...+

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การพัฒนาสองแนวทางของคนสองกลุ่มในประเทศจีน

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน 4 พฤศจิกายน 2552 14:58 น.
ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
ราชบัณฑิต
ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก วิทยาลัยสื่อสารการเมือง
มหาวิทยาลัยเกริก

การฉลองครบรอบของสาธารณรัฐประชาชนจีน
สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของจีนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
และถือได้ว่าเป็นปาฏิหาริย์ของระบบการปกครองและของผู้นำที่มีความสามารถ
อย่างยิ่งยวดที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเป็นที่กล่าวขวัญของโลก
สถานะของจีนในระหว่างประเทศกลายเป็นมหาอำนาจเพียงข้ามคืน
จนหลายประเทศในโลกจับตามองจีนอย่างใจจดใจจ่อ
และต่างยอมรับว่ามหาอำนาจใหม่ที่เกิดขึ้นนี้สอดคล้องกับที่นโปเลียน
โบนาปาร์ต เคยกล่าวว่า "จงปล่อยให้จีนหลับ
เพราะเมื่อจีนตื่นขึ้นโลกจะสั่นสะเทือน" ศตวรรษที่ 21
จะเป็นศตวรรษที่จีนมีบทบาทสำคัญในการเมืองระหว่างประเทศ และในเศรษฐกิจโลก
และไม่มีอะไรจะหยุดยั้งความเจริญก้าวหน้าของจีนได้

แต่ในท่ามกลางความสำเร็จนั้นจีนก็ต้องเผชิญปัญหาต่างๆ
หลายด้านด้วยกัน ทั้งในทางการเมือง อันได้แก่
การมีอำนาจเกินเลยของพรรคคอมมิวนิสต์ ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ขาดดุลยภาพ
และปัญหาทางสังคมที่นำไปสู่การเกิดของชนชั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระบบ
เศรษฐกิจทุนนิยม
ขณะเดียวกันก็ยังมีแรงกดดันจากนอกประเทศที่อยากเห็นจีนปล่อยเสรีทางการเมือง
มากกว่าที่เป็นอยู่
แต่ปัญหาหลักของจีนในขณะนี้คือการพัฒนาสองแนวทางจากคนสองกลุ่ม
และการเสียดุลระหว่างภูมิภาค
รวมทั้งความเหลื่อมล้ำของผู้มีรายได้สูงกับผู้มีรายได้ต่ำ

ผู้นำจีนในปัจจุบันที่เติบโตมาจากการเป็นสมาชิกพรรค
และมีบทบาทในการบริหารประเทศ แบ่งได้อย่างกว้างๆ เป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่หนึ่งเป็นกลุ่มที่ยังมีลักษณะอนุรักษนิยม
แม้จะมีความเป็นเสรีนิยมในการพัฒนาประเทศก็ตาม
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องการพัฒนาไปอย่างมั่นคงไม่รวดเร็วเกินไป
มีการให้น้ำหนักกับการกระจายความเจริญไปให้กับคนยากจน พร้อมๆ
กับการพัฒนาที่ต้องตามทันเศรษฐกิจโลก
มีการให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพแวดล้อม
และการสร้างดุลยภาพระหว่างนาครและชนบท

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งได้แก่กลุ่มซึ่งเป็นลูกหลานของสมาชิกพรรคระดับสูง
ถือได้ว่าเป็นกลุ่มผู้นำใหม่ที่เป็นคนรุ่นหนุ่มกว่า
ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Princeling (หมายถึงผู้ปกครองแคว้นเล็กๆ)
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมและข่าวสารข้อมูลให้เจริญก้าว
หน้าทันโลก มุ่งเน้นการส่งออก และการทำรายได้ให้แก่ประเทศ
ไม่ค่อยให้น้ำหนักกับรักษาสภาพแวดล้อม
หรือคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจน
ความแตกต่างของกลุ่มนี้กับกลุ่มแรกก็คือประเด็นความแตกต่างที่อาจจะขยายวง
ออกไปในอนาคต กลุ่มแรกนั้นเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มประชานิยม (populist)
ส่วนกลุ่มหลังเป็นกลุ่มผู้นำใหม่ที่มีลักษณะเป็นชนชั้นสูง (elite)

นอกจากความคิดการพัฒนาในสองแนวทางที่แตกต่างกันนั้น
ยังมีการเน้นถึงความสำคัญของการมีดุลยภาพในการพัฒนาที่แตกต่างกัน
ในกลุ่มที่เป็นกลุ่มประชานิยมมองเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาเขตที่อยู่ทาง
ตอนบนของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคตะวันตกแถบเสฉวน เมืองโฉงชิ่ง
หรือจุงกิง ซึ่งยังยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมณฑลที่อยู่ทางเหนือ
เนื่องจากมณฑลที่อยู่ทางฝั่งทะเลหรือใต้แม่น้ำแยงซีนั้นมีการพัฒนาอย่างรวด
เร็ว จนนำไปสู่การเสียดลุระหว่างสองภาค
คือภาคตะวันตกและภาคทางใต้มายังฝั่งทะเล

