...+

วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พระราชวิจารณ์ - วรรณคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ประวัติ - พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ได้ชื้อว่า "พระราชวิจารณ์"
เพราะเป็นพระราชวิจารณ์เกี่ยวกับจดหมายเหตุของเก่าฉบับหนึ่ง
ซึ่งหอพระสมุดวชิรญาณนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๑
ทรงมีพระราชดำริว่า เป็นหนังสือมีหลักฐานสำคัญมากเล่มหนึ่ง
ควรแก่การทรงพระราชวิจารณ์ประกอบไว้
ทรงค้นหาผู้บันทึกจดหมายเหตุเรื่องนั้นได้ว่า คือ กรมหลวงนรินทรเทวี
พระนามเดิมว่า "กุ"
ทรงเป็นพระเจ้าน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
จดหมายเหตุฉบับนี้เป็นบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ของบ้านเมือง
ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าครั้งสุดท้าย
สมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ทำนองแต่ง - ใช้ร้อยแก้ว
ข้อคิดเห็น - สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ประทานพระมติเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ไว้ในคำนำ ฉบับพิมพ์ เมื่อ
พ.ศ.๒๔๕๙ ว่า พระราชนิพนธ์เรื่องนี้
ทรงโดยตั้งพระราชหฤทัยจะพระราชทานความรู้อันผู้อื่นจะไม่พึงรู้
หรือจะรู้เห็นได้ด้วยยากนั้น แก่บรรดาผู้เอาใจใส่ศึกษาโบราณคดีทั่วไป
ถึงผู้ไม่มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดพระองค์ ถ้าอ่านหนังสือเรื่องนี้ดู
โดยพิเคราะห์ก็จะแลเห็นได้ว่า ในการที่ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะต้องทรงลำบากกรากกรำพระองค์สักเพียงใด
เพราะฉะนั้น หนังสือพระราชวิจารณ์เรื่องนี้ ควรบรรดาผู้ศึกษาโบราณคดี
จะถือว่าเป็นของวิเศษ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงประดิษฐ์คิดสร้างขึ้นด้วยกำลังพระปรีชาญาณ และพระวิริยะอุตสาหะ
เพื่อพระราชทานเป็นมรดกแก่บรรดาผู้โดยเสด็จในทางศึกษาโบราณคดี
ทั้งในชั้นนี้และชั้นหน้าในอนาคตกาลสืบไปไม่มีที่สุด
และไม่รู้สิ้นประโยชน์ที่จะพึงได้จากหนังสือพระราชวิจารณ์
ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในเล่มนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น