หลังจากตรากตรำทำงานหนักเหน็ดเหนื่อยมาหลายเดือน
ที่บ้านของผู้เขียนมีอาชีพทำไร่ พืชไร่ที่ปลูกก็คือ ข้าวโพด พริก
หลังจากที่หยอดเม็ดข้าวโพดลงหลุม กลบเรียบร้อยแล้ว
ก็รอดูเมล็ดที่เริ่มงอก ดูแลต้นกล้า หลุมไหนมีต้นกล้าหลายต้น
ก็ต้องคอยถอนทิ้ง เลือกลำต้นใหญ่แข็งแรงไว้หลุมละ ๒-๓ ต้น ต้นไหนดูเล็กๆ
ก็ถอนทิ้งไป เพราะถ้ามีหลายต้น มันจะแย่งอาหารกันเอง เช่น แย่งปุ๋ย น้ำ
อากาศ แสงแดด ผลผลิตที่ได้อาจจะน้อยลง ฝักข้าวโพดไม่โตเท่าที่ควร
(เมล็ดข้าวโพดจะหยอดหลุมละ ๔-๖ เม็ด เผื่อเม็ดไม่งอก ถูกแมลงกัดกิน)
ถ้าเป็นต้นพริก ก็ต้องคอยดูแล ต้นไหนตาย
ต้องนำต้นกล้าใหม่มาปลูกซ่อมแซมดูแลสักระยะหนึ่งให้ลำต้นพริกโต แข็งแรง
หยั่งรากลงดินหาอาหารเองได้
(เพราะการปลูกพริกเราไม่ได้หยอดเมล็ดพริกลงดินเลยเหมือนต้นข้าวโพด
เราต้องนำเมล็ดไปหว่านลงในแปลงเพาะที่เตรียมไว้ รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ให้ลำต้นโต
แข็งแรง ความสูงประมาณ ๑๒ นิ้ว หรือ ๑ ไม้บรรทัด
ถึงจะถอนต้นกล้ามาปลูกใหม่ในหลุมอีกทีเว้นระยะระหว่างต้นระหว่างแวประมาณ
๑ ช่วงแขน ปลูกหลุมละ ๑-๒ ต้น) คอยกำจัดวัชพืช ศัตรูพืช ใส่ปุ๋ย
ทีนี้ชาวไร่ก็รอคอยให้ต้นพริกผลิดอกออกผล
ช่วงนี้เอง ชาวไร่บางครอบครัวจะเริ่มว่าง และไปรับจ้างดูแลไร่ของคนอื่น
ค่าจ้างสมัยก่อนได้วันละ ๒๐ บาท (ประมาณ ๒๒ ปีที่ผ่านมา)
ซึ่งความรู้สึกของผู้เขียนเองเป็นเงินที่มีค่ามาก
เมื่อเทียบกับก๋วยเตี๋ยวราคาชามละ ๓ บาท และพิเศษ ๕ บาท
แต่ที่บ้านของผู้เขียนเองและแม่ส่วนใหญ่จะไปหาหน่อไม้จากต้นไผ่ป่าเพื่อกักตุนไว้กิน
ไว้ขาย ในช่วงฤดูร้อนแห้งแล้งกันแสนยาวนาน
ดดยจำนำหน่อไม้มาแปรรูปทำหน่อไม้ดอง หรือ หน่อไม้เปรี้ยว หน่อไม้แห้ง
ซึ่งเป็นการถนอมอาหารอีกวิธีหนึ่ง (ต้นไผ่เป็นชื่อพรรณไม้ตระกูลหญ้า
มีลำต้นสูง และเป็นปล้องๆ มีหลายชนิด เช่น ไผ่ไร่ ไผ่รวก ไผ่ซาง ไผ่ตง
ไผ่หวาน ฯลฯ)
บริเวณที่ไผ่จะแทงกอแตกหน่อเยอะๆ คือ ใกล้ชายน้ำ ริมห้วย หนอง คลอง บึง
ซึ่งอยู่บริเวณท้องทุ่ง ติดกับนาข้าวนั่นเอง
ผู้เขียนกับแม่จะเตรียมอุปกรณ์ คือ เสียม
(เครื่องมือทางการเกษตรสำหรับขุด แซะ และพรวนดิน)
สะพายย่ามที่ทำมาจากผ้าฝ้าย ซึ่งแม่นำมาถักทอเอง เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้าน
ตัดเย็บเอง มีความเบา หรือไม่ก็เป็นตะกร้าที่สานเอง ทำมาจากไม้ไผ่เช่นกัน
