...+

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ปัญหาสภาพจิตของนาธาน : สร้างเรื่องโกหกจนเชื่อว่าตัวเองเป็น !/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน 25 พฤศจิกายน 2552 08:56 น.
เริ่มแรกดิฉันไม่รู้จักคนชื่อ “นาธาน” ไม่ได้สนใจ และก็ไม่อยากรู้ว่านายคนนี้เป็นใคร จนกระทั่งถูกสื่อยัดเยียดให้รู้แทบทุกวัน โดยเฉพาะสื่อทีวีที่มีการนำเสนอข่าวกันอย่างครึกโครม และพิธีกรทีวีรายการหนึ่งที่สัมภาษณ์เปิดตัวคู่กรณีของนาธานได้ทุกวัน จนเริ่มรู้สึกว่าสื่อกำลังทำหน้าที่ล้ำเส้น และกลายเป็นพิพากษานายคนนี้ไปแล้ว เรียกว่าไม่ต้องพูดว่านาธานจะเข้าสู่วงการบันเทิงได้อีกหรือเปล่า เอาแค่ปรากฏตัวตามสถานที่ทั่วไปก็แทบไม่มีพื้นที่ยืนอยู่แล้ว

จากนั้นถึงเริ่มสนใจว่านาธานเป็นใคร อะไรทำให้ถูกนำเสนอผ่านสื่อได้ทุกวันขนาดนี้ เริ่มจากการถูกเปิดเผยว่าโกหกเรื่องตัวเองตั้งแต่ประวัติความเป็นมา โกหกเรื่องความสามารถอันมากมาย ฯลฯ จนกระทั่งนำไปสู่เรื่องราวเปิดตัวคู่กรณีที่บอกว่าถูกนาธานหลอกเอาเงินไป และสถานการณ์ก็ขยายเรื่องราวบานปลายไปเรื่อย และดูท่าไม่มีวี่แววจะสิ้นสุดง่ายๆ ขณะเดียวกันเรื่องราวของเขาก็ถูกพูดถึงไปทั่ว ประมาณว่า “ทำไมคนเราโกหกได้มากมายขนาดนี้” “ทำไมคนเราแต่งเรื่องได้ขนาดนี้ โดยไม่อาย” “ทำไมถึงได้ไปโกหก และโกงคนที่เขาแย่กว่าเราได้ จิตใจเขาทำด้วยอะไร”แล้วก็ความคิดเห็นที่ตามมาอีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการกระหน่ำซ้ำเติมถล่มกันสุดฤทธิ์ ไม่แปลกหรอกค่ะ ถ้าใครเจอะเจอเรื่องทำนองนี้แล้วไม่โกรธสิแปลก...!


ประเด็นที่ดิฉันสนใจคือเรื่อง “โกหก” เพราะคนที่โกหกเป็นเรื่องเป็นราวได้ขนาดนี้ต้องมีอะไรไม่ปกติแน่ …!!

