"งานประเพณีไหลเรือไฟ นครพนม" 27 กันยายน-5 ตุลาคม 2552 ณ
บริเวณศาลากลางจังหวัด และริมเขื่อนถนนสุนทรวิจิตร อำเภอเมือง
จังหวัดนครพนม
ประเพณีไหลเรือไฟเป็น
ประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวอีสานสืบทอดปฏิบัติในเทศกาลออกพรรษา
กระทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำถึงแรม 1 ค่ำ เดือน 11
จังหวัดที่มีการไหลเรือไฟปัจจุบันคือจังหวัดศรีสะเกษ สกลนคร นครพนม
หนองคาย เลย และอุบลราชธานี โดยเฉพาะชาวนครพนมนั้นถือเป็นประเพณีสำคัญมาก
เมื่อใกล้จะออกพรรษาชาวบ้านจะแบ่งกันเป็น "คุ้ม"
โดยยึดถือเอกชื่อวัดใกล้บ้านเป็นหลักในการตั้งชื่อคุ้ม เช่น
ถ้าอยุ่ใกล้วัดกลางก็จะเรียกกันว่า "ชาวคุ้มวัดกลาง" ชาวคุ้มวัดต่าง ๆ
ก็จะจัดให้มีการแข่งเรือ ส่วงเฮือ แห่ปราสาทผึ้ง และการไหลเรือไฟ
เรือไฟ หรือภาษาถิ่นเรียกกันว่า "เฮือไฟ" นี้
เป็นเรือที่ทำด้วยต้นกล้วยท่อนกล้วยหรือไม้ไผ่ ต่อเป็นลำเรือยาวประมาณ 5
- 6 วา ข้างในบรรจุขนม ข้าวต้มผัดหรือสิ่งของที่ต้องการบริจาคทาน
ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูปเทียน ตะเกียง ขี้ไต้
สำหรับจุดให้สว่างไสวก่อนจะปล่อยเรือไฟ ซึ่งเรียกว่า การไหลเรือไฟ หรือ
ปล่อยเฮือไฟ
มูลเหตุของการไหลเรือไฟนั้นมีคตินิยมเช่นเดียวกับการลอยกระทง
แต่เป็นการลอยกระทงก่อนที่อื่น 1 เดือน โดยมีความเชื่อกันหลายประเด็นคือ
เป็นความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาทที่ประทับไว้ ณ
หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระรัตนตรัย
ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาคุณพระแม่คงคา
และความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพญานาค
ชาวนครพนมได้ผสมผสานความเชื่อถือในการไหลเรือไฟไว้ด้วยสาเหตุ
หลายอย่าง และเนื่องจากลักษณะทำเลภูมิประเทศแม่น้ำโขงหน้าเมืองนครพนมนั้นสวยงามมาก
โดยเฉพาะในวันเพ็ญ เดือน 11 ท้องฟ้าแจ่มใสอากาศเย็นสบาย
ชาวนครพนมจึงได้ร่วมใจกันฟื้นฟูประเพณีไหลเรือไฟให้เป็นประเพณีสำคัญของ
จังหวัดเมื่อ พ.ศ. 2523 มีงานรวม 4 วัน ตั้งแต่วันขึ้น 12 -15 ค่ำ
แต่วันที่สำคัญที่สุดคือ วันสุดท้าย ซึ่งเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
มีการไหลเรือไฟลงสู่แม่น้ำโขงอย่างมโหฬาร
ก่อนถึงวันงานไหลเรือไฟ
ชาวคุ้มวัดจะช่วยกันประดิษฐ์ตกแต่งเรือไฟด้วยต้นกล้วย
ไม้ไผ่หรือวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่งที่สามารถลอยน้ำได้
ให้มีรูปร่างลักษณะเหมือนเรือมีความยาวไม่น้อยกว่า 6 เมตร
จะประดิษฐ์เป็นรูปเจดีย์ วิหาร หงส์ นาค ครุฑ
หรือรูปอย่างใดก็ได้ที่คิดว่าสวยงาม
มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อความสวยงามและเพื่อให้การจุดประทีป
โคมไฟอยู่ได้ทนทาน เมื่อถึงวันงาน ภาคกลางวันก็จะมีขบวนแห่ไหลเรือไฟบก
ซึ่งนำขึ้นไปวางบนพาหนะล้อเลื่อนต่างๆ
แล้วเข้าขบวนแห่แหนทุกคุ้มวัดพร้อมกัน
โดยมีการแสดงพื้นบ้านประกอบขบวนอย่างสนุกสนานสวยงาม
ในขณะนั้นคณะกรรมการตัดสินก็จะให้คะแนนผู้ที่จัดส่งเรือไฟเข้าประกวดด้วย
ขบวนแห่เรือไฟในภาคกลางคืน ก็จะมีการทำพิธีกรรมทางศาสนา เช่น
กราบพระ รับศีล ฟังเทศน์ และการกล่าวบูชารอยพระพุทธบาท
ต่อจากนั้นจึงนำเรือไฟไปลงน้ำ
และเริ่มจุดประทีปโคมไฟแล้วปล่อยให้ล่องไปตามแม่น้ำโขงลงไปทางทิศใต้
จังหวัดนครพนมจึงขอเชิญผู้ที่สนใจร่วมงานมหกรรมไหลเรือไฟ
ชมการลอยกระทงสาย งานพาแลง และมหรสพต่างๆ รำบูชาพระธาตุพนมของสาวงาม 7
เผ่า การแห่ขบวนปราสาทผึ้ง เรือไฟบก แข่งขันเรือยาว พาข้าวแลง
ชมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การแสดงศิลปวัฒนธรรม
การออกร้านจำหน่ายสินค้านานาชนิด
สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานจังหวัดนครพนม โทรศัพท์ 0 4251
1287, 0 4251 1574 สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครพนม โทรศัพท์ 0 4251
1730, 0 4252 0797 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครพนม โทรศัพท์ 0
4251 3490-1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น