...+

วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

บีโอไอ:ขอรับการส่งเสริมฯ ไม่ยากอย่างที่คิด

บีโอไอ:ขอรับการส่งเสริมฯ ไม่ยากอย่างที่คิด
โดย วันเพ็ญ หรูจิตตวิวัฒน์


การขอรับการส่งเสริมฯ ในที่นี้หมายถึง
การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
(Office of the Board of Investment - BOI) หรือบีโอไอ
ซึ่งเป็นหน่วยราชการในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม
ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
พ.ศ. 2534 และ พ.ศ. 2544
โดยการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอเป็นการให้สิทธิประโยชน์
ทั้งด้านภาษีอากร และมิใช่ภาษีอากร

นอกจากนี้
ยังมีการบริการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในการประกอบธุรกิจ
ครอบคลุมบริการชี้แนะลู่ทางการลงทุน แนะนำการขอรับการส่งเสริมฯ
บริการจัดหาผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ บริการจัดหาผู้ร่วมทุน
บริการศูนย์ข้อมูลการลงทุน และบริการเพื่อการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ

หลักการ และหลักเกณฑ์พื้นฐานโดยสังเขปในการขอรับการส่งเสริมฯ
ประกอบด้วย เขตส่งเสริมการลงทุน รูปแบบของสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ
ประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริม หลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการ
หลักเกณฑ์การถือหุ้นของต่างชาติ และการยื่นขอรับการส่งเสริมฯ

เขตส่งเสริมการลงทุน

พื้นที่ในการส่งเสริมการลงทุนแบ่งตามเขตพื้นที่ โดยแบ่งออกเป็น 3
เขต ประกอบด้วย

เขต 1 6 จังหวัด คือ โครงการที่ตั้งสถานประกอบการในกรุงเทพมหานคร
นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

เขต 2 12 จังหวัด คือ
โครงการที่ตั้งสถานประกอบการในจังหวัดกาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี
นครนายก พระนครศรีอยุธยา ภูเก็ต ระยอง ราชบุรี สมุทรสงคราม สระบุรี
สุพรรณบุรี และอ่างทอง

เขต 3 58 จังหวัดที่เหลือผู้ประกอบการสามารถเลือกจัดตั้งโรงงาน
หรือสถานประกอบการที่จังหวัดใดก็ได้หากไม่ขัดกับกฎหมายอื่น
สิทธิประโยชน์ขึ้นอยู่กับเขตที่ตั้งของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมและข้อ
กำหนดพิเศษสำหรับเงื่อนไขนั้นๆ โดยปกติโครงการลงทุนที่ตั้งในเขต 3
จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด

รูปแบบของสิทธิประโยชน์

สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน ครอบคลุมทั้งด้านภาษีอากร
และไม่ใช่ภาษีอากร โดยสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร ได้แก่
ยกเว้น/ลดหย่อนอากรขาเข้าเครื่องจักร
ยกเว้น/ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบ/วัสดุจำเป็น
ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินปันผล
ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 หักค่าขนส่ง ไฟฟ้า ประปา 2 เท่า
หักค่าติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่เกินร้อยละ 25
นอกจากการหักค่าเสื่อมราคาตามปกติแล้ว

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีอากร ได้แก่
การถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อดำเนินการตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริม
รวมถึงการขอใบอนุญาตทำงาน
และการขออนุญาตอยู่ในประเทศไทยที่ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (One
Stop Service Center for Visas and Work Permits)

ประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริม

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
ได้ประกาศประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนครอบคลุมอุตสาหกรรมต่างๆ
แบ่งเป็น 7 หมวด ประกอบด้วย

หมวด 1 อุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร

หมวด 2 อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เซรามิก และโลหะขั้นพื้นฐาน

หมวด 3 อุตสาหกรรมเบา

หมวด 4 อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง

หมวด 5 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

หมวด 6 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก

หมวด 7 อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค

โดยหากประสงค์จะยื่นเอกสารขอรับการส่งเสริมฯ ที่สำนักงานใหญ่
สามารถยื่นได้ที่สำนักบริหารการลงทุนที่รับผิดชอบ แยกเป็นดังนี้

สำนักบริหารการลงทุน 1 กำกับดูแลและวิเคราะห์โครงการลงทุนหมวด 1 และ 3

สำนักบริหารการลงทุน 2 กำกับดูแลและวิเคราะห์โครงการลงทุนหมวด 2 และ 4

สำนักบริหารการลงทุน 3 กำกับดูแลและวิเคราะห์โครงการลงทุนหมวด 5

สำนักบริหารการลงทุน 4 กำกับดูแลและวิเคราะห์โครงการลงทุนหมวด 6 และ 7

หลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการ

การพิจารณาความเหมาะสมของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯ นั้น
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้

1. มีเงินลงทุนของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯ
ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 500,000
บาท

2. ต้องมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของรายได้
ยกเว้นการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน
กิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร
และโครงการที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบเป็นกรณีพิเศษ
(มูลค่าเพิ่มเป็นผลต่างระหว่างรายได้ทั้งสิ้น
หักด้วยค่าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ใช้ทั้งหมด
และค่าสินค้าและบริการที่มาจากแหล่งอื่น ได้แก่ ค่าบริการสาธารณูปโภค
เป็นต้น)

3. มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจดทะเบียนไม่เกิน 3 ต่อ 1
สำหรับโครงการริเริ่ม ส่วนโครงการขยายจะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นกรณีๆ
ไป