การโกหกของคนมีหลายประเภท
ประเภทแรก มักจะเริ่มตั้งแต่เด็ก และการโกหกครั้งแรกๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เด็กจะคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่และกลัวถูกทำโทษ ยกตัวอย่าง เขาอาจทำข้าวของเสียหาย ทำกระจกแตก แต่กลัวถูกทำโทษ ก็เลยโกหกว่าไม่ได้ทำ ส่วนใหญ่จะเริ่มโกหกพ่อแม่ หรือคนที่มีอำนาจในการลงโทษเขาได้
ถ้าการโกหกในครั้งแรกๆ ได้รับการแก้ไขแต่เนิ่นๆ ผู้ใหญ่รู้เท่าทัน และสอนให้เขารู้ว่าการโกหกเป็นเรื่องไม่ดี ถ้าลูกพูดความจริงลูกอาจไม่ถูกทำโทษ แต่ถ้าโกหกต้องถูกลงโทษ และพ่อแม่ต้องจริงจังตั้งแต่เล็ก ขอให้ลูกยอมรับความจริง เขาก็จะได้รับการปลูกฝังว่า ไม่ว่าเขาจะทำอะไรไม่ดี แต่ถ้าเขาพูดความจริง ก็จะทำให้ทุกอย่างแก้ไขได้ แต่ถ้าในระดับนี้ เขาสามารถโกหก โดยที่ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนหรือปล่อยผ่าน เขาก็จะเรียนรู้ว่าการโกหกก็ไม่มีผลอะไร เขาก็จะทำต่อไปจนติดเป็นนิสัย ประเภทที่สอง การโกหกในระดับที่เพิ่มขึ้น คือการโกหกโดยโยนความผิดให้คนอื่น อาจจะด้วยความที่กลัวความผิด หรือไม่ก็เกิดจากความไม่พอใจคนอื่น และมีการโกหกว่าผู้อื่นเป็นคนทำ เป็นการใส่ร้าย ประเภทนี้อาจเริ่มตั้งแต่เล็กก็ได้เช่นกัน ถ้าผู้ใหญ่รู้เท่าทัน และสามารถเข้าไปจัดการปัญหาตั้งแต่แรก และทำโทษเด็กที่มีพฤติกรรมแบบนี้ พร้อมทั้งอบรมสั่งสอนด้วยว่า ทำพฤติกรรมแบบนี้ไม่ดีอย่างไร แล้วผู้อื่นที่ถูกใส่ร้ายจะได้รับผลกระทบอย่างไร ส่งผลให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนด้วย

หรืออาจจะสอนว่าเมื่อหนูยังเป็นเด็ก หนูทำแบบนี้ อาจจะมีคนให้อภัยได้ แต่ถ้าหนูโตเป็นผู้ใหญ่ อาจจะต้องถึงขั้นถูกดำเนินคดีความก็ได้

ประเภทที่สาม โกหกโดยการสร้างเรื่อง เพื่อลบปมด้อยบางอย่างของตนเอง เป็นการโกหกเพราะคิดว่าถ้าโกหกแล้วทำให้ตัวเองได้รับการยอมรับมากขึ้น มีผู้คนสนใจตัวเองมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ คนประเภทนี้ก็มักจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่คนรอบข้างจะมองเห็นและจับพฤติกรรม เหล่านี้ได้ไม่ยาก เพราะการแสดงออกต่างๆ ของเขา จะสะท้อนออกมาเอง และเมื่อเป็นเช่นนี้ ท้ายสุด เพื่อนๆ คนรอบข้างก็จะตีตัวออกห่างไปเองโดยปริยาย เพราะรับไม่ได้ที่เขาชอบโกหก

ถ้าพ่อแม่สังเกตว่าลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้ตั้งแต่เล็ก ก็ต้องปรับพฤติกรรม ให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าในตัวเอง อย่าพูดถึงปมด้อย หรือล้อเลียนในเรื่องที่เขาเป็นปัญหา และสอนให้เขารู้ว่าทุกคนไม่มีใครสมบูรณ์พร้อม คนเรามีปมเด่นปมด้อยกันทุกคน แต่การจะอยู่ร่วมในสังคมต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ และมีความจริงใจให้ผู้อื่นด้วย

ประเภทที่สี่ โกหกจนเป็นนิสัย ประเภทนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อโกหกแล้วรู้สึกดี และการโกหกประเภทนี้มักจะขยายวงเป็นอยากมีอยากได้ของคนอื่น และนำไปสู่การคดโกง และก่อเหตุไม่ดี ซึ่งท้ายสุดมักจะจบลงด้วยการติดคุกติตาราง
แต่ประเภทสุดท้าย เป็นประเภทที่ดิฉันสนใจเป็นพิเศษ จนเข้าข่ายและมักถูกประณามว่าเป็นคนลวงโลก เพราะนับวันจะมีผู้คนประเภทนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกลุ่มคนประเภทนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่น่าจะมีปัญหาทางด้านสภาพจิตร่วมด้วย
กลุ่มคนประเภทนี้มีปมด้อยเช่นกัน

