...+

วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

หม่องยิ้ม - สามล้อพม่า (๒)

ชัยชนะ โพธิวาระ


            สำหรับการหาผู้โดยสารของสามล้อพม่า ก็ออกจะแปลกกว่าประเทศใดๆซึ่งผมเคยเห็น คือ แทนที่จะถีบโฉบไปมาเพื่อหาลูกค้า หม่องแกกลับนำไปจอดซ่อนไว้ในร่มแล้วเจ้าตัวก็เดินหาผู้โดยสาร

            บางทีไปได้ผู้โดยสารห่างจากที่จอดสามล้อไกลเป็นกิโลเมตร กว่าจะพากันเดินมายังที่จอดรถก็หอบกันแฮ่กๆทั้งสองฝ่าย
            ที่ร้ายยิ่งกว่านั้น ก็คือ หากผู้โดยสารมีข้าวของต้องแบกหามละก็ถือว่า เป็นหน้าที่ที่จะต้องหอบหิ้วเอาเอง งานนี้สารถีไม่เกี่ยว และเมื่อถึงสามล้อแล้วก็มิใช่ว่าจะได้บางบนที่รองเท้าเหมือนสามล้อบ้านเรานะครับ ทั้งนี้เพราะสามล้อพม่าแคบนิดเดียว เรียกว่าพอดีพอดีกับก้นคนนั่ง ดังนั้น ของที่นำมาจะต้องแบกไว้บนบ่าจนถึงบ้าน
           
            ผมเคยไปพบสารถีคนหนึ่งที่เจดีย์ซูเล ห่างจากโรงแรมที่พักประมาณแปดร้อยเมตร และถามว่าจะใช้บริการสามล้อของแกรึเปล่า โดยอธิบายเพิ่มเติมว่าเป็นสามล้อใหม่เอี่ยม ถีบเร็ว ปลอดภัย
            อีตอนนั้นผมออกมาเดินชมตลาดเล่น โดยเริ่มต้นจากริมแม่น้ำร่างกุ้ง ผ่านอาคารพาณิชย์ต่างๆเรื่อยมาจนถึงถนนซูเลซึ่งเป็นทางสายกลางเมือง รู้สึกเข่าอ่อนเดินป้อแป้ๆพอดี

            เห็นสามล้อมาเสนอตัวอย่างนั้น ก็เลยคิดว่านั่งกลับโรงแรมก็ดีเหมือนกันจะได้รักษาสุขภาพหัวเข่าเอาไว้มิให้เสื่อมสภาพ จนเดินย่องๆแย่งๆเหมือนพี่ต่วย
            เลยบอกตกลง
            "งั้นตามมาทางนี้เลย" สารถีบอก
            ผมก็เดินตามเพราะนึกว่าสามล้อของแกคงจอดอยู่ข้างตึกแถวๆนั้น
            ปรากฏว่าเดินมาเป็นร้อยเมตรแล้วก็ยังไม่ถึงซักที ผมเลยต้องถามเพื่อความกระจ่าง
           
            "นี่ยูพาไปขึ้นสามล้อใช่มั้ย" กลัวว่าจะแกจะอาสาพาไปเดินเล่นเพราะพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่องอยู่ด้วย คือ ผมพูดไปหม่องแกก็งง พอแกตอบมาบ้างผมก็เง็ง
            "เยส" ตอบชัดเจน
            "แล้วยูจอดสามล้ออยู่ไหน"
            "ใกล้ๆเอง"
            "แต่ไอเดินตามมากว่าร้อยเมตรแล้วนะ"
            "เดี๋ยวก็ถึง"
            "ยูจอดไว้ไหน" ผมถาม
            "หลังโรงแรมสเตรนต์"

            ผมหยุดเดินทันทีเพราะไอ้โรงแรมที่ว่านั้นคือที่พักของผมเอง ก็เมื่อต้องเดินตามหม่องแกไปจนถึงโน่นแล้ว ผมจะต้องไปนั่งสามล้อให้เปลืองตังค์ทำไมเล่า ขึ้นลิฟต์ไปนอนเลยจะไม่ดีกว่าเรอะ
            บ๊ะ ยังงี้ก็มีด้วย
           
            ก็ไม่รู้ประเพณีอะไรของเขาละครับถึงได้ชอบจอดสามล้อเอาไว้ แล้วเจ้าของเดินเกร่ไปหาลูกค้าเสียไกลลิบอย่างนั้น
            อดไม่ได้ต้อมถามสามล้อหนวดจิ๋มคนหนึ่งว่าเหตุไฉนไม่ถีบตระเวณหาคนไปเรื่อยๆ แทนการจอดหลบมุมแล้วตัวเองเป็นฝ่ายเดินจนเมื่อยตุ้ม
            "ไอประหยัดพลังงานน่ะ"
            "ก็ยูลองนึกดูซีว่า ถ้าไอถีบไปเรื่อยๆ แล้วกว่าจะเจอผู้โดยสารต้องเสียพลังงานไปเท่าใด สู้จอดไว้เฉยๆอย่างนี้ดีกว่า เวลามีคนนั่งถึงออกแรงปั่นแบบนี้ประหยัดพลังงานกว่ากันเยอะ"

