...+

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ผู้เชี่ยวชาญ มศว ชี้ เด็กไทยเห่อตั้งชื่อ"ยาก-แปลก-ไม่ซ้ำ”

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 พฤศจิกายน 2552 15:54 น.
ผู้ เชี่ยวชาญ มศว.ชี้ เด็กไทยเห่อตั้งชื่อ"ยาก-แปลก-ไม่ซ้ำ” ลามถึงสถานศึกษา แห่ใช้ชื่อร.ร.ดัง หวังใช้ชื่อชั้นนำ เพิ่มจำนวนเด็กเรียน แต่ไม่คิดพัฒนาศักยภาพการศึกษา


พัทธยา จิตต์เมตตา หัวหน้าภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ตั้งชื่อของคนยุคนี้ เน้นตั้งชื่อที่ออกเสียงที่เก๋ แปลกหู แปลกตา ชื่อส่วนใหญ่ได้มาจากภาษาบาลี สันสกฤต หายากมากที่คนไทยสมัยนี้ตั้งชื่อโดยใช้คำไทยแท้ๆ ชื่อคนไทยยุคนี้ฟังเข้าใจยาก แม้เขียนด้วยอักษรไทย แต่ต้องแปลเป็นไทยอีก

" ชื่อคนไทยสมัยนี้จึงมีหลายพยางค์ แปลก และต้องไม่ซ้ำกับคนอื่น เน้นเก๋ไก๋ ชื่อไทยๆ จึงไม่ค่อยเห็น คนรุ่นใหม่ฟังชื่อไทยๆ แล้วมองว่าเชย สมัย นี้คนไทยจำนวนมากนิยมเปลี่ยนชื่อ เพราะเชื่อหมอดู มีความเชื่อส่วนตัวว่าชื่อที่ติดตัวมาไม่เป็นมงคลกับชีวิตทำกินไม่ขึ้น หรือทำให้อายุสั้น นอกจากนี้ ยังมีค่านิยมว่าชื่อเดิมของตัวเองเชย ฟังแล้วไม่ไพเราะ ไม่สะดุดหูผู้ฟัง กระแสการเปลี่ยนชื่อใหม่จึงมีเพิ่มขึ้น ชื่อ เป็นแค่สัญลักษณ์ เมื่อพ่อแม่ตั้งชื่อให้ ก็จะสรรหาชื่อที่ดี เป็นมงคลให้ คิดว่าชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้น่าจะเป็นมงคลสำหรับลูกโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน"

พัทธยา กล่าวต่อว่า กระแสการเปลี่ยนชื่อยังลามถึงโรงเรียน ชื่อเดิมไม่มีคนรู้จัก หรือนักเรียนไม่นิยมเข้าเรียน ก็เปลี่ยนเป็นชื่อโรงเรียนดังๆ เช่น เตรียมอุดมศึกษา บดินทรเดชา สวนกุหลาบ

"ไม่ใช่แค่ชื่อคน สถาบันการศึกษาก็เปลี่บน ซึ่งเกิดขึ้นมากมายทั่วกรุงเทพฯ พอเปลี่ยนชื่อก็มีคนเข้าเรียนมากขึ้น ส่วน พัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนนั้นๆ ยังไม่แน่ใจว่าจะดีขึ้นหรือไม่ การเปลี่ยนชื่อคน หรือโรงเรียน ความรู้สึกของคน คนนั้น หรือนักเรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนนั้นจะเปลี่ยนไป คือรู้สึกดีขึ้นกว่าเดิม แต่น่าเสียดายที่ชื่อสถานที่ในแต่ละแห่ง หรือแม้แต่ชื่อคน ถือเป็นภูมินามวิทยา มีที่มาที่ไป และช่วยบันทึกเรื่องราวต่างๆ แต่หากกระแสการเปลี่ยนชื่อมีมากขึ้นๆ ลักษณะทางภูมินามวิทยา ซึ่งเป็นการบันทึกเรื่องราว เสมือนประวัติศาสตร์ของตัวเราเอง ของสถานที่ต่างๆ จะค่อยๆ หายไป และคนรุ่นใหม่ก็จะไม่เข้าใจที่มาที่ไปของตัวเอง และสถานที่ต่างๆ อีกต่อไป"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น