...+

วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุดมศึกษาไทย (แบบพึ่งตนเอง)

โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ 26 กรกฎาคม 2552 14:58 น.
การพัฒนาการอุดมศึกษาให้เข้มแข็งถือเป็นรากฐานที่สำคัญมากในการพัฒนาประเทศ
ดังจะเห็นได้ว่าอารยประเทศทั้งหลายในโลกนี้ต่างก็มีสถาบันอุดมศึกษาที่เข้ม
แข็งเสมอ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกานั้นได้มีการวิเคราะห์กันว่าที่ก้าวเข้ามาเป็นมหาอำนาจ
ของโลกได้อย่างรวดเร็วนั้นก็เพราะมีมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำเป็นปัจจัยส่ง
เสริมหลักนั่นเอง

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (ร. 5)
ทรงเล็งเห็นการณ์ไกลในการเชื่อมโยงการศึกษากับการพัฒนาประเทศไทยให้ทัดเทียม
นานาอารยประเทศ จึงทรงส่งนักศึกษาออกไปศึกษาต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
ส่งผลให้เกิดการกระโดดทางการพัฒนาประเทศในยุคนั้นเป็นอย่างมาก

จนบัดนี้เวลาล่วงมากว่าร้อยปีแล้ว
รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาได้ลงทุนมหาศาลส่งนักศึกษาไทยออกไปศึกษาต่างประเทศ
เรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง และในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
จนจบปริญญาเอกในวิทยาการสาขาต่างๆ นับหมื่นๆ คน ปริญญาโทอีกเป็นแสน
แต่ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถยืนบนขาตัวเองได้ในแง่วิชาการสักที
จะทำโครงการใหญ่น้อยอะไรแต่ละทีก็ต้องมีที่ปรึกษาต่างชาติเสมอ
แม้แต่โครงการขุดค้นด้านโบราณคดีก็ตาม
ไม่ต้องเอ่ยถึงโครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในที่นี้ขอวิเคราะห์แบบย้อนเกร็ดว่าความอ่อนแอของนักวิชาการใน
มหาวิทยาลัยไทยนั้น
มีสาเหตุหลักมาจากการที่เราส่งนักศึกษาไปเรียนต่างประเทศ
"เป็นระยะเวลายาวนานเกินไป" และ "ไร้ทิศทางเกินไป"
ซึ่งก่อให้เกิดผลพวงอันเลวร้ายตามมาหลายประการ เช่น

1. เสียเงินออกนอกประเทศ (ใน พ.ศ. 2545
ซึ่งแม้เป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ก็ยังเสียเงินไปเรียนกันประมาณปีละ 45,000
ล้านบาท เมื่อคิดรวมหมดทุกคนที่ไปเรียนอยู่โดยทุนส่วนตัวและทุนรัฐบาล..ประมาณตั้ง
5% ของงบประมาณชาติในขณะนั้น)

2. ทำให้มหาวิทยาลัยไทยอ่อนแอทางการศึกษา
เพราะไม่ได้นักศึกษาคุณภาพดีเข้ามาป้อนการศึกษาระดับโท-เอก
(ได้แต่พวกหมดหนทางไปเรียนนอกเข้าเป็นวัตถุดิบ)

3. ทำให้การวิจัยในมหาวิทยาลัยอ่อนแอ
เพราะไม่มีแรงงานและมันสมองของนักศึกษาบัณฑิตศึกษาที่เก่งๆ คอยช่วยเหลือ
(ทำวิทยานิพนธ์)
แต่กลับส่งมันสมองชั้นดีเหล่านี้ไปทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งให้
มหาวิทยาลัยต่างชาติเสียหมด เท่ากับว่าเราเอางบของประเทศไทยที่จนๆ
ส่งสมองชั้นเลิศของเราไปช่วยพัฒนาต่างชาติที่เขารวยกว่าเราร้อยเท่า