นอกจากเสียม ย่าม ตะกร้าแล้ว ก็มีมีดติดตัวไปด้วย ๑ เล่ม
เพราะบางทีต้องฟันกิ่งไผ่ที่ระเกะระกะเพื่อง่ายต่อการเข้าไปขุดหน่อไม้ใกล้ๆกอของมัน
หน่อไม้ที่หามี ๒ ประเภท คือ หน่อที่อยู่ใต้ดิน
กับหน่อที่โผล่เหนือพื้นดิน หน่อไม้ใต้ดิน เปลือกจะมีสีขาวปนเหลือง
นำมาต้มหรือแกงจะมีรสหวาน กินกับน้ำพริกหรือจิ้มกับน้ำพริกกะปิจะอร่อยมาก
หรือถ้าทำแกง ก็เป็น "แกงเปรอะ" หรือ "แกงลาว" ที่ใส่น้ำใบย่านาง
(น้ำสีเขียว) ใบย่านางเป็นไม้เถาชนิดหนึ่ง ใช้ต้มกับหน่อไม้ทำให้หายขื่น
(ขม) ก่อนที่จะนำมาแกง นำใบย่านางมาขยี้กับน้ำ
จะใช้มือขยี้หรือใช้ครกโขลกก็ได้ จะได้น้ำสีเขียว ใช้ตะแกรง กระชอน
หรือผ้าขาวบางกรองเอาแต่น้ำ ใส่หม้อตั้งไฟให้เดือด ใส่หน่อไม้ ตะไคร้
พริกสด เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า ลูกฟักทองอ่อนๆ ดอกฟักทอง บวบงู บวบหอม
บวบเหลี่ยม ชะอม ใบแมงลัก เติมปลาร้าหรือน้ำปลาก็ได้ตามชอบ
หรือมีเนื้อกบเขียดเพิ่มลงไป ก็จะทำให้รสชาติอร่อยยิ่งขึ้น
วิธีสังเกตหน่อไม้ที่อยู่ใต้ดิน ถ้าเป็นดินแข็ง
ดินบริเวณนั้นก็จะแตกระแหงแยกตัวออกจากกัน และร่วนซุย
บริเวณนั้นจะนูนสูงขึ้น อยู่ใกล้ๆตาของต้นไผ่
เพราะหน่อใหม่ๆจะออกบริเวณตาของต้นไผ่ เอาเสียมขุดลงไปรับรองไม่พลาด
บางทีจะมีหน่อไม้งอกซ้อนกันเป็น ๒ หน่อ
จะหน่อเล็กหรือหน่อใหญ่ก็ขึนอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินบริเวณนั้น
รวมถึงขนาดของลำต้นไผ่ด้วย
แต่ถ้าเป็นหน่อไม้ที่โผล่เหนือดิน ความสูงไม่เกิน ๑๒ นิ้ว หรือประมาณ ๑
ไม้บรรทัด เปลือกจะมีสีน้ำตาลปนเขียวเหลือง มีรสขม (ขื่น) เล็กน้อย
ใช้เสียมขุดหรือตัดออกมา ถ้าหน่อไม้มีความสูงเกินกว่า ๑๒ นิ้ว
เราก็จะปล่อยให้มันเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ที่จะขยายพันธุ์ หรือ
แตกหน่อให้เราได้กินในปีถัดๆไป
ครั้งหนึ่งผู้เขียนกับแม่ไปหาหน่อไม้ที่ริมคลองใกล้ๆบ้าน เดินไปไม่ถึง ๑๐
กอก็แทบจะขนกลับบ้านไม่ไหวแล้ว หน่อไม้ไผ่เยอะมาก
เราใช้ด้ามของเสียมแทนไม้คานหาบหามหน่อไม้กลับบ้าน
(อยู่บ้านที่ผ้เขียนอาศัยอยู่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีแค่ ๘๐ หลังคาเรือน
แต่มีต้นไผ่มากมายทำให้ปริมาณกอไผ่เพิ่มขึ้นทุกปี คนกินไม่หวาดไม่ไหว)
ใช้มีดปอกเปลือกออกให้หมด ใช้มีดคมๆสับเหมือนสับมะละกอ และฝานบางๆ
นำเส้นของหน่อไม้ใส่กาละมังใบใหญ่ แช่น้ำไว้ประมาณ ๑-๒ คืน ให้หายขื่น
