...+

วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

หมอช้าง

โดย ปรีชา รักษ์คิด

ทุกครั้งที่เห็นช้างพร้อมด้วยควาญช้าง กับพลเดินเท้านำหน้าช้าง ๑-๒ คน ในมือถือท่อนอ้อยหรือหวีกล้วยเพื่อจำหน่ายอาหารช้างให้แก่ผู้สัญจรไปมาตามท้องถนน หรือนั่งกินอาหารเป็นโต๊ะๆกลางแจ้ง ทำให้ผมหวนระลึกถึงความหลังเมือครั้งเป็นเด็ก อยู่ชั้นประถมนับเวลาย้อนหลังไป ๕๐ ปีเศษ

ผมนั้นมีความผูกพันกับช้างมาก อาจจะเป็นเพราะไม่เคยเห็นสัตว์อะไรที่มีขนาดใหญ่โต มีกำลังมหาศาล กินจุ ถ่ายเป็นก้อนโตขนาดลูกมะพร้าว เวลาช้างอึครั้งหนึ่งจะมีคนเข้าไปเก็บอึเพื่อใส่เป็นปุ๋ยให้ต้นพลูที่กินหรือเคี้ยวให้กับหมากนั่นแหละครับ นัยว่าต้นพลูงอกงามดีกว่าปุ๋ยประเภทใดๆเลยทีเดียว ดังนั้น หากชาวสวนที่ปลูกหมากพลูขาย อยากให้ใบพลูดกโดยใช้ปุ๋ยอึช้าง น่าจะเป็นการดียิ่ง เพราะประหยัดเงินซื้อปุ๋ยจากต่างประเทศ และทำให้อึช้างหมดไปจากท้องถนน เป็นการช่วยกันรักษาความสะอาดไปในตัวยังไงล่ะครับ

ตอนเด็กที่บ้านผมไม่รถยนต์ใช้ มีแต่ช้าง ม้า วัว ควาย หมู เห็ด เป็ด ไก่ ผักสวนครัว รั้วกินได้ โดยไม่ต้องซื้อหา ยกเว้นเกลือและน้ำปลาเท่านั้น

ช้างเชือกแรกที่ผมเลี้ยงนั้น เป็นช้างป่าเพศผู้หรือช้างพลาย ซึ่งหมอช้างต่อได้จากป่าในประเทศเขมร ตัวเล็กมากยังไม่หย่านม คุณพ่อขอซื้อจากหมอช้างในราคายุติธรรม เพราะผมอยากได้ ตอนนั้นไม่มีนมผงหรือนมวัวจำหน่าย ต้องต้มข้าวต้มใส่น้ำตาล ปีกที่ทำจากน้ำอ้อยใส่โอ่งมังกรให้ลูกช้างดูดกินแทนนม โดยล่ามคอด้วยเชือกป่านมะนิลาไว้ที่โคนต้นมะม่วงข้างบ้านพักนายอำเภอสังขะ เราช่วยกันเลี้ยงจนเชื่องปล่อยให้เดินเล่นตามเจ้าของและคนเลี้ยงได้ พออายุได้ประมาณ ๓ ปี พลโทบัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้อำนวยการสวนสัตว์ดุสิต (หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม "เขาดิน") ในขณะนั้น ก็ติดต่อขอซื้อเอาไว้ให้คนเที่ยวสวนสัตว์ชม โดยตั้งชื่อใหม่ว่า "สุรินทร์" เป็นช้างเชือกแรกของสวนสัตว์แห่งนี้ โดยมีนายแก้ว เป็นคนเลี้ยง ติดตามช้างสุรินทร์เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เป็นคนแรก ตอนหลังผมไปเยี่ยมช้าง "สุรินทร์" ปรากฏว่าเสียชีวิตแล้ว เพราะความซุกซนเอางวงไปจับสายไฟแรงสูงเลยถูกไฟฟ้าช็อตตาย ทางสวนสัตว์เลยสตัฟฟ์พลายสุรินทร์ไว้เป็นที่ระลึก ตั้งอยู่ในอาคารติดประตูทางเข้าที่อยู่ตรงข้ามกับพระราชวังสวนจิตรลดา ผมไม่ได้เที่ยวเขาดินมาหลายปีแล้ว ไม่ทราบว่า สตัฟฟ์ร่างของพลายสุรินทร์เพื่อนรักตอนเด็กของผมยังอยู่หรือเปล่า?