4. เมื่อมันสมองเหล่านั้นกลับมาสู่ประเทศแล้ว
(หากไม่โดนต่างชาติดูดตัวไปเสียก่อน)
ส่วนใหญ่ก็จะทำงานวิจัยในเรื่องเดิมที่เคยทำ ณ ต่างประเทศต่อไป
ซึ่งมักไม่ค่อยมีผลต่อการพัฒนาชาติไทย แต่กลับมีผลต่อการพัฒนาชาติอื่น
(ทั้งที่ใช้เงินคนไทยทำงานนี้)
เท่ากับว่าชาติเราเสียเงินทั้งขึ้นทั้งล่อง
(ยังไม่นับการเสียโอกาสอีกมหาศาล)

5. เมื่อมันสมองระดับสูงเหล่านี้เข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
และรับนักศึกษาปริญญาโท-เอก (ที่เหลือเดนจากการไม่สามารถไปเรียนนอกได้)
เข้ามาทำงานวิทยานิพนธ์กับตน
ก็จะแจกโจทย์วิจัยเพื่อพัฒนาชาติอื่นเหล่านี้ให้นักศึกษาช่วยทำกันต่อไปอีก
นาน นับเป็นการสูญเสียระยะยาวทีเดียว

กรณีประวัติศาสตร์ของสองชาติที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งคือ รัสเซีย
และญี่ปุ่น สองชาตินี้สร้างชาติมาคล้ายกันคือพระเจ้าปีเตอร์มหาราชแห่งรัสเซีย
และจักรพรรดิเมจิแห่งญี่ปุ่นทรงส่งนักศึกษาออกไปศึกษาวิทยาการจากตะวันตกใน
เวลาเพียงประมาณ 30 ปี เท่านั้น จากนั้นก็ลดจำนวนการส่งออกลงมาก
แล้วหันมาพัฒนาการศึกษาและการวิจัยภายในประเทศของตนเอง
จนทั้งสองประเทศกลายสภาพจากบ้านป่าเมืองเถื่อนมาเป็นประเทศมหาประเทศได้
อย่างรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์โลกก่อนหน้านั้นก็ว่าได้
น่าคิดว่าถ้าสองประเทศนี้ส่งนักศึกษาไปเรียนนอกแบบต่อเนื่องยาวนานนับร้อยปี
เหมือนไทยเราโดยไม่คิดสร้างความรู้ด้วยตัวเองบ้าง ป่านนี้จะเป็นอย่างไร

ผู้เขียนใคร่ขอเสนอหนทางแก้ไขความอ่อนแอและพัฒนาความเข้มแข็ง
ของมหาวิทยาลัยไทยแบบย้อนเกล็ดว่า
ให้ลดการส่งนักศึกษาไปเรียนต่างประเทศให้มากที่สุด
(คงไว้เพียงจำนวนน้อยจำนวนหนึ่งเพื่อ "ทรง" ความรู้เท่านั้น)
แล้วหันมาสร้างค่านิยม และสร้างแรงจูงใจให้เรียนในประเทศไทยให้มากที่สุด
ซึ่งในขณะนี้สามารถทำได้เป็นอย่างดีเพราะประเทศไทยมีนักวิชาการระดับปริญญา
เอกในสาขาวิชาการต่างๆเป็นจำนวนมากพอที่จะตั้งตัวทางวิชาการได้แล้ว

โดยเฉพาะนักศึกษาทุนรัฐบาลต้องเรียนในประเทศเท่านั้น
โดยนักศึกษาระดับปริญญาเอกมีเงินเดือนให้ 15,000 บาทเป็นเวลา 4 ปี
มีงบสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์จำนวน 2 ล้านบาท
และมีงบให้อาจารย์ไปเสนอผลงานวิจัยต่างประเทศได้ 2 แสนบาท
(ซึ่งอาจารย์ไทยส่วนใหญ่ชอบมาก) การทำเช่นนี้มีข้อดีคือ