(ขม) จากนั้นก็นำมาคั้นบีบน้ำออก นำเกลือ ปลายข้าว
มาคลุกเคล้าให้เข้ากันกับเส้นหน่อไม้
ความเค็มจากเกลือจะช่วยถนอมรักษาเนื้อหน่อไม้ไว้ไม่ให้เน่า
ความเปรี้ยวจากปลายข้าวก็จะช่วยให้หน่อไม้ไม่เน่าเช่นกัน
ปลายข้าวถ้าเราแช่น้ำไว้ก็เกิดเชื้อยีสต์ขึ้นมา
ช่วยถนอมอาหารอีกวิธีหนึ่ง (ปลายข้าว คือ ข้าวสารที่เมล็ดแตกหรือแหลก
ซึ่งบริเวณที่เมล็ดแตกคือ จมูกข้าว เป็นส่วนที่มีสารอาหารมากที่สุด
เวลาที่เรานำข้าวเปลือกไปสีในโรงสีข้าว จะได้ส่วนที่เป็นข้าวสาร ปลายข้าว
รำข้าว แกลบ รำข้าว คนนำไปเลี้ยงหมู ปลายข้าว เรานำไปเลี้ยงเป็ด ไก่
คนกินข้าวสาร คนจะได้รับสารอาหารน้อยกว่าสัตว์พวกนี้)
จากนั้นเอาเนื้อหน่อไม้ไปบรรจุใส่ปี๊บหรือไห ปิดปากให้สนิท
พอถึงช่วงหน้าแล้งก็สามารถนำมาประกอบอาหารได้ จะทำเป็นซุป
หรือแกงใส่ปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ เนื้อไก่ หน่อไม้จะมีรสเปรี้ยว
อร่อยพอดี บางคนถ้ารับประทานมาก อาจจะเกิดอาการร้อนคอนิดๆ
หรือถ้าจะทำเป็นหน่อไม้แห้ง ก็ต้องนำหน่อไม้ที่มีความยาวไม่เกิน ๑๒
นิ้วมาเผาไฟเหมือนข้าวหลาม จนเปลือกไหม้
สังเกตเนื้อหน่อไม้ถ้าเหลืองแล้วก็นำมาปอกเปลือก จะใช้เข็ม เหลาไม้แหลมๆ
ขนเม่นแบบไหนก็ได้ ขูดกับหน่อไม้ทำให้เป็นเส้นยาวๆ
(ถ้าเป็นหน่อไม้ดิบจะใช้มีดสับให้เป็นเส้นๆ)
จากนั้นนำเส้นหน่อไม้ไปตากแดดให้แห้งบรรจุใส่ถุงให้มิดชิด
ไม่ให้อากาศเข้า เก็บไว้รับประทาน
เวลานำออกจากถุงก็แช่น้ำให้หน่อไม้คืนตัว นำมาทำแกงเปรอะก้ได้
หน่อไม้จะหอม อร่อย ส่วนใหญ่เราจะนำหน่อไม้แห้งมาแกงใส่เห็ดบด หรือ
เห็ดกระด้าง ใส่น้ำใบย่านาง ชะอม รสชาติอร่อยไม่แพ้หน่อไม้สด
ทำไว้เยอะๆก็นำมาขายเป็นสินค้าพื้นเมืองได้
ซึ่งพอจะมีคุณค่าทางโภชนาการหลงเหลืออยู่บ้าง
และก็ถือว่าเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และมีรายได้เพิ่มขึ้น
เพื่อช่วยให้กระดูกสันหลังของชาติ (ที่มีอยู่เหลือน้อยเต็มทน)
พอลืมตาอ้าปากได้บ้าง ในยุคเศรษฐกิจแบบเก่าๆ
หน่อไม้ดองหรือหน่อไม้เปรี้ยว หน่อไม้แห้ง ยังพอหากินซื้อได้แถบๆภาคอีสาน
และที่จังหวัดเลย ผู้เขียนรับรองได้
เนื้อหน่อไม้จะอร่อยกว่าที่จังหวัดอื่นๆ (จริงๆ)
โดย ไพรวัน สตางค์จันทร์
ในต่วย' ตูน ปีที่ ๓๑ เล่มที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๕
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น