เวลาผ่านไปหลายปี จนกระทั่งผมเรียนจบระดับอุดมศึกษาจากรั้วสีชมพู กลับมาเป็นปลัดอำเภอที่บ้านเกิด จึงได้มีการจัดงานแสดงของช้างระหว่างเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ณ บริเวณสนามกีฬาจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนไทยแถบบ้านผมพากันมาดูฝรั่ง ส่วนฝรั่งก็มาดูช้างที่ชุมนุมกัน โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแนะนำรูปแบบในการจัดงานอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับจังหวัดตลอดมาเกือบสามทศวรรษแล้ว ก่อให้เกิดการกระจายรายได้มหาศาลแก่ประชาชนทั้งคนสุรินทร์เองและผู้ที่มาค้าขายในรูปของคาราวานสินค้าทุกปีมา

ผู้เข้าชมการแสดงของช้างจะเห็นช้างแสดงการละเล่นต่างๆ ตามบัญชาของคน อาจจะรู้สึกว่าช้างนั้นตัวโตเสียเปล่า แต่หาฤทธิ์เดชอันใดมิได้เลย

ความจริงแล้ว ช้างที่แสดงให้ชมส่วนใหญ่นั้น เมื่อสมัยที่มีชีวิตอยู่ในป่า อย่าว่าแต่ใครจะบังอาจมานั่งค้ำคอบังคับให้ทำโน่นทำนี่เลย แค่ได้กลิ่นคนพ่อหรือแม่ (หมายถึงช้างนะครับ) ก็ทำหูผึ่งตั้งฉากกับหัวของมัน พร้อมสีงเสียงร้องแปร๊นๆๆ วิ่งรี่เข้าใส่ทันที ป่าทั้งป่าก็จะราบเพราะคนและช้างเท่านั้นเอง

ที่ช้างป่ากลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่เชื่องกว่าแมวอย่างที่เห็นในงานแสดงของช้าง หรือเดินตามถนนหนทางตรอกซอกซอยในกรุงเทพมหานครทุกวันนี้นั้น ก็ด้วยฝีมือของคนส่วยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า "หมอช้าง"

ดังนั้น หากมีการใช้สรรพนามข้างหน้าช้างว่า หมอ จึงไม่ได้หมายความว่าหมอที่เป็นคนรักษาช้างเวลาเจ็บป่วยแต่ประการใด หากแต่เป็นคนที่สามารถฝีกช้างป่าให้ทำตามคำสั่งของคนได้นั่นเอง

พวกหมอช้างทั้งหลายนั้นส่วนใหญ่จะอยู่แถวบ้านตากลางบ้านกระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เวลาจะไปต่อช้างป่าจะเดินผ่าน อ.จอมพระ อ.เมืองสุรินทร์ และ อ.สังขะ โดยข้ามเขาพนมดงแร้ง หรือ ดงรัก ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนไทย-กัมพูชา ตรงช่องตาตุม ปัจจุบันนี้ ต.ตาตุมอยู่เขต อ.บัวเชด

หมอเฒ่า ซึ่งเป็นหัวหน้าสูงสุดของหมอช้าง มีความคุ้นเคยกับคุณ ชัย ชิดชอบ หรือที่ผมเรียกติดปากตั้งแต่วัยเด็กว่า "พี่ชัย"

พี่ชัยได้กำชับหมอเฒ่าว่า หากเดินผ่านเขต อ.สังขะ เพื่อไปต่อช้างที่ป่าเขตเขมรเมื่อใด ให้แวะคารวะขอข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับป่าและช้างป่าจากพ่อของผมทุกครั้ง ในฐานะที่เคยเป็นนายอำเภอทางแดนเขมร ระหว่างวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๘๔ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๘๙ รวม ๕ ปีเศษ ตามสนธิสัญญาสันติภาพไทย-ฝรั่งเศส ซึ่งมีการลงนามณ กรุงโตเกียว โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ม.แซงอังรี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝรั่งเศส และ โยสุเกะ มัตสุโอกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๔๘๔ เวลา ๑๔.๐๐ น.