แต่กลุ่มผู้นำหรือ elite ไม่ให้น้ำหนักกับประเด็นดังกล่าว
โดยความเชื่อที่ว่าความเจริญย่อมเกิดขึ้นเป็นหย่อมหรือพื้นที่ที่มีแนวโน้ม
จะพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ความแตกต่างดังกล่าวนี้คือความแตกต่างในแบบแผนของการพัฒนาที่มุ่งเน้นการ
กระจายความเจริญ
หรือการมุ่งเอาจุดที่สามารถจะเจริญได้อย่างเต็มที่เพราะศักยภาพที่เหนือกว่า

ความแตกต่างของคนสองกลุ่มยังอยู่ที่การมองสังคมจีน
ในขณะที่กลุ่มประชานิยมยังมีแนวโน้มไปทางสังคมนิยมที่จะต้องนำมาซึ่งความ
ยุติธรรมทางสังคมไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำจนเกินไป
เพราะการพัฒนาในขณะนี้นั้นเปิดโอกาสให้ประชาชนมีการศึกษาอย่างเต็มที่
แต่ลูกหลานของคนที่ร่ำรวยอันเนื่องจากเป็นลูกหลานของข้าราชการระดับสูง
หรือนักธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่
มีโอกาสรับการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นดีของประเทศและต่างประเทศ

ขณะที่คนยากจนหมดโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยปีละหลายล้านคนเนื่อง
จากมีที่เรียนจำกัด
และมีอีกจำนวนไม่น้อยยังหาที่เรียนไม่ได้เนื่องจากขาดเส้นสาย
เพราะสังคมจีนในปัจจุบันก็เป็นสังคมที่มีความเกี่ยวโยงกับการมีเส้นสายซึ่ง
มีความสำคัญต่อการเข้าเรียนและสมัครงาน
การมีเส้นสายโยงใยกับคนระดับสูงย่อมเป็นประโยชน์
ซึ่งเป็นลักษณะของระบบอุปถัมภ์ที่เคยมีมาในอดีต และประเด็นที่สำคัญก็คือ
ลูกหลานของคนยากจนมีโอกาสน้อยกว่าในการสมัครงานก็เสีย
เปรียบลูกหลานของคนที่เป็นกลุ่ม elite

แนวการพัฒนาของจีนจึงเป็นสองแนวทางของคนสองกลุ่ม
รวมทั้งมีแนวทางที่มีจุดเน้นต่างกัน
ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะคลี่คลายไปทางใดจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการพินิจ
พิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงผู้จะเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจและจุดยืนทางการเมือง
ของบุคคลดังกล่าวในอนาคต ในขณะนี้ทั้งนายหู จิ่นเทา และเหวิน เจียเป่า
เดินตามแนวของกลุ่มประชานิยม
ส่วนบุคคลอื่นที่อยู่ในกลุ่มผู้นำนั้นยังไม่ได้มีโอกาสเข้าดำรงตำแหน่งอำนาจ
สูงสุดซึ่งจะต้องคอยติดตามต่อไป

ความขัดแย้งสองแนวทางดังกล่าวนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่
แม้ในสมัยของเหมา เจ๋อตุง ก็มีความขัดแย้งระหว่างของเหมา และหลิว เส้าฉี
และเติ้ง เสี่ยวผิง ต่อมาก็มีความขัดแย้งระหว่างหู เย่าปัง ซึ่งนายจ้าว
จื่อหยาง ถือเป็นแนวทางกับกลุ่มของนายจาง เจ๋อหมิน หลี่เผิง และหลี่
เสี่ยนเนียน จนมีส่วนในระดับหนึ่งนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน
โดยเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นตัวแปรสำคัญที่สุด เพราะสนับสนุนฝ่ายนายหลี่
เสี่ยนเนียน หลี่เผิง และจาง เจ๋อหมิน

แต่ ข้อสังเกตก็คือ
ความขัดแย้งในอดีตมักจะเกิดขึ้นจากตัวบุคคลมากกว่าประเด็นความขัดแย้ง
แต่ปัจจุบันเป็นประเด็นความขัดแย้งและความแตกต่างของแนวทางการพัฒนาระหว่าง
กลุ่มที่มีความเห็นแตกต่างกันมากกว่าบุคลิกของปัจเจกบุคคล
จึงถือได้ว่าเป็นความขัดแย้งที่พัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000132408

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น