            "แปลว่าต้องมีคนนั่งถึงจะถีบว่างั้นเถอะ"
            "เยส"


            เออ ก็เข้าใจทำ นี่สงสัยเวลาออกจากบ้านคงต้องจูงเอาเพราะตอนนั้นไม่มีผู้โดยสารนั่ง
            เพราะต้องการประหยัดพลังงานอย่างนี้กระมัง สามล้อพม่าจึงนั่งหาวไม่ค่อยมีใครว่าจ้างไปไหนสักที
            จะมีอยู่บ้างก็เฉพาะฝรั่งขี้ตืดซึ่งเอาความถูกเข้าว่าเท่านั้น ที่ว่าจ้างมานั่งทัวร์รอบๆเมือง ซึ่ง โดยวิธีนี้ก็มีข้อจำกัดอีกนั่นแหละว่า ต้องเป็นฝรั่งผอมเท่านั้น
            พวกฝรั่งอ้วนท่านว่าหมดสิทธิ์
            เหตุผลก็ไม่มีอะไรมาก สามล้อพม่านั้นสร้างไว้สำหรับคนผอมนั่งโดยเฉพาะ เนื่องจากกระบะที่นำมาพ่วงด้านข้างของจักรยานน่ะ มีลักษณะคล้ายลังเล็กๆให้ก้นที่มีความหนั่นไม่เกินสี่สิบนิ้วนั่งเท่านั้น

            ใครบ๊ะกว่านี้หมดสิทธิ์
            ถึงหม่องสารถีจะยินยอมแต่แหม่มแกก็นั่งไม่ลงอยู่ดี และนอกจากนี้ยังเป็นการเสี่ยงโดยใช่เหตุอีกด้วย เพราะสามล้ออาจหลุดจากรถพ่วงเมื่อไหร่ก็ได้
            นอกจากนี้เวลาขึ้นเนินก็มีสิทธิ์หงายท้องได้เช่นกัน

            และเคยปรากฏเป็นประวัติมาแล้วว่าสารถีคอนน้ำหนักขึ้นรถไม่ไหวรถไหลลงข้างล่าง สุดท้ายหม่องเลยแก้ปัญหาโดยการกระโดดหนีเอาตัวรอด ปล่อยให้แหม่มไถลย้อนลงมาตามยถากรรม
            แล้วผลจะออกมายังไงท่านลองหลับตานึกดูเอาเองเทอญ

            นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งในการนั่งสามล้อพม่า นั้นคือเวลาออกและเวลาเบรค
             ก็เพราะตัวรถพ่วงเป็นลังไม้มีความยาวราวๆแปดสิบเซ็นติเมตร ตรงกลางมีไม้แผ่นหนึ่งคั่นเอาไว้ให้ที่นั่งแบ่งเป็นสองส่วนหน้าหลัง คนหนึ่งหันหน้าไปทางเดียวกันกับคนอื่น ส่วนอีกคนหนึ่งนั่งหันหลัง
            ให้ผู้โดยสารหันหลังพิงกันนั่นแหละครับ
            ทีนี้เวลาออกทัวร์ทั้งคนนั่งหน้าและหลังจะต้องระมัดระวังอยู่เสมอ เพราะอาจเกิดอารบาดเจ็บได้ตลอดเวลา

            โดยเฉพาะเวลาเบรค
            หากฐานกรุณาคนนั่งหน้าและหลังก็หัวชนกันเองละครับ บางรายกว่าจะทัวร์รอบเมืองร่างกุ้งปรากฏว่าหัวโนเป็นลูกมะกรูดตั้งหลายแห่ง
            แต่ถ้าไปเจอสารถีซิ่ง อันนี้ค่อนข้างจะแย่ เผลอๆ อาจต้องเลือดตกยางออกได้
           
            คนนั่งหลังดูจะไม่ค่อยอันตรายเท่าไหร่ เพราะถึงมีรถสวนก็แค่สาหัส หรือถ้าคุณหม่องแกออกตัวสะวิ้ดสะว้าดหน่อยก็แค่หน้าคว่ำ
            แต่คนนั่งหน้าซี มันส์มาก

            อีตอนออกตัวลน่ะไม่เท่าไหร่หรอก แต่ตอนเบรคนี่ อตร.อันตรายนักหนาเพราะว่ามีสิทิ์แซงคนถีบได้ โดยเฉพาะตอนจอดไฟแดงตามสี่แยก หากคนนั่งเพลิน, คนปั่นหยุดกระทันหันละก็รับรองดูไม่จืดเด็ดขาด