ส่วนคุณพ่อผมก็กระซิบกับหมอเฒ่าให้ช่วยเป็นหูเป็นตาในด้านการข่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทางราชการไทย เรียกได้ว่าหมอเฒ่าทำหน้าที่ต่อช้างป่าด้วย หาข่าวไปด้วยพร้อมๆกัน

ผู้ชำนาญการทางมานุษยวิทยากล่าวว่า ส่วย เป็นชนชาติตระกูลมอญ-เขมรสาขาหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางเมืองอัตตะปือ แสนแป (ชาวจำปาศักดิ์ เรียกว่า อัตตะปือ แสนปาง) เมืองทั้ง ๒ นี้ ปัจจุบันอยู่ในแขวงเมืองจำปาศักดิ์ สปป.ลาว ซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ต่อมาเมื่อใดไม่ปรากฏ ได้พากันอพยพมาสู่ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดดยอพยพกันมาหลายสาย แยกกันอยู่ตามแหล่งต่างๆในบางส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษและสุรินทร์

ชนเผ่านี้เรียกตนเองว่า กุย หรือ กูย ผู้เขียนเคยสอบถามชาวส่วยว่า กูย แปลว่าอะไร เขาตอบว่า แปลว่าคน แต่คนไทยทั่วไปกลับเรียกเขาว่า "ส่วย" ไปได้ยังไง?

คงพอจะยุติได้กระมังว่า ส่วย เป็นชนเผ่าดั้งเดิมเผ่าหนึ่งที่อพยพมาสู่ดินแดนภาคอีสานตั้งแต่โบราณกาล เมื่อมาอาศัยอยู่นานๆเข้า ก็มีการแต่งงานสืบเชื้อสายร่วมกับเขมร ซึ่งแตกต่างจากเขมรซึ่งเป็นกัมพูชาปัจจุบัน เพราะเขมรทางเขตไทยเรียกว่า ขะแมร์เลอ (เขมรบน หรือ เขมรสูง) ส่วนกัมพูชาเรียกว่า ขะแมร์กรอม (เขมรล่าง หรือเขมรต่ำ) เพราะหมายเอาพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ต่างกัน คือ สูงกับต่ำเป็นเกณฑ์ในการเรียกขาน นอกจากนี้ภาษาพูดก็ไม่ค่อยเหมือนกัน แต่พอฟังกันได้ เหมือนไทยฟังภาษาลาวได้บ้าง และลาวก็ฟังภาษาไทยได้บ้าง แต่ไม่หมด เขมรสูงเขมรต่ำก็เช่นกัน

ส่วยบางส่วนก้แต่งงานกับชาวลาวเจ้าของถิ่นเดิม จนแตกหน่อออกกอใหม่ และมีชุมชนในแถบจังหวัดอีสานตอนใต้ ดังนี้

กลุ่มที่ ๑ เป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดสุรินทร์ เมื่อผสมกับพวกเขมรเลยกลายเป็นส่วยเขมร และส่วยลาว อาศัยอยู่แถบบ้านเมืองที (ท้องที่อำเถอเมืองสุรินทร์) หนองกุดหวาย (ท้องที่ อ.รัตนบุรี) ต.แตล (ออกเสียงล. สะกด) ตรึมคาละแมะ (โปรดสังเกตภาษาที่เรียกชื่อตำบลเหล่านี้ด้วยว่า ล้วนเป็นคำส่วยทั้งสิ้น) และตำบลจารพัตร (ท้องที่ อ.ศรีขรภูมิ) เมืองลีง กระโพ ตากลาง (ท้องที่ อ.ท่าตูม) เมืองสุรพินท์ (ท้องที่ อ.ลำดวน) บ้านสำโรงทาบ บ้านศรีสุข (ท้องที่ อ.สำโรงทาบ)

กลุ่มที่ ๒ เป็นกลุ่มของชาวส่วยที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ใน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ในบางส่วนของ ต.ตาดอน และโพนค้อ (ท้องที่อำเภอเมืองศรีสะเกษ) และ จ.อุบลราชธานี ในบางส่วนของ อ.บุณฑริก และ อ.เดชอุดม เลยกลายเป็นพวกส่วยลาวไป

การคล้องช้าง เป็นอาชีพหนึ่งที่สำคัญของชาวส่วยใน จ.สุรินทร์ในอดีต จะมีอาชีพนี้กันมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานพอที่จะยืนยันได้ แต่เนื่องจากได้ยึดอาชีพนี้มานาน ชาวส่วยจึงมีความชำนาญในการจับช้างป่ามาก ดังมีปรากฏในพงศาวดารหัวเมืองภาคอีสานของกรมศิลปากรในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ พ.ศ.๒๕๐๗ มีใจความสำคัญว่า