1. ถูกกว่าส่งไปเรียนนอก 3 เท่า

2. เงินอยู่ในประเทศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยปีละนับหมื่นล้าน

3. ช่วยพัฒนาความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยไทย
(อาจารย์มีงานวิจัยทำและมีนักศึกษาเก่งๆ ช่วยงานวิจัย)

4. หัวข้อวิจัยสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศไทย
(อาจกำหนดเป็นเงื่อนไขของการให้ทุนวิจัยวิทยานิพนธ์)

5. เป็นการพึ่งตนเอง แทนการพึ่งต่างชาติร่ำไป
จะส่งอานิสงส์มหาศาลไปยังภาคอื่นๆ อย่างคาดไม่ถึงอีกมาก (ลองนึกดูสิ)

ศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของคนไทย
สอนให้เรารู้จักพึ่งตนเอง ดังพุทธพจน์ที่ว่า "ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน"
แต่นักวิชาการไทยส่วนใหญ่และนักวางนโยบายทางการศึกษาส่วนใหญ่มักคิดกันได้
แต่การจะพึ่งการศึกษาของต่างชาติอยู่ร่ำไป..และดูเหมือนว่าจะตลอดไปหากไม่มี
อะไรมากระตุ้นให้เป็นอื่น
ไม่มีใครคิดจะพึ่งตนเองด้วยการส่งเสริมให้เกิดการเรียนในประเทศแทนการส่งไป
เรียนเมืองนอกกันโครมๆ บ้างเลย เช่น รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ (นายกฯ
จบนอกอีกคน) นั้น

เมื่อฟื้นจากพิษโรคเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง"
ก็ประกาศนโยบายส่งออกนักศึกษา 5,000 คนทันที
นัยว่าเพื่อสร้างคนไว้เอามาพัฒนาประเทศ
ซึ่งเป็นการติดกับดักของวิสัยทัศน์เดิมๆ เก่าๆ
ทั้งที่หาเสียงทางการเมืองเสียเลิศหรูว่า "คิดใหม่ทำใหม่"
อีกทั้งยังมีโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งด็อกเตอร์
โดยด็อกเตอร์เหล่านี้ส่งไปเรียนต่างประเทศหมด
ไม่เคยคิดจะให้เรียนในเมืองไทยเราบ้างเลย

การส่งเสริมให้เรียนในประเทศ
และนโยบายมาตรการให้ทุนวิจัยที่ชาญฉลาด
จะช่วยพัฒนาปัญญาและความรู้ของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยไทย
พร้อมกับช่วยพัฒนาประเทศให้มั่งคั่งพร้อมกันไป เชื่อได้ว่า 20
ปีจากนี้ไปไทยเราจะพึ่งตนเองได้ทางวิชาการ
ทั้งนี้หาใช่ว่าเราจะปิดประเทศด้านวิชาการ
เพราะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับต่างชาติยังคงมีอยู่เพียงแต่ว่าบทบาทและ
ลักษณะจะเปลี่ยนไปเป็น "เพื่อนฝูง" แทนการเป็น "ลูกไล่" แบบเก่าก่อน
การให้ทุนไปเสนอผลงานวิจัย ณ
ต่างประเทศก็เป็นกุศโลบายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยปริยายอยู่แล้วด้วย

ชาติ ไทยได้ลงทุนส่งคนไปเรียนนอกมาร้อยกว่าปีจนมีดอกเตอร์ในทุกสาขาวิชาการเต็ม
ประเทศ ผู้เขียนเชื่อว่าถ้ามีความตั้งใจทางการเมืองที่แน่วแน่
และมีวิสัยทัศน์ทางการศึกษาของชาติที่ถูกต้อง
ชาติเราต้องพึ่งตนเองทางวิชาการได้ภายใน 20 ปีจากนี้ไปอย่างแน่นอน


....ทวิช จิตรสมบูรณ์


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000084436

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น