...+

วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552

รัฐประชาธิปไตยต้องลดบทบาทลง

โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช 4 ตุลาคม 2552 13:19 น.
ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า
ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ทำให้รัฐเปลี่ยนแปลงเป็นรัฐประชาธิปไตยไปได้
ทั้งนี้เพราะรัฐมีวิวัฒนาการมายาวนาน ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี
รัฐได้สร้างกฎหมาย ระบบราชการ
รวมทั้งคุณค่าที่กำหนดพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่
ส่วนระบอบประชาธิปไตยนั้นเกิดทีหลัง
และยังไม่มีพลังพอที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะเดิมของรัฐที่เป็นอำนาจนิยม

พลังที่จะเปลี่ยนลักษณะอำนาจนิยมรวมศูนย์ของรัฐได้ก็คือ
พลังประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชนย่อมทำให้เกิดความสัมพันธ์ชุดใหม่ขึ้น
เป็นความสัมพันธ์สองทาง

การมีระบอบประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่า
การมีส่วนร่วมของประชาชนจะเพิ่มมากขึ้นโดยอัตโนมัติ
การมีส่วนร่วมของประชาชนอาจจำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะการให้สิทธิการเลือกตั้ง
เป็นครั้งคราวเท่านั้น

การมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีขอบเขตกว้างขวางมากน้อยเพียงใดนั้น
ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการคือ

1. การมีข้อมูลข่าวสารของประชาชน

2. การตื่นตัวอยากมีส่วนร่วมของประชาชน

3. ประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่ทำให้ประชาชนมีความตื่นตัว

4. กิจกรรมที่มีมากและถี่พอที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม

หากพิจารณาปัจจัยทั้งสี่ด้านแล้ว
จะเห็นได้ว่าปัจจุบันประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ทำให้มีความรู้
ความเข้าใจในประเด็นปัญหาต่างๆ และนำไปสู่การตื่นตัวของประชาชน

แต่สิ่งที่ยังขาดไปก็คือ
จำนวนกิจกรรมที่ประชาชนสามารถเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองได้นั้น
มีอยู่น้อยมาก นอกจากการเลือกตั้งแล้ว ก็มีเรื่องสิ่งแวดล้อม
และการกำหนดผังเมืองที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีการทำประชาพิจารณ์
นอกจากนั้น ก็มีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น

การที่ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมน้อยเป็นเพราะรัฐ
โดยเฉพาะส่วนกลางได้เข้าไปดำเนินการต่างๆ
จนประชาชนไม่มีโอกาสทำกิจกรรมหลายอย่างเองนอกจากกรม 100 กว่ากรมแล้ว
ก็ยังมีรัฐวิสาหกิจ 60 กว่าแห่ง และองค์การมหาชนอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนั้น
ส่วนกลางยังมีตัวแทนของกรมในภูมิภาคคือ ในจังหวัดทุกจังหวัดอีกด้วย

ดังนั้นประเทศไทยจึงประกอบไปด้วย กรม มากกว่าจังหวัด
จังหวัดมีพื้นที่และกิจกรรมที่ตัวแทนของส่วนกลางเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ
จนเต็ม ประชาชนในจังหวัดเองมีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัดน้อยมาก

รัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยว
จังหวัดไม่ใช่ส่วนราชการตามพระราชบัญญัติงบประมาณ
จึงไม่สามารถตั้งงบประมาณจังหวัดได้
เวลานี้ไม่มีข้อมูลว่าจังหวัดใดมีรายจ่ายด้านใดต่อหัวประชากรอย่างไร
การพัฒนาจังหวัดก็คือ การรวมโครงการต่างๆ ที่กรมในส่วนกลางเป็นฝ่ายกำหนด
ประชาคมในจังหวัดไม่มีส่วนร่วมในการตั้งเป้า

เวลานี้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการได้จัดทำตัวชี้วัดผลงานของกรมต่างๆ
ขึ้น ทำให้กรมต่างๆ ต้องมีการตั้งเป้า
และมีการวัดผลงานอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่จังหวัดต่างๆ
ไม่มีการตั้งเป้า และไม่มีตัวชี้วัด
เราไม่มีข้อมูลเชิงเปรียบเทียบระดับการพัฒนาของแต่ละจังหวัด
เราไม่มีความรู้ว่าจังหวัดใดล้าหลังกว่าจังหวัดอื่นในแง่การศึกษา
การสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมอย่างไร

ในสหรัฐอเมริกา
มลรัฐมีบทบาทหลักในการพัฒนาส่วนกลางมีบทบาทจำกัดมาก
รัฐบางรัฐมีการจัดทำการเทียบเคียงมาตรฐานชีวิต (Benchmark)
มลรัฐตั้งเป้าว่า แต่เดิมสภาพการดำรงชีพแต่ละด้านเป็นอย่างไร
และมีเป้าหมายในการลดหรือเพิ่มระดับการดำรงชีวิตอย่างไร

หากจังหวัดของเรามีการตั้งเป้า
ประชาคมในจังหวัดก็จะมาประชุมปรึกษาหารือกันถึงปัญหาที่เผชิญอยู่
และหาทางแก้ไข โดยการตั้งเป้าและมีตัวชี้วัด โดยมีงบประมาณเพื่อการนั้น

ปัจจุบันจะเห็นว่าจังหวัดของเรามีเฉพาะคำขวัญประจำจังหวัด เช่น
มีสถานที่สำคัญ มีธรรมชาติสวยงาม
แต่ไม่มีจังหวัดใดที่ตั้งเป้าว่าจะเป็นจังหวัดที่มีการให้บริการทางการศึกษา
ที่ดีที่สุดของประเทศ หรือมีอากาศบริสุทธิ์ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี

ด้วยเหตุที่จังหวัดไม่มีกิจกรรม
ไม่มีงบประมาณที่เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของคนในจังหวัดนั้นเอง
คนในจังหวัดจึงไม่มีส่วนร่วม เป็นเพียงผู้รับบริการจากโครงการต่างๆ
ที่กำหนดมาจากส่วนกลาง ในชีวิตประจำวันของประชาชน
การเมืองจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับพวกเขามากนัก นอกจากนั้น
รัฐบาลบางสมัยยังไปสร้างการพึ่งพารัฐให้แก่ประชาชน ด้วยการนำกองทุนต่างๆ
ไปให้หมู่บ้าน และให้คนกู้ยืมอีกด้วย

การ พัฒนาระบอบประชาธิปไตยของเราเป็นไปได้ยาก
ก็เพราะรัฐเข้าไปมีบทบาทมากจนประชาชนไม่ต้องคิด ไม่ต้องตัดสินใจด้วยตนเอง
รัฐประชาธิปไตยจะต้องลดบทบาทลง และเพิ่มบทบาทให้แก่ประชาชนมากขึ้น
แทนที่จะให้ประชาชนมีบทบาทเพียงการไปออกเสียงลงคะแนนสี่ปีครั้งเท่านั้น

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000116775

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น