เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยนายสบโชค สุขารมณ์
รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีทุจริตโครงการออกสลากเลขท้าย 2 ตัว 3
ตัว พร้อมด้วยองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน
ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2551
ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1
คณะรัฐมนตรีชุดรัฐบาลทักษิณเป็นจำเลยที่ 2-30
และคณะผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นจำเลยที่ 31-47
ในฐานความผิดดังต่อไปนี้
1. เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อหรือจัดการทรัพย์
ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของคนอื่นโดยทุจริต (ยักยอก)
2. เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการดูแลกิจการ
เข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
3. เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จ่ายทรัพย์
จ่ายเกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่น
4. เป็นเจ้าพนักงานที่แสดงว่ามีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร
เรียกเก็บโดยทุจริตหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร
5. เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ
เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
ตามประมวลกฎหมายอาญา 147, 152, 153, 154, 157 ประกอบมาตรา 83, 84,
86, 90, 91 และความผิดตาม
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502
มาตรา 3, 4, 8, 9, 10
ในการฟ้อง ป.ป.ช.ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 47 คนตามกฎหมาย
พร้อมทั้งขอให้มีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันคืนหรือใช้ทรัพย์ที่จำเลยทั้ง
หมดร่วมกันมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินซึ่งเป็นรายได้จากการออกสลากของสำนักงาน
สลากฯ ซึ่งเป็นผู้เสียหายรวมจำนวน 14,862,865.94 บาท และขอให้นับโทษ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 จากคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก
ซึ่งศาลได้ตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปีด้วย
จากคำฟ้องที่ ป.ป.ช.ได้ยื่นต่อศาลจะเห็นได้ว่า
โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเพื่อให้ศาลพิพากษาลงโทษ ทั้งทางอาญา และทางแพ่ง
แต่ผลจากการพิจารณาของตุลาการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง
ทางการเมือง ปรากฏว่าในจำนวนจำเลย 46 คน เว้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ซึ่งศาลสั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากจำเลยหลบหนีออกนอกประเทศ
ไม่มาฟังคำพิพากษาในคดีก่อนหน้านี้แล้ว มีจำเลยเพียง 3
คนเท่านั้นที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษ และ 3 คนที่ว่านี้ก็คือ
1. ให้จำคุกจำเลยที่ 10 นายวราเทพ รัตนากร รมช.คลัง เป็นเวลา 2 ปี
ปรับ 20,000 บาท
2. ให้จำคุกจำเลยที่ 31 นายสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลัง
และประธานบอร์ดกองสลาก เป็นเวลา 2 ปี ปรับ 10,000 บาท
3. ให้จำคุกจำเลยที่ 42 นายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีต ผอ.กองสลาก
เป็นเวลา 2 ปี ปรับ 10,000 บาท
พร้อมกันนี้ได้ออกหมายจับจำเลยที่ไม่มาฟังคำพิพากษา 4 คน คือ
1. จำเลยที่ 21 นายอดิศัย โพธารามิก รมว.พาณิชย์
2. จำเลยที่ 9 ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รมว.คลัง
3. จำเลยที่ 43 พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ผอ.กองสลากฯ
4. จำเลยที่ 31 นายสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลัง
และประธานบอร์ดกองสลาก
หลังจากที่คำพิพากษาของศาลได้ปรากฏเป็นข่าวออกมา
