืองภายหลัง โดยจะให้รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน เหตุผลปรากฏชัดแจ้งว่า การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงปฏิรูปการเมือง และยังไม่พระราชทานรัฐธรรมนูญในสมัยของพระองค์ท่าน ก็เพราะมีอุปสรรคสำคัญเกี่ยวกับสภาพสังคมวิทยาการเมือง-political sociology ทั้งของชนชั้นนำ-elite และชุมชนของสังคมไทยนั่นเอง ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสครั้งสำคัญ 2 ครั้งดังกล่าวข้างต้น”
“...ประสบการณ์ของรัชกาลที่ 5 เป็นสิ่งที่คนไทยสมควรต้องกลับนำมาทบทวน เพราะสภาพการณ์ในปัจจุบันนี้เป็นยุคแห่ง globalization ในปลายศตวรรษที่ 20 เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นี้ ไม่แตกต่างกับการขยายอำนาจในยุคแห่ง colonization ในสมัยเมื่อ 200-100 ปีก่อน หากแต่จะแตกต่างกันไปก็แต่ในรูปแบบของวิธีการ และยุทธศาสตร์เท่านั้น (โปรดดูหัวข้อว่าด้วย geopolitics) และวิธีแก้ปัญหาของประเทศด้อยพัฒนา (รวมทั้งประเทศไทย) ก็คือ จะต้องมองปัญหาด้วยความคิด (ปัญญา) เพราะสังคมในปัจจุบัน นักวิชาการ (ของประเทศพัฒนาแล้ว) บางคนเรียกว่า เป็นสังคมของความรู้-society of knowledge
สภาพของประเทศไทยในสายตาของประเทศมหาอำนาจ (ในปัจจุบัน) ก็มิได้แตกต่างกับสายตาของประเทศมหาอำนาจ (ในอดีต) สภาพสังคมวิทยาการเมืองของชุมชน/ชนชั้นนำของไทยก็ยังด้อยพัฒนาอยู่เช่นเดิม (เมื่อเปรียบเทียบกับการพัฒนาของประเทศที่พัฒนาแล้ว) และ ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยก็คงต้องการการ reform ทั้งการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบบริหาร เช่นเดียวกับในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน เป็นแต่ว่า ในครั้งนี้คือในปัจจุบัน เราไม่มีรัชกาลที่ 5 (กษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์) ที่จะคิดแก้ปัญหาให้คนไทย เรามีแต่นักการเมืองที่แสวงหาโอกาสหาประโยชน์จากสภาพการเมืองในระบบรัฐสภา จากสภาพทางสังคมของชุมชนที่ยังไม่พัฒนา และจากสภาพกลไกการบริหารตามกฎหมายที่พิกลพิการ”
ความเปรียบเทียบข้างต้นที่ศาสตราจารย์อมรท่านให้เป็นตัวอย่างนั้น ท่านชี้ให้เราเห็นในประการสำคัญที่ว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ ตัวผู้นำการปฏิรูปเป็นประธานสำคัญที่นอกจากจะต้องเป็นผู้ยึดมั่นผลประโยชน์ ของประชาชนเป็นที่ตั้งแล้ว ยังต้องเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองที่แข็งแกร่งด้วยจึงจะผลักดันให้เกิดผล สำเร็จได้
สภาพของรัฐบาลผสมที่ยังต้องพึ่งจมูกพรรคร่วมรัฐบาลหายใจ และใช้กองทัพเป็นหลังพิงนั้น ต่อให้คุณอภิสิทธิ์มีความแน่วแน่ปานใด ต่อให้ผนึกกำลังเหนียวแน่นกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีต้นทุนทางสังคมสูง ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอประเวศ หรือท่านอานันท์ ปันยารชุนอย่างเต็มที่แค่ไหน แต่โอกาสจะทำให้วงล้อการปฏิรูปขับเคลื่อนได้ ก็ยังเห็นไปได้ยากยิ่ง
เพราะต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลวันนี้อยู่ได้ล้วนต้องพึ่งพิงพรรคร่วมรัฐบาล และกองทัพเป็นหลัก เป็นพรรคร่วมฯ ที่แวดล้อมไปด้วยพรรคการเมืองแบบเก่าๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นภูมิใจไทย หรือชาติไทยพัฒนา ที่ไม่อาจยอมรับกระทั่งการเปลี่ยนแปลงบางประการในรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2550 ทั้งที่อยู่บนพื้นฐานประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง แล้วนับประสาอะไร จะไปคาดหวังเรื่องร่วมมือผลักดันปฏิรูปประเทศจากคนเหล่านี้
ประกอบกับองคาพยพของคณะทำงานที่ถือกำเนิดหลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม ที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ทาบทาม และแต่งตั้งขึ้นมารวม 4 ชุดใหญ่ หลายชุดย่อย และนับแล้วมีบุคลากรนับร้อยใช้เวลาทำงานนาน 3 ปี (ระหว่าง 3 ปีนี้จะผ่านมันไปอย่างไรท่ามกลางบรรยากาศความขัดแย้งเช่นนี้?) ใช้งบประมาณอย่างน้อย 200 ล้านบาท
แต่ จนถึงวันนี้ ก็ยังขาดความชัดเจนว่า กรรมการทั้ง 4 ชุดทำหน้าที่สอดประสานกันอย่างไร หรือจะแยกกันเดินไปคนละทิศละทาง ถามว่า กรรมการชุดแสวงหาข้อเท็จจริง เมื่อพบแล้ว จะนำความจริงดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างไร คณะกรรมการอิน-จันสองแรงแข็งขัน จะนำข้อเท็จจริงที่ได้ไปกลั่นกรองออกมาเป็นยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปด้วย หรือไม่ แล้วสุดท้ายใครจะผลักดันยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้ให้สามารถบังคับใช้ตามกฎหมาย ได้จริง นี่คือคำถามที่อย่างน้อยประชาชนผู้เสียภาษี และสูญเสียค่าเสียโอกาสทั้งหมดอย่างเราๆ พึงจะมีสิทธิร้องถามหาคำตอบได้บ้าง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น