"....พวกหัวหน้าส่วย ๕ คน จึงกระทำพิธีตามความเชื่อถือของตน (น่าจะเป็นพิธีกรรมเบิกป่าเปิดไพร-ผู้เขียน) โดยเสกก้อนดิน ๘ ก้อน ปาไปยังโขลงช้างป่า ๘ ทิศ ช้างป่าก็แตกหนีกระเจิงไป คงเหลือแต่พระยาช้างเผือกเชือกเดียว นายทองด้วง กับนายบุญมา (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับพระราชวังบวร มหาสุรสิงหนาท) และบรรดาหัวหน้าส่วยทั้ง ๕ คนได้ช่วยกันคุมพระยาช้างเผือกเข้ามาส่งยังกรุงศรีอยุธยา..."

การคล้องช้างป่า เป็นอาชีพที่ต้องเสี่ยงอันตราย หากพลาดพลั้งย่อมหมายถึงชีวิตของหมอช้างทีเดียว

ดังนั้น บุคคลที่จะไปร่วมขบวนการคล้องช้างป่า จึงต้องมีบุคลิกลักษณะความเป็นผู้นำในตัวด้วย คือ มีความอดทน กล้าหาญ มีจิตใจหนักแน่น และมีปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าพร้อมที่จะเอาชัยชนะช้างป่าได้ตลอดเวลา

อันตรายร้อยแปดพันเก้าที่จะบังเกิดต่อพวหหมอช้างที่เข้าไปคล้องช้างในป่าก็มีตั้งแต่ช้างป่า เสือ หมี หมูป่า กระทิง วัวแดง ควายป่า งูพิษ และแมลงมีพิษต่างๆ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ยุงก้นปล่องอันเป็นพาหะนำไข้มาลาเรีย ซึ่งเป็นที่หวาดกลัวนักของนักจับช้างป่ายิ่งกว่าอันตรายใดๆ พอที่จะกล่าวได้เต็มปากเต็มคำของหมอช้างว่า "ยุงร้ายกว่าช้าง"

ความอดทนต่อความต้องการของร่างกายและจิตใจของหมอช้างนั้น มีอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะต้องรอนแรมในป่าดงดิบรกทึบที่ทุรกันดารประมาณ ๙๐ วันเป็นอย่างน้อย ดดยไม่เคยพบพานหมู่บ้านใดๆเลย หมอช้างยามเข้าป่าจึงเหมือนพระยามเข้าพรรษา ผิดกันตรงที่หมอช้างไม่เคยพานพบสตรีเพศเลยตลอดระยะเวลา ๓ เดือนแต่พระท่านจำพรรษาอยู่ในวัด จึงมีโอกาสที่จะพบพานสีกาที่มาทำบุญสุนทานอยู่บ่อยๆ

ในการขับช้างต่อเข้าไปคล้องช้างป่าในโขลงที่กำลังตกใจแตกตื่นชุลมุนกันนั้น ถ้าหากขาดความชำนาญในการขับขี่ช้าง หรือระมัดระวังตัวไม่ดีพอ อาจประสบอุบัติเหตุตกจากคอช้างหรือหลังช้าง หรือบางครั้งอาจถูกกิ่งไม้เกี่ยวตกลงมาถึงแก่ชีวิต ขณะที่ช้างต่อกำลังไล่ช้างป่า เพื่อให้หมอช้างถือคันจามยาว ๕ เมตร ที่มีบ่วงใหญ่อยู่ปลายคันจามที่ทำด้วยหนังควาย ซึ่งตัดเส้นควั่นเป็นเกลียว เป็นขดๆ เรียกว่า สายปะกำ หนักอึ้งยาวถึง ๓๐ เมตรนั่นเทียว

บางครั้ง ช้างต่อที่ขับขี่อยู่ถึงคราวตกมันเพราะเจ้าของไม่ยอมให้มัน "เมคเลิฟ" ตามธรรมชาติ เกรงว่ามันจะผอมโซ และต้องเสียเวลาเลี้ยงเพื่อพักฟื้นอีกตั้ง ๓ เดือนด้วยแล้ว อันตรายจากการตกมันก็ยิ่งทับทวีขึ้นอีก ความเมามันทำให้ช้างเป็นโรคอัลไซเมอร์คือ ลืมเจ้าของ (หมอช้าง) ได้

