...+

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

บีโอไอ:สถานภาพของไทยในเวทีลอจิสติกส์ระหว่างประเทศ

โดย ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ 29 พฤศจิกายน 2552 15:20 น.
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับลอจิสติกส์เป็นอย่างมาก
โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งและ
ลอจิสติกส์อย่างบูรณาการ
เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์ในภูมิภาค

ประเด็นสำคัญ คือ
ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์ในภูมิภาคอย่างไร
ซึ่งดูแล้วหากไม่มีการดำเนินนโยบายอย่างจริงจังแล้ว
นับเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม เนื่องจากต้องเผชิญกับคู่แข่งสำคัญ คือ
สิงคโปร์ ทั้งในส่วนการขนส่งทางเรือและการขนส่งทางอากาศ
ซึ่งปัจจุบันนำหน้าประเทศไทยหลายช่วงตัว
เนื่องจากมีระบบบริหารรัฐกิจที่ประสิทธิภาพสูงกว่า
และกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจมากกว่า

เรามาลองศึกษาดูบ้างว่าปัจจุบันสถานภาพของไทยในเวทีลอจิสติกส์
ระหว่างประเทศเราอยู่ในระดับใดบ้าง
นำหน้าหรือตามหลังประเทศคู่แข่งมากน้อยเพียงใด

ธุรกิจขนส่งทางอากาศ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศในปี 2551 ปริมาณ 2,292 ล้านตัน-กม.
นับเป็นผู้ประกอบการขนส่งทางอากาศใหญ่อันดับที่ 24 ของโลก และอันดับที่ 3
ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลนส์
และสายการบินมาเลเซียนแอร์ไลนส์

ธุรกิจขนส่งทางอากาศของการบินไทยใช้พื้นที่ระวางใต้ท้องเครื่องบิน
โดยสาร (Belly) เป็นหลัก โดยยังไม่มีเครื่องบินแบบ Freighter
ซึ่งออกแบบสำหรับขนส่งสินค้าเป็นการเฉพาะ ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งขัน
ทั้งนี้ อันดับของบริษัทการบินไทยได้มีแนวโน้มลดลงจากอันดับที่ 22
ของโลกในปี 2545 เป็นอันดับที่ 24 ในปี 2550

ธุรกิจท่าอากาศยาน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปี 2551
มีปริมาณการขนถ่ายสินค้า 1,173.084 ตัน
นับว่ามีปริมาณการขนถ่ายสินค้ามากเป็นอันดับที่ 20 ของโลกและอันดับ 2
ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากท่าอากาศยานชางกีของสิงคโปร์
ซึ่งอยู่อันดับที่ 10 ของโลก

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าอันดับของท่าอากาศยานกรุงเทพมหานคร
(ท่าอากาศยานดอนเมืองต่อเนื่องถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ)
มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ กล่าวคือ ในปี 2545
ท่าอากาศยานดอนเมืองมีปริมาณการขนถ่ายสินค้ามากเป็นอันดับที่ 17 ของโลก
ต่อมาในปี 2546 ได้ลดลง 2 อันดับ เป็นอันดับที่ 19 ของโลก
และมีปริมาณการขนถ่ายสินค้าเป็นอันดับ 19 ของโลก ติดต่อมาตั้งแต่ปี 2546
จนถึงปี 2550 และหล่นลงมาเป็นอันดับที่ 20 ของโลก ในปี 2551

การจัดอันดับท่าอากาศยานที่มีปริมาณการขนถ่ายสินค้ามากที่สุดในโลกในปี 2551

แหล่งข้อมูล : Airport Council International

ธุรกิจท่าเรือ ปัจจุบันประเทศไทยมีท่าเรือหลัก 2 แห่ง คือ
ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย)
โดยเดิมท่าเรือกรุงเทพนับว่าเป็นท่าเรือหลักของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม
จากการที่ท่าเรือแหลมฉบังเปิดดำเนินการนับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา
ทำให้ปริมาณการขนถ่ายสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยมีปริมาณการขนถ่ายสินค้าแซงหน้าท่าเรือกรุงเทพนับตั้งแต่ปี 2540
เป็นต้นมา สถิติล่าสุดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552
ท่าเรือแหลมฉบังมีปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 2.1 ล้าน TEU
ขณะที่ท่าเรือกรุงเทพมีปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 0.6 ล้าน TEU

