...+

วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553

หน่วยบริการฉุกเฉิน EMS กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วรตำบลเหนือ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

เรียบเรียงโดย นพรัตน์ จิตรครบุรี


      สุขภาพดี ในความหมายของชาวชุมชนตำบลเหนือ มองว่า สุขภาพดีต้องเริ่มตั้งแต่ในครรภ์ ทุกคนได้อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี บริโภคพืช ผัก ปลอดสารเคมี มีร่างกายแข็งแรง และคนในหมู่บ้านได้รับการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง

      นอกจากนี้ชุมชนยังมองสุขภาพในมิติของจิตใจอีกด้วย โดยบอกว่า "จิตดี สุขภาพก็ดีด้วย" การรักษาวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดีให้คงอยู่ เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อสภาพทางสังคมและสุขภาพทางใจของคนในชุมชน ทุกวันนี้ ผู้ปกครอหลายท่านใช้วิธีเลี้ยงลูกด้วยเงิน เด็กๆมักถามแม่ว่า "แม... กินเข่ากับหยัง" แม่หลายๆคนตอบกลับไปว่า "เงินอยู่หลังตู้เย็น อยากกินหยังกะซื้อกินโลด"


      ช่องว่างในครอบครัว หากปล่อยไว้จะกลายเป็นบ่อเกิดของปัญหาต่างๆ ชุมชนจึงให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะว่าเด็กวัยรุ่นในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ น่าเป็นห่วง มักก่อปัญหาโดยไม่ยั้งคิด ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ยกพวกชกต่อยตีกันในงานเทศกาลต่างๆ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นวัยรุ่นต้องพยายามเข้าใจ คอยเตือนสติ

      ดังนั้น โครงการต่างๆ ของกองทุนฯ ตำบลเหนือ จึงมีวัตถุประสงค์เน้นไปที่ การดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ ส่งเสริมการดูแลสุขภาพซึ่งกันและกันของคนในครอบครัว รักษาศีลธรรม วัฒนธรรมอันดี ดูแลและให้ความสำคัญกับกลุ่มวัยรุ่น เยาวชน ที่มีความเสี่ยงก่อเหตุทะเลาะวิวาท ส่งเสริมการบริโภคที่ปลอดภัย ปลอดสารเคมี และดูแลบริการคนเจ็บป่วยในหมู่บ้าน ทั้งนี้ เพื่อทำให้เกิดจิตดี สุขภาพดีขึ้นในชุมชน

      โครงการที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่มากที่สุด โครงการหนึ่งคือ โครงการสนับสนุนระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินตำบลเหนือ (EMS)  เป็นโครงการช่วยเหลือประชาชนยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ทันที โดยเน้นการบริการที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มอายุ ให้สามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และบริการตลอด 24 ชั่วโมง นับว่า เป็นโครงการที่ชาวบ้านในพื้นที่ชอบมาก ดังจะเห็นได้จากคำบอกเล่าของชาวบ้านท่านหนึ่งที่กล่าวไว้ในการทำสนทนากลุ่มว่า


      "ฉันว่าโครงการ  EMS  ซอยพวกเฮาหลาย มีประโยชน์ในการป้องกันสุขภาพของประชาชน ประชาชนบ่ต้องแลนไปไสเวลาเจ็บป่วย โทรบอก  EMS เพิ้นกะมาเลย รวดเร็ว แล้วพอไปโรงพยาบาลเพิ่นกะซอยดำเนินการให้เลย มันกะสะดวก"


      และอีกท่านกล่าวว่า "กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน คนสิตายกะได้รับการซ่อยเหลือทันท่วงที ชาวบ้านกะประทับใจ บางรายบ่อฉุกเฉิน แต่บ่อมีรถไปหาหมอ งานอีเอ็มเอส ก็จัดให้"

      ปัจจุบันที่ทำการศูนย์  EMS  ตำบลเหนือ ตั้งอยู่ที่ทำการ อบต.เหนือ มีสมาชิกให้บริการ ทั้งสิ้น 10 คน ผ่านการอบรมหลักสูตรกู้ชีพ จากโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ มีการจัดเวรบริการวันละ 2 คน ซึ่งปัจจุบันสมาชิกใช้รถส่วนตัวในการรับส่งผู้ใช้บริการ

      ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องรถที่ใช้ไม่ถูกระเบียบ เช่น ไม่มีไฟฉุกเฉินติดตั้งบนตัวรถ ไม่มีป้ายบ่งบอกว่าเป็นรถรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ บางท่านถึงขั้นมีปัญหาทะเลาะกับคนในครอบครัว ในเรื่องที่นำรถส่วนตัวมาบริการชาวบ้าน เพราะภรรยาที่บ้านมองว่า ในกรณีเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชน ใครจะรับผิดชอบ  "ขนคนตาย กลายเป็นศพอีกสิเฮ็ดจังได๋"


      รวมทั้งค่าตอบแทนที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์จ่ายให้ ครั้งละ 350 บาท จ่ายให้เจ้าของรถเป็นค่าน้ำมัน 200 บาท เป็นค่าตอบแทนพนักงานปฏิบัติหน้าที่ 150 บาท รวม 2 คนๆละ 75 ค่าตอบแทนเบิกจ่ายภายหลัง ดำเนินการแล้วเสร็จประมาณ 2 เดือน เป็นการรอคอยที่ยาวนานมาก


      ถ้าคำนึงถึงความคุ้มทุน สมาชิกศูนย์  EMS  บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่คุ้ม แต่มีความคุ้มค่าทางด้านจิตใจ  เป็นสุขใจที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น ได้รับความไว้วางใจ เหมือนกับเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติด้วยความเต็มใจ เพราะอาสาสมัคร  EMS ถือว่า เป็นผู้นำ คุ้มกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และไว้วางใจ จึงทำให้มีกำลังใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์มาโดยตลอด


      โครงการ  EMS  เป็นกิจกรรมที่ชาวชุมชนให้การยอมรับว่า เป็นประโยชน์มากและสามารถใช้บริการได้จริง จากเดิมที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก เมื่อมีการประชาสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น ทำให้หน่วยบริการ EMS เป็นที่รู้จักกันดีในพื้นที่เหนือและพื้นที่ใกล้เคียง ดังนั้น เมื่อชาวบ้านมีความจำเป็นหารถไม่ได้ ในยามวิกาลที่ต้องการไปโรงพยาบาลสามารถเรียกใช้บริการได้ตลอด ทำให้ชาวบ้านประทับใจมาก


      แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ที่ชาวบ้านยอมรับและเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพในมิติต่างๆ ทีมงาน ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัคร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล สถานีอนามัย และ อสม.หมู่บ้าน ต้องอาศัยความอดทนต่ออุปสรรค เสียสละ ร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน ถึงแม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยแต่ก็คุ้มค่าทางจิตใจ

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
กันนิษฐา มาเห็ม
เกศินี สราญฤทธิชัย
พัชรินทร์ เพิ่มยินดี
ณรงค์ คำอ่อน
วพบ.ขอนแก่น




ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น