...+

วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553

NOWISM ลัทธิเดี๋ยวนี้!

June 18th, 2010

แปลและเรียบเรียง : สุภลักษณ์ ศุภนัตร์

nownism1

Nowism เป็นกระแสนิยมสินค้าและบริการที่มอบความพึงพอใจแบบฉับพลัน
ด้วยเพราะผู้บริโภคยุคนี้มีพฤติกรรมที่ไม่ชอบการรอคอย
อยากได้อะไรต้องได้ทันที ถ้าไม่ได้ทางนี้ก็จะเลือกทางอื่น
สาเหตุหลักของพฤติกรรมเช่นนี้
เกิดจากภาวะความล้นหลามของสินค้าและบริการในตลาด
ส่งผลให้ผู้บริโภคสมัยนี้ขี้เบื่อ ชอบเปลี่ยน ชอบลอง
ชอบหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ชีวิต (แต่ไม่ชอบการผูกมัด)

การเติบโตของโลกออนไลน์ทำให้การสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลของผู้บริโภคดำเนินไปแบบรวดเร็วทันใจ
"เวลา" กลายเป็นสิ่งมีค่าที่ทุกคนหวงแหน ฉะนั้น
ทุกกิจกรรมในชีวิตจึงต้องมาพร้อมกับความรวดเร็ว สะดวก และสบาย
Trendwatching.com
ได้วิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตของสินค้าและบริการที่มีบทบาทรองรับพฤติกรรม
Nowism นี้ โดยแนวโน้มที่น่าจับตามองนั้นมีอยู่สามแนวทางหลักๆ คือ

1) การสื่อสารบนโลกออนไลน์
เว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหาแบบ Real time จะเป็นสิ่งที่ชาวเน็ตให้ความสนใจ
ผู้คนจะคลั่งไคล้อะไรก็ตามที่ "อัพเดทล่าสุด" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้คน
สินค้า เหตุการณ์ความเคลื่อนไหว รวมไปถึงคำแนะนำ บทวิเคราะห์ บทสนทนา
การเปรียบเทียบราคา การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และอื่นๆ อีกสารพัด
ทุกวันนี้ ถ้าคุณอยากบอกหรืออยากรู้อะไรเกี่ยวกับใคร
คุณก็เสิร์ชหาหรือทวิตกับเพื่อนได้ทันที
แนวโน้มแรกนี้แสดงตัวชัดจากความนิยมของเว็บ Twitter
ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์หนึ่งในกลุ่มพฤติกรรม Nowism ที่บอกว่า
เดี๋ยวนี้โลกของเรากำลังรู้สึกนึกคิด ชอบ ชัง กิน นอน อ่านหนังสือ ดูหนัง
ฟังเพลง ช็อปปิ้ง ไปเที่ยว หรือประท้วงอะไร ที่ไหน อย่างไรกัน

nownism2

มือถือที่เล่นเน็ตได้ คือ อุปกรณ์สำคัญอีกชิ้นที่จะช่วยเร่งกระแส Nowism
ให้แรงยิ่งขึ้น เพราะสมัยนี้คนส่วนใหญ่สามารถออนไลน์ได้ทั้งที่บ้าน
ที่ทำงาน หรือที่ไหนๆ ก็ตามที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ดังนั้น
ถ้ามือถือไม่อำนวย ก็อาจทำให้อารมณ์ขาดตอน คนยุคนี้ติดนิสัย
"ขาดเน็ตไม่ได้" ต้องขอเช็คสถานการณ์และอัพเดทสถานะของเพื่อนสนิท
(รวมทั้งบรรดาเซเล็บที่ชื่นชอบ) กันตลอดเวลานั่นเอง

มีตัวเลขยืนยันปริมาณการใช้งาน Data บนมือถือทั่วโลกว่า
จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุกปีไปจนกระทั่งปีค.ศ. 2013
(ซึ่งอัตราการเติบโตนี้คิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อปีที่เพิ่มขึ้นถึง 131%)
สำหรับในทวีปยุโรป คาดว่าราวปีค.ศ.2014
หนึ่งในสามของประชากรจะมีมือถือที่ใช้อินเทอร์เน็ตได้ นอกจากนั้น
ยังมีการตั้งเป้ายอดการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือให้เพิ่มขึ้นเป็น 39%

2) ขายความสดสมจริง
ทุกวันนี้การแสดงสด (LIVE) และรายการบันเทิงที่ขายความสด สมจริง
ไม่มีตัดต่อหรือเซ็นเซอร์
ถือเป็นรูปแบบความบันเทิงที่มีผู้ชมติดตามเป็นจำนวนมาก
(ทั้งแบบออกหน้าออกตาและแบบแอบๆ ดู) เชื่อได้เลยว่า
ในอนาคตอันใกล้เราคงจะได้เห็นการนำเสนอทุกสิ่งทุกอย่างกันแบบสดๆ
ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา เหตุการณ์คืนประกาศผลเลือกตั้ง
เทศกาลงานประเพณี
และอีกมากมายที่จะทำให้เราได้สัมผัสกับความตื่นเต้นเร้าใจ ความขัดแย้ง
ความอื้อฉาว ฯลฯ กันแบบตรงนั้นเดี๋ยวนั้น ตัวอย่างโชว์ฮิตๆ ในกลุ่มนี้
ได้แก่

nownism3

- รายการเรียลลิตี้โชว์ So you think you can dance :
การประกวดเต้นระดับชาติของอเมริกาที่โด่งดังไปทั่วโลก
รายการนี้จัดทัวร์การแสดงไปทั่วประเทศเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว
เพื่อเปิดให้โอกาสให้แฟนรายการซื้อตั๋วเข้ามาชมการแสดงของผู้เข้ารอบสิบคนสุดท้ายได้แบบสดๆ

