...+

วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

ศึกษาหลักสูตรเวชปฏิบัติฉบับประชาชน โรงพยาบาล 1800 เตียง กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลสะอาดสมบูรณ์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด

เรียบเรียงโดย กฤนกวรรณ สุวรรณกาญจน์

            "ผู้นำ คิดไกล ใจกว้าง
            ชุมชน ร่วมทาง แก้ไข
            ประชา คมเด่น เป็นใจ
            อนามัย เป็นหลัก ผลักดัน
                กองทุนสุขภาพฯ ก่อเกิด
            บรรเจิด ใช่เพียง ภาพฝัน
            สุขภาพ ดีด้วย ช่วยกัน
            ประชา สุขสันต์ กายใจ"

            นี่คือ บทกลอนอันกล่าวถึงผลสำเร็จของงานที่ อบต.สะอาดสมบูรณ์
            สะอาดสมบูรณ์ เป็นตำบลเล็กๆอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ค่อนข้างห่างไกลตัวเมือง ถึง 13 กิโลเมตร คนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนา และไร่ยาสูบเตอร์กิช ซึ่งถูกมองว่า เป็นอาชีพที่เสี่ยงต่อระบบสุขภาพ แต่ถึงกระนั้น ชุมชนแห่งนี้ กลับมีต้นทุนสำคัญที่ช่วยสร้างหลักประกันสุขภาพฯ และสุขภาวะชุมชนได้อย่างครอบคลุมและตรงความต้องการ

            หลักสูตรเวชปฏิบัติฉบับประชาชนและโรงพยาบาล 1800 เตียง ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ทางความคิดและความภาคภูมิใจของคนสะอาดสมบูรณ์แห่งนี้
            นายกเขมชาติ โภคาเทพ เป็นที่รักและศรัทธาของคนในชุมชนแห่งนี้มานานมาก ด้วยแนวคิดทางด้านการจัดระบบสุขภาพและสามารถผันออกมาเป็นวิธีการอย่างชัดเจน กลายเป็นนโยบายอันดับต้นๆของ อบต.เล็กๆแห่งนี้

            จากการประเมินสภาพปัญหาเร่งด่วนของชุมชนอย่างมีส่วนร่วมคิดและ ร่วมแก้ไขปัญหา โดย อสม.จะทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลสภาพปัญหาชุมชนก่อนจะเริ่มประชุม เพื่อร่างแผนงานทำให้โครงการหลักประกันสุขภาพฯ จนเกิดแผนงานและคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยต่างๆในชุมชน
            โดยแบ่งแนวคิดหลักออกเป็น 2 ส่วน คือ กิจกรรมเชิงป้องกันและกิจกรรมเชิงฟื้นฟู อันก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่คนสะอาดสมบูรณ์เป็นผู้ร่วมคิดร่วมสร้าง

            โครงการส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาล 1800 เตียง ที่เกิดจากการประมวลสภาพปัญหา ที่ว่า ไม่มีความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง  หรือ การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องป้องกันโรค นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องเวลาที่เสียไปในการเดินทางเมื่อต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและความไม่เชื่อมั่นในระบบของสถานบริการอื่นๆ

            เมื่อพบสาเหตุแห่งปัญหา วิธีการแก้ไขจึงถูกต้องและตรงจุด อบต.สะอาดสมบูรณ์จัดให้มีการอบรมเรืองการดูแลสุขภาพเบื้องต้นที่คนทั่วไปสามารถทำได้เอง ทั้งในเชิงป้องกันและความรู้ในเรื่องวิธีการดูแลรักษาตนเอง ด้วยการสร้างหลักสูตร การพยาบาลเวชปฏิบัติ ฉบับประชาชนขึ้น เพื่อแจกจ่ายเป็นการศึกษาแก่คนในท้องถิ่น
            โครงการนี้ได้สนับสนุนให้แต่ละครอบครัวจัดมุมพยาบาล ทั้งตู้ยาสามัญพยาบาลและเตียงคนไข้ เอาไว้หนึ่งมุมภายในบ้าน ตามแนวคิดที่ว่า "หนึ่งครอบครัว หนึ่งหมอชาวบ้าน หนึ่งมุมพยาบาล"
            ปัจจุบัน โครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 1500 ครัวเรือนและจะขยายออกเป็น 1800 ครัวเรือน ในปี 2551
            ปัจจัยความสำเร็จ เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากความรู้ความสามารถและแรงศรัทธาของคนสะอาดสมบูรณ์ที่มีกับตัวนายก อบต. อันเป็นต้นทุนของการสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินโครงการ ความรู้สึกร่วมและการมีส่วนร่วมในการระดมปัญหาโดยการใช้ข้อมูลเป็นปัจจัยชี้ขาดในการทำงาน ที่ได้รับการทุ่มเทจาก อสม. ในการลงเก็บข้อมูลเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เห็นถึงวิธีทางในการแก้ไขอย่างตรงจุด พร้อมกับมาตรการเชิงรุกในการขยายผลความเข้าใจในสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากกองทุนฯ

            สมดังคำที่ว่า "กองทุนสุขภาพฯ ก่อเกิด บรรเจิด ใช่เพียง ภาพฝัน"  ดังบทกลอนข้างต้น

    ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
      สาคร อินโท่โล่
    สุจิมา ติลการยทรัพย์
    เนาวรัตน์ สุขณะล้ำ
           

ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น