สำหรับการจัดอันดับของ Alphaliner Weekly Newsletter
พบว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 ท่าเรือ PSA ของสิงคโปร์
มีปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุดในโลก คือ 12.2 ล้าน TEU
โดยครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกมาหลายปีติดต่อกัน รองลงมา คือ
ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ของจีน 11.6 ล้าน TEU ท่าเรือฮ่องกง 9.9 ล้าน TEU
ท่าเรือเซินเจิ้นของจีน 8 ล้าน TEU ท่าเรือปูซานของเกาหลีใต้ 5.6 ล้าน
TEU

หมายเหตุ : *TEU = ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต จำนวน 1 ตู้
แหล่งข้อมูล : Alphaliner Weekly Newsletter

สำหรับท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งมีปริมาณการขนถ่าย 2.1 ล้าน TEU
อยู่ที่อันดับ 18 ของโลก ดีขึ้น 1 อันดับ จากเดิมในปี 2550 เป็นอันดับ 19
ของโลก นอกจากนี้ ยังมีปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มากเป็นอันดับที่ 4
ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากท่าเรือ PSA ของสิงคโปร์
ท่าเรือเคลังของมาเลเซีย และท่าเรือตันหยงพาเลพัสของมาเลเซีย

ธุรกิจสายการเดินเรือ จากสถิติปี 2551 สายการเดินเรือของไทย คือ
บริษัท อาร์ซีแอล จำกัด (มหาชน)
นับเป็นสายการเดินเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์รายใหญ่อันดับที่ 24 ของโลก
และอันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเรือทั้งหมด 44 ลำ
มีระวางบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์รวม 57,836 TEU ทั้งนี้
ได้ปรับอันดับขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดิมอันดับ 33 ของโลก ในปี 2543
เลื่อนมาเป็นอันดับที่ 29 ในปี 2546 เลื่อนขึ้นอีกเป็นอันดับ 25 ในปี
2549 และอันดับ 24 ในปี 2551

หมายเหตุ : *TEU = ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต จำนวน 1 ตู้
แหล่งข้อมูล : Alphaliner Weekly Newsletter

อย่างไรก็ตาม
เรือของสายการเดินเรืออาร์ซีแอลส่วนใหญ่จดทะเบียนที่สิงคโปร์
ไม่ได้จดทะเบียนเรือที่ประเทศไทยแต่อย่างใด
เนื่องจากระบบราชการของสิงคโปร์มีประสิทธิภาพและเอื้ออำนวยต่อการดำเนิน
ธุรกิจมากกว่า ทำให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
โดยหากจดทะเบียนเรือในประเทศไทย
อาจจะส่งผลกระทบทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

สำหรับ ปัญหาเรือไทยไปจดทะเบียนต่างประเทศนั้น แม้พูดกันมาก
แต่นับเป็นปัญหาเรื้อรังหลายสิบปีที่ยังแก้ไขไม่ตก
แม้รัฐบาลจะมีนโยบายพูดกันมาหลายยุคหลายสมัยว่าจะส่งเสริมให้เรือไทยมาจด
ทะเบียนในประเทศไทยก็ตาม และในอนาคตอาจจะมีบริษัทอื่นๆ
ที่ปัจจุบันจดทะเบียนเรือในประเทศไทย
กำลังพิจารณาหันไปจดทะเบียนเรือในสิงคโปร์เป็นการเพิ่มเติม
เนื่องจากกฎระเบียบเอื้ออำนวยมากกว่า

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000145000

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น