- ทัวร์คอนเสิร์ต "Sticky and Sweet" ของมาดอนน่า (ปี 2008-2009) :
ทัวร์นี้กวาดรายได้ทั่วโลกไปถึง 408 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
นับเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์

3) กลยุทธ์ซื้อ-ขายทันใจ
SEE/HEAR/BUY คือ
คอนเซ็ปท์ใหม่ของบริการที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้ทันทีหลังจากที่ได้เห็นหรือได้ฟังข้อมูลเกี่ยวกับตัวสินค้า
ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการมากหน้าหลายตาต่างพากันพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมารองรับพฤติกรรม
Nowism อันนี้ ยกตัวอย่างเช่น

nownism4

- "Midomi" แอพพลิเคชั่นค้นหาเพลงบนไอโฟน : Midomi
ทำให้ผู้ใช้ไอโฟนสามารถอัดเสียงเพลงจากคอนเสิร์ต เสียงร้อง เสียงฮัม
หรือเสียงผิวปากที่เป็นทำนองเพลง
(หรือแม้กระทั่งการเอ่ยชื่อเพลงใส่ลงไปในมือถือ) จากนั้น
มันก็จะทำการค้นหาและแสดงผลของเพลงที่เราต้องการ
พร้อมกันนั้นยังนำเสนอลิงค์เนื้อร้อง มิวสิควีดีโอ
รวมทั้งข้อมูลใกล้เคียงอื่นๆ โดยหากเราฟังแล้วชอบใจ เราก็สามารถ
"คลิกซื้อเพลง" และโหลดลงบนมือถือได้ทันที

- ตู้ขายสินค้าอัติโนมัติ : ความสะดวกทันใจที่เข้ามามีบทบาทในกระแส
Nowism นั้นเรียกว่า
เกินหน้าตู้หยอดเหรียญซื้อเครื่องดื่มหรือขนมขบเคี้ยวไปไกลแล้ว
เพราะอะไรต่อมิอะไรที่คาดไม่ถึงก็เริ่มทยอยมาลงตู้ให้เราไปยืนกดซื้อกันสบายๆ
เช่น ในบาร์เซโลน่ามีตู้กดขายซุปและอาหารกล่องเพื่อสุขภาพ
ในเยอรมันมีตู้กดจ่ายขายกับข้าวง่ายๆเช่น นม ไข่ เนย ชีส มันฝรั่ง
และไส้กรอก ตามคลับที่อังกฤษมีตู้กดรองเท้าบัลเล่ต์ส้นแบนสำหรับสาวๆ
นักเที่ยว (ที่อยากพักขาลงมาจากส้นสูง)

- ร้าน Pop up ที่โผล่ขึ้นมาประเดี๋ยวประด๋าวแล้วปิดตัวไป :
ด้วยองค์ประกอบที่มอบความตื่นเต้นน่าค้นหา
ทุกอย่างเกิดขึ้นในลักษณะฉับพลัน
เป็นเหตุให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการอยากลองสินค้าหรือบริการนั้นๆ ให้ได้
อย่างไรก็ดี ในอนาคตก็มีคนคาดการณ์ไว้ว่าร้าน Pop up
ที่ผุดขึ้นมากมายเหล่านี้จะไปลดความตื่นเต้นของผู้บริโภคลง แบรนด์ต่างๆ
อาจต้องปรับเปลี่ยนหน้าที่ของร้าน Pop up
จากที่เน้นขายสินค้าอย่างเดียวมาเป็นช่องทางในการศึกษาตลาด
ทดลองแนวคิดสินค้า และทำความรู้จักกับผู้บริโภคควบคู่ไปด้วย

- การส่งสารกระตุ้นต่อมซื้อ :
เป็นอีกกลยุทธ์ที่ใช้ประโยชน์จากการนำเสนอข้อมูลแบบ Real Time
โดยผู้ประกอบการสามารถส่งข้อความถึงผู้บริโภคเพื่ออัพเดทสินค้าและบริการของตนได้แบบทันใจ
เช่น ในซานฟรานซิสโก รถขายขนมคัสตาร์ด Creme Brulee ของคุณ Curtis
Kimball มีลูกค้าที่ติดตามอ่านทวิตของเขาอยู่กว่าหมื่นราย
ทั้งนี้เพื่อคอยเช็คว่ารถขนมนี้จะไปตั้งอยู่ตรงจุดไหน
และมีรสชาติอะไรให้เลือกซื้อบ้างในแต่ละวัน

ข้อคิดของชาวพุทธที่บอกไว้ว่า "จงอยู่กับปัจจุบัน"
อาจจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับผู้ประกอบการในยุคนี้ กระแส Nowism
กำลังเปิดช่องให้ผู้ประกอบการได้สร้างธุรกิจกันแบบ "สดๆ"
ขอแค่คุณต้องเร็ว แม่น และตอบโจทย์ให้ได้เท่านั้นแหละ :)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น