ตอนแรกก็เริ่มจากการสร้างเรื่องก่อน และเมื่อสร้างไปเรื่อยๆ แล้วได้รับการยอมรับก็รู้สึกดี ก็เลยทำให้สร้างเรื่องต่อไป และเมื่อสร้างต่อไปเรื่อยๆ ก็ตกเข้าไปอยู่ในกับดักคิดว่าตัวเองเป็นอย่างที่ตัวเองสร้างเรื่องจริงๆ และพยายามลบเรื่องราวในอดีตออกไปจากสมอง และเอาเรื่องราวที่ตัวเองสร้างขึ้นมา และเชื่อว่าตัวเองเป็นอย่างเรื่องที่สร้างขึ้นมา โดยไม่สนใจว่าคนที่เกี่ยวข้องในชีวิตจะรับรู้เรื่องราวในอดีต เพราะเขามีความสุขอยู่กับเรื่องราวที่เขาสร้างขึ้นมา คนกลุ่มนี้มักจะมีปัญหาทางด้านครอบครัว และมีปมด้อยบางอย่างที่ไม่ต้องการยอมรับตัวเอง และส่วนใหญ่กลุ่มคนเหล่านี้จะถลำลึกไปเรื่อยๆ จนท้ายสุดถ้าเรื่องราวถูกเปิดเผยขึ้นมา คนเหล่านี้มักจะจบลงด้วยปัญหาทางสภาพจิต ถ้าไม่เป็นโรคซึมเศร้า ก็ไม่สามารถจะใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ต่อไปได้

ปัญหาเรื่องโกหกเป็นปัญหาหนึ่งทางสังคมที่นับวันจะทวีความรุนแรงมาก ขึ้นเรื่อยๆ เพราะสัญชาตญาณของมนุษย์ไม่อยากยอมรับว่าตัวเองไม่ดี ก็ต้องปัดไปสู่ผู้อื่น
แต่ถ้าเด็กได้รับการเลี้ยงดูและปลูกฝังตั้งแต่เล็กจากครอบครัว โดยนำเรื่องของศีลธรรมและจริยธรรมสู่เขาตั้งแต่เด็ก ก็จะป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้
ตรงกันข้ามหากพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ปล่อยปละละเลยเรื่องเล็กๆ ตั้งแต่เด็ก เพราะเห็นว่าเป็นเด็ก ก็เลยไม่ลงโทษไม่อบรมสั่งสอน ก็จะทำให้มีนิสัยเหล่านี้ติดตัว เพราะเมื่อโกหกไปแล้ว ก็ไม่เห็นเป็นไร เขาก็จะซึมซับเอาสิ่งเหล่านั้นติดตัวไป
ถ้าพ่อแม่จริงจัง และไม่ยอมปล่อยผ่านแม้เพียงเรื่องโกหกเล็กๆ ก็จะทำให้เขาเรียนรู้ว่าแม้เรื่องเล็กๆ ก็เป็นสิ่งไม่ดี และมีคนได้รับผลกระทบจากเรื่องเล็กๆ ได้เช่นกัน
อย่าลืมว่าเมื่อเริ่มโกหกแล้วก็ต้องโกหกไปเรื่อยๆ บางทีโกหกไปโกหกมาลืมเรื่องเดิมอีกต่างหาก แต่ถ้าพูดความจริง ต่อให้ต้องพูดเป็นร้อยครั้งก็พูดเหมือนเดิม
อีกทั้งผลกระทบของการโกหกจะติดตัวเราไป ผู้คนก็ไม่เชื่อถือ และตราหน้าว่าเราเป็นเด็กเลี้ยงแกะไปตลอดชีวิตเช่นกัน กรณีของนาธาน ไม่ว่าสุดท้ายปลายทางของเรื่องจะเป็นอย่างไร แต่เป็นอุทาหรณ์ที่ดีให้กับคนเป็นพ่อแม่ค่ะ
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000142484

1 ความคิดเห็น:

  1. อย่างนี้ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะอ่านกระทู้นี้เข้าใจไม๊?

    http://www.ainews1.com/modules.php?name=Web_Board&file=view&No=171

    ตอบลบ