ครั้งหนึ่งสมัยเด็ก ผู้เขียนเคยติดตามคุณพ่อเพื่อไปชันสูตรพลิกศพหมอช้างคนหนึ่ง บริเวณชายป่าบ้านขวาว อ.สังขะ ซึ่งถูกช้างตกมันใช้งวงจับคอหมอช้างฟาดลงกับพื้นจนขาดใจตาย แล้วพับขาหน้าทั้ง ๒ ข้างแบบคู้เข่าเอางาแทงหมอช้างที่เสียชีวิตแล้ว เอางวงดูดเลือดกินเป็นที่หวาดเสียวของหมอช้างคนอื่นๆยิ่งนัก ขณะไปดูนั้น เห็นช้างที่ตกมันกำลังจะตาย เพราะหมอเฒ่าขอร้องให้ตำรวจยิงทิ้งให้ตายตกไปตามกัน ก่อนที่หมอเฒ่าจะนำขบวนช้างที่เหลือไปต่อช้างป่าที่เขตเขมรต่อไป เห็นเหตุการณ์ครั้งนั้นแล้วลืมไม่ลง แม้เวลาจะล่วงเลยมาตั้ง ๕๐ ปีเศษแล้วก็ตาม

สุภาษิตโบราณของส่วย จึงพูดกันเป็นเครื่องเตือนใจเสมอว่า หมอช้างตายเพราะช้าง

ตำแหน่งหมอช้างของชาวส่วยนั้น ผู้สันทัดกรณีได้เล่าให้ฟังว่า มีการจัดชั้นการบังคับบัญชากันอย่างมีระเบียบและหลักเกณฑ์ แต่ไม่ได้ตราหรือตกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ชาวส่วยทุกคนที่จะเป็นหมอช้างได้นั้นยอมรับถือได้ว่า เป็น Common Law ของส่วยอย่างแท้จริง เพราะผู้ใต้บังคับบัญชาจะต้องเชื่อฟังกันเป็นชั้นๆ

การเดินทางรอนแรมไปในป่าดงที่รกทึบขนาดแสงตะวันส่องไม่ถึงพื้นดินในสมัยนั้น วินัยและการบังคับบัญชาเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่สุดจึงจะควบคุมกันได้ ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหมอช้างนั้นก็คือ "หมอเฒ่า"

ผู้ที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหมอเฒ่าได้จะต้องได้รับการคัดเลือกตามระบบคุณวุฒิ (Merit System) อย่างจริงจัง จากการสัมภาษณ์หมอเฒ่าคนหนึ่งซึ่งภูมิใจมากในตำแหน่งนี้ ได้รับการยืนยันว่าตำแหน่งหมอเฒ่าและตำแหน่งอื่นๆของหมอช้าง ไม่เคยมีการแต่งตั้งแบบ ญาติสนิท ศิษย์มานาน เข้าหลังบ้าน การงาน (รับใช้นาย....ผู้เขียน) ดี แต่อย่างใด

ตำแหน่งหมอช้าง ซึ่งได้รับการคัดเลือกตามระบบคุณวุฒินั้น ได้จัดอันดับขั้นไว้ ดังนี้

ตำแหน่งแรก คือตำแหน่ง "มะ" เป็นหัวหน้าระดับต่ำสุด ทำหน้าที่ทุกอย่างเปรียบเสมือนเป็นกระโถงท้องพระโรงของขบวนการนี้

"มะ" เป็นคนส่วยประเภทที่มีอายุน้อย แต่ได้เคยออกป่าติดตามไปคล้องช้างป่ามาบ้างแล้ว หน้าที่ของมะก็คือ เป็นลูกมือของหมอช้างทุกคนในเวลาเดินทางรอนแรมในป่า เป็นผู้คอยช่วยเหลือในกิจการต่างๆ เช่น การบำรุงรักษาเครื่องไม้เครื่องมือคล้องช้าง เตรียมเรื่องอาหารการกินของขบเคี้ยว (มะขามป้อม สมอไทย ผลไม้ในป่า ชนิดต่างๆ ที่นกและสัตว์กินได้) หากออกคล้องช้างป่า มะก็มีหน้าที่ช่วยเหลือในการส่งคันจาม และเชือกหนังปะกำให้หมอช้าง

