...+

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ทันตแพทย์หัวใจอาสา สร้างศรัทธาความเป็นคน

ทันตแพทย์หัวใจอาสา สร้างศรัทธาความเป็นคน

"...ขอ ให้ถือเป็นประโยชน์ส่วนตนเปนที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เปนกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ
จะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ..."

อีกครั้งที่ได้ยินพระราชปณิธานในสมเด็จพระราชบิดา
ลั่นออกจากปากของชาวมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เมื่อพูดถึงปณิธานในการทำงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทันตแพทย์
นายแพทย์สุรพงษ์ วงศ์วัชรานนท์
ที่วันนี้นอกจากจะมีภารกิจหลักในการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนความรับผิดชอบภายใน
คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แล้ว
อาจารย์หมอท่านนี้ยังอุทิศตนเองให้กับงาน เสี่ยงภัยในพื้นที่ที่ใครๆ
ก็หวั่น "พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้"

อาจารย์หมอสุรพงษ์เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการเข้าไปช่วยเหลือ
ประชาชนในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา
ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า "เริ่มต้นจากการพูดคุย
หารือกันกับอาจารย์ปิยะ กิจถาวร ซึ่งท่านเป็นที่ปรึกษา
ให้กับศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)ว่าจะทำอย่างไรให้
เกิดความสงบสุขในพื้นที่โดยการดึงมวลชนกลับมา ตรงนี้ ผมก็บอกว่า จริงๆ
แล้ว ถ้าเราสามารถออกหน่วยในลักษณะที่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ก็น่าจะดี
เพราะคงเป็นการยากที่ประชาชนในพื้นที่จะออกมารับบริการ
เพราะระยะทางค่อนข้างไกล อีกทั้งฐานะทางเศรษฐกิจก็เป็นตัวแปรสำคัญ
ผมจึงเห็นว่าเราน่าจะลงไปดีกว่า ซึ่งก็คุยแนวความคิดเช่นนี้ไป
หลังจากนั้นทางกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ค่ายสิรินธร(พตท.)
ก็ได้มาติดต่อให้เราออกหน่วยบริการในพื้นที่"

ตั้งแต่ธันวาคม 2551 กระทั่งถึงขณะนี้
คณะทันตแพทย์และทีมงานของอาจารย์
หมอสุรพงษ์ได้ออกหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดน
ใต้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทั้งบริการ ถอนฟัน ขูดหินปูน
การอุดฟัน เป็นต้น มาแล้ว 10 ครั้ง
และแทบจะไม่มีอุปสรรคในการลงพื้นที่เลย เรียกได้ว่า
เพราะด้วยจิตอาสาของทีมทันตแพทย์ที่สมัครใจลงพื้นที่อย่างแข็งขัน
นำมาซึ่งขวัญและกำลังใจซึ่งกันและกันของทีมงาน

ผลประโยชน์สุดท้ายก็ตกแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย
ที่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตในมหาวิทยาลัยแล้วนั้น คุณหมอบอกว่า "เรา
อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ม.อ.เองมักจะถูกตั้งคำถามเป็นประจำว่า
เราได้ทำอะไรให้พื้นที่ภาคใต้บ้าง
ม.อ.ทำอะไรเพื่อช่วยแก้ปัญหาพื้นที่ชายแดนภาคใต้บ้าง
ผมเห็นว่าคณะทันตแพทย์ศาสตร์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของสงขลานครินทร์
แม้ว่าเราจะเป็นนักวิชาการ แต่เราก็ต้องให้บริการผู้ป่วย
ถ้าเราไม่ทำบทบาทตรงนี้แล้วใครจะทำ"

แม้ว่าจะหวั่นวิตกทุกครั้งที่ต้องออกหน่วยเคลื่อนที่ลงไปในเขต
พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบแต่ด้วยความเชื่อมั่นในแผน
การทำงานที่รัดกุมของ
พตท.จิตใจที่มุ่งมั่นเพื่อที่จะบริการประชาชนให้ถึงที่สุด
กำลังใจเมื่อยามนึกถึงรอยยิ้มของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลในวันที่คณะ
ทันตแพทย์เดินทางไปถึง ความหวั่นวิตกทั้งหลายก็มลายหายไป
แม้บางครั้งอาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้อกสั่นขวัญแขวนอยู่ไม่น้อย
แต่การออกหน่วยเคลื่อนที่บริการประชาชนก็ยังมีครั้งต่อไปเสมอ