ได้มีเสียงสะท้อนในสังคมทั้งในส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม
ทุกคนก็ให้ความเคารพในคำพิพากษาของศาลในฐานะเป็นสถาบันยุติธรรม
อันเป็นองค์กรหลักประการหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย
ในส่วนที่เห็นด้วยก็ให้เหตุผลว่า
ถ้าสถาบันตุลาการเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขและป้องกันปัญหาทุจริต
คอร์รัปชันได้มากขึ้น
และให้ความเป็นธรรมแก่ผู้คนในสังคมภายใต้กรอบแห่งกฎหมายได้มากยิ่งขึ้น
เท่าใด ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันจากนักการเมืองด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร
ก็จะน้อยลงและหมดไปในที่สุด
ส่วนที่ไม่เห็นด้วยก็เพียงแต่รู้สึกน้อยใจที่ศาลลงโทษสถานเบา
เมื่อเทียบกับความผิดปัจเจกบุคคลทั่วไปกระทำผิดในคดีอาญาในข้อหาปล้นทรัพย์
หรือฉ้อโกงที่จำนวนเงินน้อยกว่าแต่ต้องติดคุก
ดังที่เคยเกิดขึ้นกับแม่ลูกอ่อนขโมยของเล็กน้อยเพียงเพื่อนำไปเลี้ยงลูกแต่
ต้องติดคุก เป็นต้น
ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
คนไทยทุกคนก็ควรจะต้องให้ความเคารพต่อสถาบันศาลที่พิจารณาพิพากษาภายใต้
กฎหมาย และการให้ความเคารพเช่นนี้ ถ้ามีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ
จนถึงขั้นว่าสถาบันตุลาการมีความเข้มแข็ง
และมีความเป็นอิสระอย่างเต็มที่แล้ว
เชื่อได้ว่าประเทศไทยก็มีความสงบและร่มเย็นไม่แพ้ประเทศใดในโลก
แต่ก่อนที่จะถึงจุดนี้ ก็ควรอย่างยิ่งที่คนไทยทุกคนจะต้องอดทน
และใส่ใจต่อปัญหาบ้านเมือง
ด้วยการช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลพฤติกรรมของนักการเมืองให้อยู่ในกรอบ
แห่งกฎหมาย และศีลธรรมมากยิ่งขึ้น
และถ้าพบว่านักการเมืองคนใดจากพรรคใดเดินออกนอกลู่นอกทางแห่งกฎหมาย
และศีลธรรมก็จะต้องช่วยกันไล่ออกไปให้พ้นทางด้วยการไม่เลือกเข้ามาให้มี
โอกาสแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบเป็นการเพิ่มภาระให้สถาบันตุลาการต้องมาไล่
จับผิด และลงโทษดังที่เกิดขึ้นอย่างดาษดื่นในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา
ครม.ที่ร่วมกันอนุมัติไม่ผิดร่วมกัน
แต่ผิดเพียงบางคนที่เกี่ยวข้องโดยตรง ชาวบ้านมองแล้วค้านต่อความรู้สึก
แต่ทำไมในแง่ของนักกฎหมายจึงมองสวนทางกัน?
เกี่ยวกับเรื่องนี้
ถ้าอ่านจากคำพิพากษาแล้วจะพบว่าศาลท่านมองประเด็นเจตนา
และความรีบด่วนในการพิจารณาอนุมัติของ ครม.มาประกอบการพิจารณา
จะเห็นได้จากการเสนอเรื่องนี้เข้า ครม.กระทำกันเร่งด่วน ไม่ผ่านเลขาธิการ
ครม.และรองนายกรัฐมนตรีเพื่อกลั่นกรองเป็นวาระพิเศษ
ครม.จึงไม่น่าจะทราบรายละเอียด เป็นต้น
อีกประการหนึ่ง ถ้ามองจากคำพิพากษาลงโทษจำเลย 3
คนซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานของกองสลาก
จึงอนุมานได้ว่ารู้รายละเอียดดีกว่าผู้เข้าร่วมประชุม ครม.อื่นๆ
ที่ไม่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม จากคดีหวยบนดินที่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30
กันยายนที่ผ่านมา ได้ให้บทเรียนแก่นักการเมืองไม่น้อย
ในประเด็นที่ว่าถ้าเป็นเจ้าของในเรื่องใดก่อนที่จะนำเสนอเข้า
ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติ
จะต้องมีความละเอียดรอบคอบในแง่ของกฎหมายและผลประโยชน์ได้เสียในแง่ของการลง
ทุนว่าคุ้มหรือไม่คุ้มก่อนที่จะนำเสนอ
อย่า คิดเพียงว่า ครม.อนุมัติแล้วเป็นการประทับตราผ่าน
ไม่ทำให้ตนเองต้องรับผิด หรือบางคนอาจมองเลยไปกว่านี้ว่า
ถ้าจะต้องผิดก็มีเพื่อนร่วมความผิดทั้งครม.
ขอให้เลิกคิดได้นับตั้งแต่ได้ยินได้ฟังคำพิพากษาคดีหวยบนดินเป็นต้นไป
เพราะนี่คือบรรทัดฐานของการเป็นรัฐมนตรีว่าควรจะรู้อะไรบ้าง
และไม่ควรทำอะไรบ้าง
ถ้าไม่ต้องการติดคุกให้เสียชื่อเสียงของตนเองและวงศ์ตระกูล
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000117336
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น