การดูแลรักษาช้างป่าและการลำเลียงช้างป่าที่ต่อได้กลับบ้าน ก็เป็นหน้าที่ของมะเช่นเดียวกัน จึงเป็นภาระยุ่งยากมิใช่น้อย

มะจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงกว่าได้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ความสามารถ และจะต้องผ่านการทดสอบตามกรรมวิธีทางไสยศาสตร์ และภาคปฏิบัติ คือ สามารถคล้องช้างได้ โดยหมอเฒ่าจะเป็นประธานในพิธี ส่วนรองประธานในพิธีนั้นคือ "หมอสะดำ" ซึ่งเทียบได้กับตำแหน่งของมหาดไทยสมัยก่อน คือ ปลัดขวา หากสมมติว่าหมอเฒ่าเป็นนายอำเภอ (สะดำ ภาษาเขมรแปลว่า มือขวา)

การทดสอบภาคปฏิบัติของมะครั้งนี้ มีการนำเอาช้างบ้าน ๒เชือก มาร่วมในพิธี โดยสมมติให้ช้างเชือกหนึ่งเป็นช้างป่า และอีกเชือกหนึ่งทำหน้าที่ช้างบ้าน หรือช้างต่อ

หมอสะดำจะขึ้นนั่งคอช้างต่อและให้มะซึ่งนั่งอยู่ท้ายช้างทำหน้าที่ส่งอุปกรณ์การคล้องช้างทุกชนิด ขณะที่หมอสะดำสาธิตการคล้องช้างตัวที่จะถูกคล้องให้ดูนั้น ก็ให้หมอช้างอีกคนเป็นผู้ขับขี่และบังคับให้ช้างป่าสมมติวิ่งไปข้างหน้า

เมื่อคล้องช้างเชือกที่วิ่งนำหน้าได้แล้ว หมอสะดำก็จะเปลี่ยนที่นั่งให้มะมานั่งแทนตน และดำเนินการสอบทางภาคปฏิบัติต่อไป หากมะคล้องได้ ก็จะได้รับการสถาปนาเป็น "หมอจ่า" หากทำไม่ได้ก็ต้องอยู่ในตำแหน่งมะ ไปเรื่อยๆ บางคนที่สอบตก (จากคอช้างหรือหลังช้าง) กลายเป็นคนพิการ แขนคอ ขาเป๋ ต้องหยอดข้าวต้มก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ

ตำแหน่งที่สอง คือ หมอจ่านี้ ซึ่งจะได้มีโอกาสตามสิทธิ์ คือ คล้องช้างป่าได้และจะยังคงกินตำแหน่งนี้เรื่อยไปจนกว่าจะมีความสามารถต่อช้างป่าได้ตั้งแต่ ๑-๒ ตัวขึ้นไป

ตำแหน่งที่สาม คือ "หมอสะเดียง" ผู้ที่จะเลื่อนเป็นหมอสะเดียงได้ จะต้องสามารถต่อช้างป่าได้ตั้งแต่ ๑-๒ ตัวนั่นแหละจึงจะได้ตำแหน่งนี้ หมอสะเดียงนี้เองเป็นผู้ช่วยหมายเลข ๒ ของหมอเฒ่า ซึ่งพอเทียบได้กับปลัดซ้าย

นอกจากสามาถต่อช้างป่าได้ตามเกณฑ์แล้ว จะต้องได้รับการเสนอชื่อแบบฟรีโหวต กล่าวคือ เมื่อทุกคนพร้อมใจกันแล้ว ก็จะเสนอให้หมอเฒ่าแต่งตั้งโดยมีพิธีรับรองทางไสยศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่ต้องคล้องช้างให้ดูอีก

หน้าที่หมอสะเดียงขณะอยู่ในป่า ไม่ต้องทำงานอะไรทั้งสิ้น นอกจาก กิน นอน คล้องช้างป่า และรับใช้หมอเฒ่า ตามแต่จะใช้ให้ทำอะไร อาจจะซักผ้า นวดแข้งขาเวลานอน เป็นต้น