            จะอะไรเสียอีกล่ะก็หน้าคว่ำร่างพุ่งเป็นตอร์ปีโดเข้าหารถที่วิ่งสวนทางมาในถนนตรงข้ามน่พซี ลักษณะแบบนี้ฝรั่งสาหัสมาหลายรายแล้ว
            ด้วยคุณลักษณะที่มีข้อจำกัดค่อนข้างมากนี่เอง เลยทำให้สามล้อพม่าไม่ฟู่ฟ่าเหมือนสามล้อไทย หรือ สามล้อมาเลย์ คนที่ประกอบอาชีพนี้มีรายได้วันละไม่กี่จ๊าดเอง บางรายไม่ถึงสิบก็มี
            แต่เท่าที่ผมดูแล้ว พี่หม่องแกไม่ค่อยจะเดือดเนื้อร้อนใจอะไรนัก พอจอดสามล้อเข้าซอกตึกหรือใต้ร่มไม้เสร็จ ก็เดินวนหาผู้โดยสารแถวนั้นแต่พอเป็นพิธี ก่อนจะกลับมานั่งหลับนกในกระบะที่นั่ง
           
            นานๆถึงจะมีเหยื่อหลงมาสักคน ก็รีบตื่นเช็ดขี้หูขี้ตาแล้วปั่นจนโสร่งปลิวพะเยิบพะยาบ
            ถ้าเป็นฤดูร้อนหรือฤดูฝนผู้โดยสารจะหายากยิ่งกว่าทองคำ เพราะเขานั่งรถเมล์และสองแถวกันหมด เนื่องจากสามล้อไม่มีหลังคา เวลาแดดจัดๆ ใครนั่งก็ต้องเสี่ยงดวงจากการเป็นลมแดดหรือร้อนจนหัวใจวายตายไปเอง

            ด้วยเหตุนี้จึงมีบัญญัติว่า หากใครคิดจะนั่งสามล้อละก็ ต้องเตรียมสิ่งต่อไปนี้ไว้เสมอ
            หนึ่ง หมวกหรือร่ม
            สอง ยาลม
            สาม พลาสเตอร์และยาแดง

            จึงปรากฏว่า ถ้าเป็นชาวพม่าด้วยกันละก็เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของผู้โดยสารจะเป็นเด็กหนุ่มๆ ที่มีการเคลื่อนตัวคล่องแคล่วว่องไว เพราะหากเกิดเหตุอะไรขึ้นจะได้ใช้วิชาตัวเบากระโจนหนีทัน

            นอกจากนั้นผมยังสังเกตเห็นวัยรุ่นเหล่านี้มีวิธีลงสามล้อที่ค่อนข้างแปลกคือ พอถึงที่หมายก็กระโจนแล้ววิ่งขึ้นฟุตบาธโดยสามล้อไม่ต้องหยุด

            ไม่ใช่ครั้งเดียวนะครับ ผมเห็นตั้งหลายครั้ง เลยเข้าใจว่านั่นเป็นมาดอันเฉียบขาดของวัยรุนหม่องก็ได้ และสามล้อเองก็รู้ว่า ถ้าเป็นหนุ่มๆละก็พี่แกจะเฉียดเข้าไปให้กระโดดลงมาเอง

            ตอนแรกก็เดาว่าเป็นเพียงบางคัน แต่มารู้เอาว่าเป็นกันหมดก็เมื่อตอนผมว่าจ้างจากอนุสาวรีย์อิสรภาพกลับมายังโรงแรมตอนเย็นวันหนึ่ง  เพราะก่อนจะขึ้นแกก็เก็บตังค์ (เพื่อกันการเปลี่ยนใจกลางทางกระมัง) จากนั้นก็ปั่นแบบเร็วจี๋เพื่อเป็นการโชว์ฟอร์มจนผมต้องจับขอบกระบะนั่งเสียตัวเกร็ง เนื่องจากไม่ได้เตรียมยาแดงมาตามหลักสามข้อ

            พอถึงตะแกก็แฉลบเข้าข้างทาง แล้วหันมามองดูผมในทำนองว่าโดดซีถึงแล้ว
            แห่ะ ผมจะโดดได้ยังไงเล่าอายุปูนนี้แล้ว
            หม่องสารถีชะลอรถไปเรื่อยๆจนผมเห็นว่าขืนนั่งอยู่ต่อไปคงเป็นการเสียฟอร์มไทยแลนด์แน่ จึงตัดสินใจโหย่งก้นกระโดดผลุงลงทันที
            ได้ผล

            ร่างเซแซ่ดๆไปขนเสาไฟแสงจันทร์ข้างทางดังโครม จุกจนเกือบจะเผลอร้องออกมา แต่กลัวว่าจะเป็นที่อับอายจึงกลั้นใจเดินเฉยแล้วทำทีเป็นมองเสาไปในทำนองว่า
            "มาตั้งไว้ไม่รู้จักกาละเทศะ ทำให้แขกผู้ทรงเกียรติจากต่างประเทศชนเอาได้"
            ครับ ก็เลยขอเตือนว่าใครที่ยังไม่แก่แล้วคิดจะไปนั่งสามล้อพม่าละก็ต้องฝึกการกระโดดเอาไว้ให้ดี จะได้ไม่ขายหน้าประเทศชาติเหมือนอย่างผม

            และที่สำคัญ ก่อนเรียกสามล้อนั่งก็อย่าลืมทำตามกฎข้อสาม
            เตรียมพลาสเตอร์และยาแดงเอาไว้ด้วย

          
           


ที่มา  ต่วยตูน เดือนมีนาคม ๒๕๓๑ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น