...+

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ควรได้โนเบลไพรซ์

โดย ชัยสิริ สมุทวณิช 25 พฤศจิกายน 2552 14:26 น.
ผมเห็นหนังสือ “ช่อการะเกด” วางอยู่บนโต๊ะ อดนึกถึงเพื่อนเก่ามิได้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เขาคือ “ช่อการะเกด” จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้เป็นลูกของเขาก็ว่าได้

ผมรู้จักสุชาติมานานคงร่วม 30 กว่าปี ครั้งแรกที่พบกันผมส่งบทละครชื่อ “รถไฟไปกระบี่” ให้เขาตีพิมพ์ในนิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ คือผมเพิ่งเรียนจบและกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ในภาควิชาการหนังสือพิมพ์ เวลานั้นเป็นคณะนิเทศศาสตร์แล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถานศึกษาชั้นนำ อิทธิพลที่ผมได้รับ และใช้มันมาเขียนบทละครเรื่องนี้มาจากนักเรียนบทละคร เขาชื่อ Samuel Beckett

ผมประทับใจในบทละครเรื่อง Waiting for Godatผมเรียนบทละครนี้ขณะเรียนอยู่ในนิวซีแลนด์ และอยู่ไฮสกูล โรงเรียนผมสอนเช็คสเปียร์ แต่ก็ให้อ่านยอร์จ เบอร์นาร์ด ชอร์ และคนอื่นๆ ด้วย

ผมไม่เคยสอบผ่านภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่ผมเรียนเลย โรงเรียนบอกผมว่าผมต้องเรียนถึง 5 ปี ทั้งๆ ที่ผมจบชั้น ม. 6 มาแล้ว

ผมไม่อยากเป็นเด็กโข่ง อายุมันจะมาก หากเข้ามหาวิทยาลัยก็หมายถึงพ่อแม่ต้องส่งเสียอีกไม่ต่ำกว่า 9 ปี ผมคิดว่าผมอยากเรียนระดับไฮสกูลแค่ 3-4 ปีเท่านั้น

ครู บอกเป็นไปไม่ได้ เด็กฝรั่งยังใช้เวลามากกว่าที่ผมคิดอีก ผมก็นึกว่าคนไทยก็อาจเรียนดีกว่าฝรั่งได้นี่นา แต่เพื่อนที่ประเทศอังกฤษก็บอกว่า อย่าเครียดเลย มันอยู่อังกฤษก็ต้องเรียน 5 หรือ 6 ปี เท่ากันแหละ

ผมมันหัวดื้อ แล้วก็รั้น ความเชื่อมั่นสูงก็ตัดสินใจออกมาเป็นนักเรียนไป-มา ด้วยเหตุผลว่า มันมีโอกาสนอนดึก ผมนอนเที่ยงคืนทุกวัน เพื่อทดแทนความเครียด ผมเริ่มเขียนเรื่องสั้น และนวนิยายไปลงในนิตยสารของคนไทยในนิวซีแลนด์ มีเสียงตอบรับ และผมชนะเลิศในการประกวดวรรณกรรม ผมสอบข้ามชั้น 2 ปีรวด สอบดีทุกวิชา

ดังนั้น กลับมาบ้าน จึงพบกับสุชาติ และบอกกับเขาว่าจะช่วยเขียนบทละคร “รถไฟไปกระบี่” เขียนด้วยพล็อตง่ายๆ 2 องค์จบ ตัวละครมีคนเดียว ลงท้ายด้วยคำว่า “เกิดปฏิวัติในกรุงเทพฯ” แล้วในความเป็นจริง หลังหนังสือออกไม่นาน ก็มีปฏิวัติเกิดขึ้น ความจริงผมเคยเขียนนวนิยายอยู่ในนิวซีแลนด์ก็ออกแนวทำนายมาก่อน

ผมเขียนนวนิยายที่ลงท้ายว่า นักเรียน นิสิตนักศึกษาโค่นรัฐบาลทรราช แล้วขึ้นเป็นรัฐบาลเสียเอง แต่เกิดแตกกันเองจนหมดอำนาจไป