ตำแหน่งที่ ๔ คือ "หมอสะดำ" เป็นผู้ช่วยหมายเลขหนึ่งของหมอเฒ่า

หมอสะเดียง หากต้องการจะกินตำแหน่งหมอสะดำ จะต้องแสดงความสามารถโดยการต่อช้างป่าให้ได้ตั้งแต่ ๗ ตัวขึ้นไปก่อน

ในชั้นของหมอสะดำเองก็เถอะ ยังแบ่งเป็นหมอสะดำชั้นธรรมดา ซึ่งเป็นหมอสะดำที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ ส่วนหมอสะดำชั้นสูงนั้น นอกจากมีความชำนาญในการคล้องช้างเป็นพิเศษแล้ว (บรรดาหมอช้างเขารู้และยกย่องกัน- ผู้เขียน) ยังต้องมีความสามารถคล้องช้างป่าได้ตั้งแต่ ๑๔ ตัวขึ้นไป ถึงตอนนั้นอาจมีสิทธิ์ได้รับคัดเลือกเป็นหมอเฒ่าอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ตำแหน่งสูงสุดของหมอช้าง คือ หมอเฒ่า เป็นหมอช้างชั้นไดเร็คเตอร์ทีเดียว ถือเป็นตำแหน่งสูงสุด เพราะได้มาด้วยความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง หมอเฒ่าจึงเป็นผู้ที่มีเกียรติ เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคมของหมู่บ้าน และในบรรดาผู้ที่มีอาชีพคล้องช้างด้วยกัน

ความที่เป็นผู้มีความชำนาญและมีกลเม็ดเด็ดพรายว่าด้วยกรรมวิธีในการคล้องช้างทุกแง่ทุกมุม หมอเฒ่าจึงกลายเป็นซูปเปอร์ไวเซอร์ คอยแนะนำ แก้ไข ตักเตือน สรุปผลการปฏิบัติงานของหมอช้างทุกระดับว่ามีผลดี-ผลเสีย และต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไร เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการคล้องช้างครั้งต่อไป

เมื่อหมอเฒ่าแก่ชรา คงมีหน้าที่เป็นประธานในพิธีกรรมทางไสยศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว สำหรับอภิสิทธิ์ที่หมอเฒ่าได้รับก็คือ มีสิทธิ์ "ถือป่า" หรือเรียกว่า เจ้าป่าได้คนเดียว คือ มีอำนาจเหนือหมอช้างทุกอย่างทั้งในกลุ่มของตนเองและกลุ่มอื่นด้วย และหมอช้างทุกคนจะต้องให้ความเคารพนับถือเสมือนเป็นราษฎรอาวุโสของเผ่า ตลอดจนอยู่ในโอวาทของหมอเฒ่าทุกประการ หมอเฒ่าจึงเป็นจุดรวมของวินัยและความสามัคคีของชนชาวส่วย

หมอช้าง เป็นอาชีพที่อันตราย ถึงแม้อาชีพการจับช้างป่าจะมีโอกาสอยู่น้อยเต็มที เพราะป่าดงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พึ่งพิงของช้างถูกทำลาย การที่โชลงช้างป่าแถว จ.ประจวบคีรีขันธ์ อกมากินสัปปะรดหรือพืชผักอื่นๆของชาวไร่นั้น น่าจะเป็นเพราะสัญชาตญาณของช้างกระตุ้นให้ช้างต้องปกป้องอาณาบริเวณที่เคยเป็นที่อยู่หลับนอนและหากินของบรรพบุรุษของเขา (ช้าง) มาก่อนนั่นเอง

ถึงตอนนี้ใครจะตัดสินว่าช้างบุกรุกที่ทำกินของคน หรือคนบุกรุกที่ทำกินของช้างครับ?

ความสามารถของหมอช้างในการบังคับช้างให้ทำงานแทนคน หรือมาแสดงตลกโปกฮาให้ได้ดูได้หัวเราะในปัจจุบันนี้ ก็เพราะการคัดเลือกหมอช้าง ซึ่งได้ยึดถือระบบความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสม อันสุจริตอย่างเคร่งครัด หากระบบราชการหรือบริษัทห้างร้านหันมาชำเลืองการคัดเลือกอย่างหมอช้างบ้าง บางที ราชการไทยหรือภาคธุรกิจบางแห่งอาจจะทำอะไรได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้นะ- ผมว่า

โดย ปรีชา รักษ์คิด
ในต่วย' ตูน ปีที่ ๓๑ เล่มที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น