...+

วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553

ท่าสาย - เดินตามแผนที่ยุทธศาสตร์ที่วางไว้เพื่ออนาคต

กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลท่าสาย อ.เมือง จ.เชียงราย
โดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

         "ท่าสายเมืองน่าอยู่ คงคู่วัฒนธรรมล้านนา พัฒนาสิ่งแวดล้อม พร้อมยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสังคมอยู่ดีมีสุข" คือคำขวัญของคนท่าสาย จึงทำให้ นายก อบต.ท่าสาย นำมาใช้ในการจัดการกองทุนฯ คือ "ชุมชนอยู่ดีมีสุข ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง"

        ท่าสายแยกการปกครองออกมาจากตำบลสันทราย จังหวัดเชียงราย เมื่อไม่นานมานี้เองจึงได้มีการเลือกตั้ง อบต.ขึ้น และจัดให้มีการบริหารงานกองทุนฯ  โดยมีประธานและคณะกรรมการ ภายใต้การดูแลของนายก อบต.ท่าสาย เพื่อพัฒนาระบบการจัดการเรื่องสุขภาพ และเสริมสร้างสักยภาพของชุมชน เพื่อชุมชนจะได้อยู่ดีมีสุขตามคำขวัญของคนท่าสาย


       ปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายในตำบลท่าสาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กไม่ได้รับการดูแลทั้งทางสุขภาพและการอบรมเลี้ยงดู ปัญหายาเสพติดและการสูบบุหรี่ในเด็กวัยรุ่น ปัญหาเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน ปัญหาอุบัติเหตุจากการดื่มสุรา ปัญหาการว่างงาน ปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุที่ขาดการดูแล ปัญหาขาดรายได้ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และปัญหาอื่นๆอีกมากมายที่เกิดขึ้นในชุมชน ปัญหาเหล่านี้นำมาสู่จุดเริ่มต้นของแผนที่ยุทธศาสตร์ ที่อบต.ท่าสายวางเอาไว้

      "แผนที่ยุทธศาสตร์ เป็นเครื่องมือที่เป็นวิทยาศาสตร์ เมื่อเอามาทำแล้วทำให้คิดเป็นระบบ ทำให้รู้ปัญหาเมื่อรู้ถึงปัญหาแล้วว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องมีการปรับแก้ไปอย่างนั้น"

      เมื่อเริ่มต้นที่ปัญหา จากนั้นก็มีการวางเป้าหมาย เพื่อแก้ปัญหาเช่นกัน นายก อบต.ท่าสายจึงได้วางเข็มทิศตามแผนที่ยุทธศาสตร์ที่ว่า
       "ท่าสายอยู่ดีมีสุขใน 2 ปี" จากนั้นก็ดำเนินงานตามขั้นตอนการทำงานตามแผนที่ยุทธศาสตร์ คือ เริ่มต้นที่การกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ทำการ  focus group  ตามกลุ่มอายุ เช่น วัยแรกเกิด ,วัยเรียน , วัยทำงานและผู้สูงอายุ จากนั้นก็ทำการค้นหาปัญหา เมื่อทราบปัญหาแล้วก็จัดลำดับความสำคัญของปัญหา เชื่อมโยงปัญหาทั้งหมดเข้าด้วยกัน หาสาเหตุแล้วคิดหาวิธีแก้ปัญหา สุดท้ายหาผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาและทำโครงการขึ้นมา แล้วมีผู้รับผิดชอบโครงการเป็นเจ้าภาพหลักในการทำงานนั้นๆ


      แผนที่ยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ทำให้เกิดผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือของประชาชนในการแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ การวางแผนพัฒนาชุมชนในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือแนวทางการแก้ไขที่คิดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

      จะเห็นได้ว่า การมีแผนที่ยุทธศาสตร์นั้น เสมือนมีเข็มทิศนำทางในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้เกิดขึ้น ในชุมชนท่าสายได้อย่างชัดเจนและยั่งยืน เอ้า พื้นที่อื่นๆ อ่านแล้วจะทำตามก็ยังไม่สายจนเกินไปนะเออ....


ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
พวงผกา คำดี
จันทร์จิรา จันทร์บก
วพบ.พะเยา



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น