...+

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552

เที่ยวงานประเพณีขึ้นเขาสวาย-เคาะระฆังพันใบ-กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

สุรนทร์ - ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ทุกปี ชาวสุรินทร์ขอเชิญ "เที่ยวงานประเพณีขึ้นเขาสวาย เคาะระฆังพันใบ กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์"

“สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม”

จังหวัดสุรินทร์ มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สำคัญ ซึ่งผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนพื้นเมืองมาอย่างยาวนานแห่งหนึ่ง คือ เขาสวาย หรือ พนมสวาย อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาสวาย ท้องที่ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ มีเนื้อที่ประมาณ 1,975 ไร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศมีลักษณะเป็นเนินเขาเตี้ยๆ ติดต่อกันรอบๆ บริเวณมีเวิ้งน้ำใหญ่ ทิวทัศน์สวยงาม นอกจากนี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปี ต้นหมากหม้อหรือชาวบ้านเรียกกันว่า “ต้นอั๊ดจรู๊ก” จะออกดอกบานสะพรั่งบานสวยงามมาก

เขาสวายจะประกอบด้วยยอดเขา 3 ลูก ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปดังนี้ ยอดเขาที่ 1 พรมเปร๊าะ หรือ เขาชาย มีความสูงประมาณ 220 เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคลและปราสาทหินพนมสวาย พร้อมบาราย 3 ลูก และเจดีย์ศิลาแลงโบราณ จำนวน 1 องค์ อยู่บริเวณเชิงเขาใกล้ทางขึ้นของเขาลูกดังกล่าวด้วย

ในการนี้ได้ค้นพบเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2549 โดยนายประยุทธ เขียวหวาน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุรินทร์ ในเขตพื้นที่ที่เกิดแรงบันดาลใจจากคำบอกเล่าของ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายเสนีย์ จิตตเกษม ขณะนั้นว่าท่านได้นิมิตเห็นยอดเขาพนมสวายอยู่เนืองๆ และมีความเชื่อว่าบนยอดเขาดังกล่าวน่าจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยังไม่ปรากฏ ต่อสายตาของพวกเราชาวจังหวัดสุรินทร์อยู่อีกแน่นอน หลังจากที่มีการค้นพบปราสาทหินพนมสวายแล้ว ได้เชิญเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร เขต 12 นครราชสีมา เข้ามาตรวจสอบ

ปรากฏว่าปราสาทหินพนมสวายมีความเก่าแก่เป็นอย่างมาก โดยมีอายุประมาณ 1,000 ปี คาดว่าสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 15 ซึ่งถือว่ามีความเก่าแก่มากกว่าปราสาทหินนครวัด นครธม ในประเทศกัมพูชา และปราสาทหินพนมรุ้งในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จังหวัดสุรินทร์ของเรามีประเพณี วัฒนธรรม ที่เก่าแก่ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะ นี้ปราสาทหินพนมสวายยังไม่ได้ดำเนินการบูรณะแต่อย่างใด ยอดเขาที่ 2 พนมสรัย หรือ เขาหญิง มีความสูงประมาณ 210 เมตร ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดพนมศิลาราม ในอดีตเชื่อว่ามีถ้ำมหาสมบัติอยู่บนยอดเขาลูกนี้ ซึ่งยังไม่มีผู้ใดสามารถเข้าไปในถ้ำเพื่อหาสมบัตินั้นได้ และยังมีสระน้ำโบราณจำนวน 2 ลูกที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของเต่าศักดิ์สิทธิ์จำนวน 2 ตัว

ต่อมาภายหลังเกิดภัยอันตรายจึงได้พากันอพยพเพื่อที่จะลงไปอยู่ในหนอง พนมซึ่งอยู่บริเวณเชิงเขาดังกล่าว แต่ในขณะที่เดินทางถึงเพียงไหล่เขาเท่านั้นก็เกิดอาการแข็งตัวกลายเป็นเต่า หินขนาดใหญ่ 2 ตัว ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาหญิงที่ชาวบ้านในแถบนั้นให้ความเคารพ บูชา กราบไหว้ หากใครลบหลู่หรือขึ้นไปปืนป่ายจะทำให้เกิดภัยพิบัติแก่ตนเองและครอบครัวได้ ยอดเขาที่ 3 พนมกรอล หรือเขาคอก เป็นที่ตั้งศาลาอัฏฐมุข ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และเป็นที่ตั้งสถูปบรรจุอัฐิหลวงปู่ดูลย์ อตุโล และเป็นที่ตั้งศาลเจ้าแม่กวนอิมอีกด้วย ส่วนชื่อเขาคอกนั้นได้มาจากอดีตบนเขาลูกนี้จะมีศิลาแลงวางเรียงกันเป็นชั้นๆ เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม สูงประมาณ 1 เมตร ลักษณะจะคล้ายคอก จึงเรียกกันว่า “เขาคอก” ในปัจจุบันยังมีร่องรอยของศิลาแลงดังกล่าวให้เห็นอยู่บ้างและขณะนี้ยังไม่ ได้ดำเนินการบูรณะแต่อย่างใด