"ภาพ ที่เห็นวันนี้ในเรื่องของสุขภาพ
ประชาชนในพื้นที่ยังขาดการดูแลมากๆ
ในการที่เรานำบริการไปถึงพื้นที่เช่นนี้ถ้าถามว่าเราเข้าไปช่วยแก้ปัญหาจาก
ต้นเหตุจริงๆ เลยมั้ย คำตอบคือเป็นการเติมเต็มได้นิดหน่อยเท่านั้น
สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ระบบการบริการหลักกลับมาได้ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับ
การคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น" อาจารย์หมอสุรพงษ์เล่าด้วยความเป็นห่วง

ใช่ว่าจะมีเรื่องน่ากลัวสำหรับพื้นที่ชายแดนใต้หลายครั้งที่ความประทับใจเกิดขึ้นได้ใกล้ตัว
สร้างรอยยิ้มให้คณะทำงานอยู่เสมอ

"ในส่วนของคนไข้ คือชาวบ้านน่ารักมาก บางครั้งเราสื่อสารกันไม่ได้
เพราะเค้าพูดภาษายาวีแต่เราก็อาศัยเจ้าหน้าที่ของเราที่สามารถพูดได้ช่วยแปล
ให้ เราเองก็พยายามเรียนรู้ภาษาเพื่อที่จะสื่อสารกับเขาให้ได้เค้าเองก็อดทนมาก
บางรายหมอฉีดยาชาให้ ยายังไม่ทันชาก็บอกไม่ได้ เพราะพูดภาษาไทยไม่ได้
หมอก็ไม่ทราบก็ถอนทั้งๆ ที่ยังไม่ทันชา เขาอดทนมากเพราะกลัวหมอเสียใจ
ไม่กล้าบอก บางทีเด็กตัวเล็กๆ เก่งมากฉีดยาไม่ร้องไห้เลยก็มี"

นอกจากนี้อาจารย์หมอสุรพงษ์ยังเล่าถึงทีมงานที่ออกไปให้บริการ
ประชาชนด้วยความประทับใจว่า
"การที่เราเข้าไปในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยเช่นนี้แล้วทีมงานของผมยังเข้มแข็ง
ยังมีกำลังใจที่เต็มเปี่ยมที่จะปฏิบัติงาน
เพียงเท่านี้ผมก็ประทับใจมากแล้ว ผมเองก็ต้องขอบคุณทีมงานโดยเฉพาะ
ทันตแพทย์ภาณุ สุภัทราวิวัฒน์ ผศ.ศรีสุรางค์ สุทธิปรียาศรี
ทันตแพทย์กนกพร กำภู ทันตแพทย์อลิสา อาวะภาค ผศ.วินัย ดำเกิง
ทีมผู้ช่วยทันตแพทย์
ช่างวิศวกรรมและทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงคนขับรถที่อุตส่าห์พาเราไป
ถึงจุดหมายโดยปลอดภัยแบบไม่แตะเบรค"

อาจารย์หมอสุรพงษ์ยังฝากทิ้งท้ายไว้ว่า "จริงๆ
แล้วอยากให้คณะต่างๆ
ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เข้ามาช่วยกันในรูปแบบที่ใครช่วยอะไรได้ก็
ช่วยกันคนละไม้คนละมือ
ซึ่งขณะนี้เราก็มีแผนกตาจากคณะแพทย์ศาสตร์ร่วมออกหน่วยเคลื่อนที่ไปกับเรา
ด้วย เพราะพบปัญหาสุขภาพตาในพื้นที่ค่อนข้างมาก
ถึงวันนี้เรารู้แล้ว...ว่าถ้าเราไม่ลงไป อีกหน่อยถ้าเหตุการณ์มาถึงที่นี่
ตัวเองก็อยู่ลำบาก เพราะฉะนั้นก็ต้องช่วยกัน คนละเล็กคนละน้อยก็ยังดี"

... ก้นบึ้งหัวใจในการทำเพื่อเพื่อนมนุษย์
พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์แจ้งจริงก็ต่อเมื่อเกิดเหตุการณ์เลวร้าย จวนตัว
สัญชาตญาณแห่งการพึ่งพา และการช่วยเหลือยังคงมีอยู่เต็มเปี่ยม
เพียงแต่ใครจะดึงขึ้นมาใช้หรือไม่และมากน้อยเพียงใดเท่านั้น...

**ข้อมูลจากสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000082924

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น