4. ต้องใช้กรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัยและใช้เครื่องจักรใหม่
กรณีที่ใช้เครื่องจักรเก่าต้องให้สถาบันที่เชื่อถือได้รับรองประสิทธิภาพ
และคณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบเป็นกรณีพิเศษ

5. มีระบบการป้องกันมลพิษที่ดี
สำหรับโครงการที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการฯ
จะพิจารณาเป็นพิเศษในเรื่องที่ตั้งและการจัดการมลพิษ

6. โครงการที่มีเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนมากกว่า
500 ล้านบาท ต้องแนบรายงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตามที่คณะกรรมการฯ
กำหนด

หลักเกณฑ์การถือหุ้นของต่างชาติ

โครงการลงทุนในกิจการเกษตรกรรมการเลี้ยงสัตว์ การประมง
การสำรวจและการทำเหมืองแร่
และการให้บริการตามบัญชีหนึ่งท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคน
ต่างด้าว พ.ศ. 2542 ต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ
51 ของทุนจดทะเบียน แต่โครงการลงทุนในกิจการอุตสาหกรรม
ต่างชาติถือหุ้นข้างมากหรือทั้งสิ้นได้ ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในเขตใด

การยื่นขอรับการส่งเสริมฯ

แบบฟอร์มการขอรับการส่งเสริมฯ มี 3 แบบ คือ แบบฟอร์มทั่วไป
แบบฟอร์มบริการ และแบบฟอร์มกิจการประเภท 5.8 กิจการซอฟต์แวร์
หรือกิจการประเภท 5.9 กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดย แบบฟอร์มทั่วไป
ใช้สำหรับกิจการผลิต และกิจการบริการบางประเภท แบบฟอร์มบริการ
ใช้สำหรับกิจการบริการ ส่วน แบบฟอร์มสุดท้าย จะใช้กับกิจการประเภท 5.8
และ 5.9 เท่านั้น

การยื่นแบบฟอร์มขอรับการส่งเสริมฯ
สามารถยื่นทางอินเทอร์เน็ตได้ที่
https://boieservice.boi.go.th/IPS/Default.aspx
หรือยื่นเป็นเอกสารที่สำนักงานใหญ่ สำนักงานสาขา
หรือสำนักงานในต่างประเทศก็ได้

ขอรับการส่งเสริมฯ ง่ายนิดเดียว

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม
สามารถติดต่อสอบถามขอข้อมูลได้ที่ศูนย์บริการลงทุน
หรือศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์ของสำนักงานที่ http://www.boi.go.th
โดยสามารถอีเมลหรือโทรศัพท์นัดหมายเพื่อมาพบเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการลงทุน
หรือเจ้าหน้าที่สำนักบริหารการลงทุนที่เกี่ยวข้อง
เพื่อหารือสอบถามการกรอกแบบฟอร์ม รวมถึงปัญหาอื่นๆ

"โครงการลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมฯ
ไม่ว่าจะเป็นโครงการของนักลงทุนไทย หรือนักลงทุนต่างชาติ
จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ
และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้ประกาศไว้"

เมื่อ ยื่นขอรับการส่งเสริมฯ แล้ว
เจ้าหน้าที่สำนักบริหารการลงทุนที่รับผิดชอบในการวิเคราะห์โครงการลงทุนจะ
เชิญผู้ขอรับการส่งเสริมฯ มาชี้แจงโครงการ
ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการปรากฏตาม
http://www.boi.go.th/thai/about/boi_promotion_procedure.asp
หากข้อมูลที่กรอกในแบบฟอร์มไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขประเภทกิจการนั้นๆ
เจ้าหน้าที่ก็จะแนะนำให้ผู้ขอรับการส่งเสริมฯ ปรับปรุงข้อมูล
ถ้าสามารถปรับปรุงได้
และเมื่อโครงการเป็นไปตามหลักเกณฑ์การอนุมัติให้การส่งเสริม
โครงการจะได้รับการพิจารณาให้การส่งเสริมต่อไป

โครงการลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมฯ
ไม่ว่าจะเป็นโครงการของนักลงทุนไทย หรือนักลงทุนต่างชาติ
จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ
และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้ประกาศไว้

นอกจากนั้นก็ไม่มีข้อห้ามที่จะยื่นขอรับการส่งเสริมฯ เข้ามาใหม่
หากเคยยื่นขอรับการส่งเสริมฯ แล้วไม่ได้รับการอนุมัติ
จะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลที่เป็นสาเหตุให้ไม่เข้าเกณฑ์การให้การ
ส่งเสริมเสียก่อน แล้วจึงยื่นขอรับการส่งเสริมฯ
ใหม่ในกรณีที่สามารถแก้ไขได้

ฉะนั้น เมื่อใดที่ต้องการลงทุนในธุรกิจประเภทใดก็ตาม
ก่อนการลงทุนขอให้นึกถึงบีโอไอเป็นอันดับแรก
แล้วค้นหาประเภทที่ให้การส่งเสริมนั้นว่า
ครอบคลุมประเภทกิจการที่ต้องการประกอบการหรือไม่
หากมีประเภทที่ขอรับการส่งเสริมฯ ได้
ขอให้ศึกษาเงื่อนไขประเภทกิจการโดยละเอียด
เพื่อให้ได้รับสิทธิและประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต
และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันอีกด้วย

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000084431

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น