นายวิเชียร ชวลิต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า เขาสวายมีความสำคัญต่อชาวสุรินทร์มาแต่โบราณกาล กล่าวคือเมื่อถึงเดือนห้าของทุกปีบรรพบุรุษชาวสุรินทร์จะถือว่าเป็นงาน ประเพณีหยุดงาน ในภาษาเขมร เรียกว่า “ตอม” ภาษาลาวเรียกว่า “ขลำ” ภาษากวยเรียก “ตรัย” ซึ่งการหยุดงานจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ตอมตู๊จ ซึ่งหมายถึง วันหยุดงานเล็ก จะมีการหยุดงานทำงานเพียง 3 วัน นับตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือนห้า ช่วงที่ 2 ช่วงตอมธม หมายถึง วันหยุดงานใหญ่ จะมีการหยุดทำงานทั้งหมด 7 วัน นับแต่วันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 7 ค่ำ เดือนห้า ซึ่งประเพณีการหยุดงานตามช่วงระยะเวลาดังกล่าว ชาวสุรินทร์มีความเชื่อว่า ต้องหยุดการทำงานทั้งหมด หากใครไม่หยุดทำงาน ก็จะมีอันเป็นไป

ประกอบกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้าของทุกปี ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ ดังนั้น ชาวสุรินทร์ จะหยุดงานและพากันเดินทางไปขึ้นเขาสวายเพื่อกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเสริมสิริมงคลชีวิตต่อตนเองและครอบครัว และในปี 2552 การจัดงานประเพณีขึ้นเขาสวายได้เพิ่มกิจกรรมการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ ชาวสุรินทร์เคารพนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล คือ

1) เคาะระฆัง 1,080 ใบ
2) กราบไหว้พระใหญ่ หรือพระพุทธสุรินทรมงคล
3) รอยพระพุทธบาทจำลอง
4) อัฐิหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
5) พระพุทธรูปองค์ดำ
6) ปราสาทหินพนมสวาย
7) ศาลเจ้าแม่กวนอิม
8) เต่าหินศักดิ์สิทธิ์
9) สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหากใครได้ขึ้นไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ครบทั้งหมด จะเป็นการเสริมสิริมงคลชีวิตได้เป็นอย่างดี

จังหวัดสุรินทร์ ได้ให้ความสำคัญของการพัฒนาและส่งเสริมให้เขาสวายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิง วัฒนธรรม โดยได้กำหนดไว้เป็นยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว และจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ของเขาสวายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ประจำจังหวัดสุรินทร์อีกแห่งหนึ่ง

องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ โดยนายธงชัย มุ่งเจริญพร นายก อบจ.สุรินทร์ เล็งเห็นว่า ประเพณีขึ้นเขาสวายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม อันดีงามของจังหวัดสุรินทร์ สมควรได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาส่งเสริมให้ควบคู่กับวิถีการดำรงชีวิต ของคนสุรินทร์ตลอดไป

รวม ทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เขาสวายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เป็น ที่รู้จักโดยทั่วไป จึงได้ร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนตำบลนาบัว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดงานประเพณีขึ้นเขาสวาย เคาะระฆังพันใบ กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งปี 2552 ตรงกับวันที่ 26 มีนาคม 2552

ทั้งนี้ เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นให้อยู่คู่กับจังหวัดสุรินทร์ ตลอดจนเพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริ มงคลต่อไป 26 มีนาคม 2552 นี้เที่ยวงาน “ประเพณีขึ้นเขาสวายเคาะระฆังพันใบ กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์”

http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9520000032505

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น