...+

วันเสาร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553

โครงการตามความต้องการของประชาชน กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

            พื้นที่สวยงามพื้นที่หนึ่ง มีทั้งที่ราบและที่สูง ที่ราบติดแม่น้ำส่วนที่สูงติดอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย มีทั้งหมด 34,953 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 13,557 คน รวม 4,932 ครัวเรือน แบ่งเป็น 10 หมู่บ้าน นับเป็นตำบลที่มีพื้นที่มากตำบลหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่
            ตำบลดอนแก้วมีนายก อบต. ชื่อ นายนพดล ณ เชียงใหม่ ซึ่งนายกท่านนี้มีมุมมองเกี่ยวกับกองทุนฯ ว่า เป็นสิ่งที่ดีเพราะการมีสุขภาพที่ดีเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้ประชาชนทำสิ่งอื่นๆต่อไปได้ และการมีกองทุนฯ ทำให้การทำงานเกี่ยวกับสุขภาพมีความคล่องตัวขึ้น ซึ่งประโยชน์ที่ได้มานั้น เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างแท้จริงดังคำพูดที่ว่า

            "การสร้างกองทุนฯ ให้เกิดความยั่งยืน น่าจะเกิดจากความคิดที่ว่าการดูแลสุขภาพต้องสร้างให้ประชาชนมีความรู้ ในการป้องกัน ส่งเสริมและดูแลสุขภาพของตน เพราะผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากกองทุนฯ คือ ประชาชน"
            การบริหารงานของ อบต.ดอนแก้ว เป็นการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน ซึ่งทุกภาคส่วนต้องการเห็นความสำคัญในการสร้างหลักประกันสุขภาพว่า เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น ไม่ใช่พึ่งพาเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพเพียงฝ่ายเดียว

            โครงการเริ่มต้นจากประชาชนในพื้นที่ทุกโครงการ คือ ชาวบ้านจะเสนอโครงการขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง อบต.มีหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนฯ และทำการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง ส่วนผู้ที่มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานตามโครงการนั้น จะทำงานกันแบบพี่น้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ประเด็นหลักในการสร้างความเข้าใจคือ การมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และสามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้
            โครงการสร้างหลักประกันสุขภาพของตำบลดอนแก้วนั้น เกิดขึ้นถึง 23 โครงการ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่  ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้พิการ โครงการดีเด่นของ อบต.ดอนแก้ว คือ โครงการถักทอสายใยร้อยใจผู้พิการ ซึ่งจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ มีการรวมตัวกันของผู้พิการในชุมชน มาชุมนุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ ว่าจะดำรงชีวิตอย่างไรให้มีสุข และเกิดทำประโยชน์ต่อชุมชน

            การจัดทำโครงการเช่นนี้ สามารถทำให้ผู้พิการที่อยู่ในชุมชนมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีทัศนคติที่ดีและมีกำลังใจในการดำรงชีวิตเพราะนี่เป็นพื้นฐาน ในการสร้างหลักประกันทางด้านสุขภาพให้คนพิการ
            ปัจจัยที่ทำให้กองทุนฯ มุ่งไปสู่ความสำเร็จ คงต้องเริ่มต้นที่ผู้นำชุมชนสนใจและมองเห็นความสำคัญของกองทุนฯ ว่ามีประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ ตามด้วยคณะทำงานไม่ว่าจะเป็น อสม. หรือคนในชุมชนเอง ที่ทำงานด้วยความเข้าใจ เสียสละเวลาเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง  รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ที่เข้าถึงประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำประชาคมในหมู่บ้าน การพูดผ่านเสียงตามสายในหมู่บ้าน หรือ การเข้าถึงชุมชนผ่านผู้ใหญ่บ้านและกำนัน และการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ภายในหมู่บ้าน

            หากการสร้างหลักประกันสุขภาพนั้น เกิดจากความต้องการของประชาชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ชุมชนปลอดโรค ชีวิตปลอดภัย ก็คงไม่ไกลเกินฝันสำหรับชาวดอนแก้ว

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
วราพร วันไชยธวงศ์
เจนนารา สิทธิเหรียญชัย
อัญชลี นิลเป็ง
จินตนา พรสัมฤทธิ์โชค
สุภาพร อิศรางกูร ณ อยุธยา
วพบ.เชียงใหม่



 
ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น