เรียบเรียงโดย กฤนกวรรณ สุวรรณกาญจน์
"ฮู้สึกฮักคุณหมอ อยากซอบเพิ่น ดูแลสุขภาพชาวบ้านในตำบลของเฮา ให้บ่มีไข้ มีเจ็บ เพิ่นให้ซอยหยังก็สิซอยกันหมด ยามเฮ็ดงานแล้วพวกเฮา อสม.ก็สิบ่เอาเงินดอก เอาคืนเพิ่นหมด ให้เพิ่นเก็บเข้ากองทุนคื้อเก่า" เจ้าหน้าที่ อสม.ตำบลหนองสวรรค์
คำกล่าวข้างต้น เป็นความรู้สึกจากใจของทีมรับจ้างบริการประชาชน ประจำตำบลหนองสวรรค์ ทีมงานนี้มีความโดดเด่นในเรื่องงานอาสาสมัคร ผ่านกระบวนการทำงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เน้นงานเชิงรุกที่ออกตรวจคัดกรองโรค ให้คำแนะนำปรึกษาในการรักษาตัว ด้วยเป้าหมายเดียวกัน คือ "ถ้าสุขภาพดี สิ่งดีดีอีกหลายอย่างจะตามมา"
ที่น่าทึ่งคือ ทุกคนทำงานมา 3 ปี โดยไม่รับค่าตอบแทน
แต่เดิม ตำบลหนองสวรรค์มีพื้นที่อยู่ในเขตอำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี คนส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาเป็นหลัก ต่อเมื่อมีการจัดประชุมลูกบ้านเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องการดำเนินการกองทุนฯ โดยมีหัวหน้าสถานีอนามัยเป็นผู้นำทางความคิด เฟ้นหาสภาพปัญหาทางด้านสุขภาพเพื่อหาทางป้องกันร่วมกัน
ผลที่สุด หลังจากได้ระดมพลังสมองจากการมองสภาพปัญหาในทุกระดับ แตกผลออกมาเป็น 8 กิจกรรม หญิงตั้งครรภ์สุขภาพดี, เด็ก 0-6 ปี พัฒนาการสมวัย , ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและผู้พิการ , ควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อ, เฝ้าระวังเชิงป้องกันในผู้ป่วยเรื้อรัง ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพรวมไปถึง งานพัฒนาบุคลากรในการจัดการงบประมาณ
"เราแบ่งงานกันทำ แข่งขันกันเพื่อให้เกิดผล แต่ใช่ทะเลาะเบาะแว้ง" อสม.หน่วยรับจ้างบริการประชาชนกล่าว
การจัดกิจกรรมทางด้านสุขภาพที่ค่อนข้างประสบผลสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์สุขภาพดี-เด็ก 0-6ปีพัฒนาการสมวัยและ กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุโดยมีหน่วยบริการสาธารณสุขเข้ามาเป็นส่วนให้ความรู้ ดำเนินกิจกรรมป้องกันโรคไม่ติดต่อและเฝ้าระวังสภาวะสุขภาพของประชาชน กิจกรรมโครงการควบคุมไข้หวัดนก ผลการดำเนินงาน พบว่า ประชาชนมีความพอใจและให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ มีการจัดเก็บเอาไว้ในรูปแบบของฐานข้อมูล
อย่างไรก็ดี การทำงานย่อมมีอุปสรรคซึ่งเกิดจากการขาดการประชาสัมพันธ์และความไม่เข้าใจในระเบียบของกองทุน
สิ่งที่เป็นจุดเด่นของกองทุนฯ ตำบลหนองสวรรค์ คือ การสร้างทีมงานที่มุ่งมั่นและเสียสละ
"สุขภาพของคนในตำบล คือ ความรับผิดชอบของ อบต." แนวคิดนี้เป็นแนวคิดของ นายก อบต. ซึ่งมีผลต่อความตั้งใจมั่นทำให้กองทุนฯตำบลหนองสวรรค์ประสบความสำเร็จและก่อเกิดการมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้าง จากประชาชนทุกกลุ่ม พบว่า เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายกรณี อย่างเช่น ผลของการทำงานร่วมกันทำให้เกิดทีมระดับท้องถิ่นที่เข้มข้น ร่วมกัน อบต. สถานีอนามัยและแกนนำภาคประชาชนชูสโลแกนที่ว่า "ร่วมมือ ร่วมใจ ไม่แตกแยก"
ในส่วนของผลงานที่ประชาชนได้รับ คือ การดูแลเอาใจใส่ทางด้านสุขภาพ โดยเน้นมาตรการเชิงรุก เกิดการแข่งขัน สร้างและวางระบบทางด้านคุณภาพชีวิตแก่คนในตำบล ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเพราะความศรัทธาของการอุทิศตนเพื่อสร้างระบบสุขภาวะที่ดี ทั้งหมดเหล่านี้เป็นปัจจัยของความสำเร็จของกองทุนฯ ตำบลหนองสวรรค์
ข้อเสนอแนะ
1. เพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือและสร้างทีมงานให้แข็งแกร่ง ขยายวงออกไป ควรจัดอบรมวิธีการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่กลุ่มครู
2. เปิดโอกาสให้ทุกคนในหมู่บ้านเสนอโครงการ อย่างมีส่วนร่วม และให้ชาวบ้านเป็นคนทำโครงการ จะช่วยทีมงานได้มากและเกิดผลสัมฤทธิ์และความยั่งยืน
3. เปิดโอกาสให้แกนนำเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกองทุน
ทั้งหมดล้วนเกิดจากความมุ่งมั่นในการร่วมสร้างเสริมระบบสุขภาพอนามัย สร้างระบบคุณภาพชีวิตที่ดีแก่คนในตำบล
อโรคยาปรมาลาภา เป็นพรอันประเสริฐ ยิ่งมิใช่ฤา
ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
กาญจนา สานุกูล
ยลฤดี ตัณฑสิทธิ์
อรัญญา ศรีสุนาครัว
เอกชัย ด่านชาญชัย
ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น