ต่อมาไปเรียนที่วิสคอนซิน กระแสจีนมาแรง

ผมก็เขียนนวนิยายมีตัวละครเป็นผู้หญิงสรุปได้ว่าประเทศไทยกับจีนจะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกัน

เวลานั้นไทย-จีนไม่มีความสัมพันธ์กันเลย เราปราบคอมมิวนิสต์หนักหน่วง

หลาย ปีที่ผมกลับประเทศไทย จึงมีคุณเล็งเลิศ ใบหยกที่ครอบครัวเราสนิทสนม เป็นทางผ่านให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ไปเมืองจีนพบกับประธานเหมาเจ๋อตุง และไทย-จีนคบกันเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตสำเร็จ

ครับ... ผมคิดว่าเรื่องบังเอิญ 3 ครั้ง น่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก

หรือว่าผมได้เชื้อแถวจากคุณแม่ เพราะแม่ผมนั้นมักรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าเสมอ มันอาจอยู่ในยีนส์ก็ได้

กลับมาเรื่อง ช่อการะเกด ต่อ ช่อการะเกดมีชีวิตที่น่าสนใจ มันเคยเกิด-ดับ มาก็สองสามครั้ง

แต่ตราบใดที่สุชาติ ยังมีลมหายใจ การะเกดก็จะมีชีวิต เป็นนิตยสารทางวรรณกรรมที่ดีที่สุด รวมนักเขียนมากที่สุด มีรางวัลที่ยิ่งใหญ่ และไม่ต้องทำพีอาร์โฆษณาใดๆ

ใครเกิดที่การะเกดก็จะถือว่าได้รับการต้อนรับจากคนอ่านที่ยิ่งใหญ่แล้ว

สำหรับผมนั้น เคยก่อตั้งรางวัลซีไรต์มากับมือเห็นว่า

การะเกดนั้นทำคุณประโยชน์ให้กับนักเขียนไทยมากกว่ารางวัลซีไรต์หลายเท่า

มีความเคร่งขรึม มีคุณภาพสูง และการคัดเลือกเรื่องก็พิถีพิถันมากกว่า โดยไม่ต้องมีกรรมการมากมายเหมือนคณะกรรมการซีไรต์ครับ ในเชิงวิชาการที่นี้ถือว่าที่สุดแล้ว

มีการตอบรับจากคนเขียนมากที่สุดเห็นได้จากจดหมายส่งมาถึงสุชาติมีมากเสียจนเขาต้องให้เนื้อที่หลายหน้า

เล่มล่าสุดก็กล่าวถึงหนังสืออมตะของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งปัจจุบันผมเชื่อว่าเขาบรรลุธรรมไปแล้ว

การะเกดให้เขียนถึงนิทรรศการ การอภิปราย และการแสดงภาพถ่ายที่สถาบันปรีดีฯ เมื่อ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยช่วยป่าวประกาศให้

ที่เหลือเป็นเรื่องสั้นๆ คุณภาพทั้งนั้น ชีวิตของสุชาตินั้นผมว่าเขาใช้ไปกับวรรณกรรมจนเกินคำว่าคุ้มค่า

คงไม่มีใครในโลกที่อุทิศตนให้กับงานวรรณกรรมได้มากไปกว่าเขา

ถ้ามีใครจะเป็นผู้เสนอรางวัลโนเบลจะรับรู้ชีวิตและผลงานของเขา

ผมว่าถึงเวลาแล้วที่สุชาติควรได้รางวัลโนเบลในสาขาวรรณกรรมเสียที และควรเป็นคนไทยคนแรกที่ควรได้รับเกียรตินี้

ผมจะดีใจที่สุด

1 ความคิดเห็น:

  1. ถึงคุณสุชาติจะพลาดโนเบลไพซ์ ก็ลองมาอ่านข่าวนี้ได้

    http://www.ainews1.com/modules.php?name=Web_Board&file=view&No=171

    ตอบลบ