...+

วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551

กาลเวลา และความเปลี่ยนแปลง

โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ     29 ธันวาคม 2551 18:46 น.
ท่านผู้อ่านที่เคารพ วันที่ท่านผู้อ่านออนไลน์จะได้อ่านบทความนี้ก็คือ ค่ำหรือกลางคืนวันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2551 สำหรับท่านที่จะเข้ามาอ่านทีหลัง จะได้อ่านเมื่อใดก็สุดแท้แต่ความสะดวกที่ท่านจะเปิดเข้ามา ส่วนท่านที่คอยอ่านจากหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ก็จะได้อ่านในวันอังคารที่ 30 ธันวาคม 2551
      
        อีก 2 วัน ก็จะถึงวันขึ้นปีใหม่ ผมขอถือโอกาสสวัสดีปีใหม่แด่ท่านผู้อ่านโดยทั่วถึงกันทุกคน
      
        ขอให้ตลอดปี 2552 ที่จะถึงนี้เป็นปีที่สุขสำราญบานใจของท่านและบ้านเมือง ขออย่าได้มีความเครียดเหมือนหนูติดจั่นอย่างกับในปีหนูที่ผ่านมาเลย
      
        ที่ผมเริ่มคุยกับท่านผู้อ่านด้วยเรื่องวันเดือนปี กับความสะดวกที่ท่านจะสามารถอ่านหนังสือได้นั้น ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาเฉยๆ ถ้าไม่คิดอะไร หรือบางทีสำหรับบางคนก็คิดไม่ออกหรือไม่เห็นจะต้องคิดอะไรเลย ก็มันเป็นอย่างนี้เองไม่ใช่หรือ ผมก็จะตอบว่า ไม่ใช่ดอกครับ เมื่อก่อนมันหาเป็นเช่นนี้ไม่
      
        เดี๋ยวนี้ เกือบจะทันทีที่ผมเขียนเสร็จ ท่านก็จะได้อ่านทันทีหรือจะเลือกอ่านเมื่อใดก็ได้ตามสะดวก แถมจะอ่านแบบออนไลน์หรืออ่านในหน้าหนังสือพิมพ์จริงๆ หรือไม่ก็จากอินเทอร์เน็ตอี-เมลที่เพื่อนฝูงส่งมาให้เป็นกลุ่มๆ ก็ยังได้อีก ผมจึงเก็บเอาเรื่องนี้มา ตอกย้ำให้ท่านผู้อ่านเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและความมหัศจรรย์ของกาลเวลา กับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ร่นโลก ร่นเวลา ร่นระยะที่มนุษย์จะติดต่อสื่อสารกันได้ อย่างช้าที่สุดก็ประเดี๋ยวเดียว ถ้าจะให้เร็วที่สุดก็ทำได้เดี๋ยวนั้น คือในเวลาจริงในขณะนั้นๆ ที่ฝรั่งเรียกว่า Real Time หรือเวลาจริงเลยทีเดียว
      
        นี่ต้องนับว่ามหัศจรรย์ยิ่งสำหรับคนที่เกิดภายในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เหมือนอย่างผม และศตวรรษที่ 20 นี้ ก็เป็นศตวรรษที่มหัศจรรย์ที่สุดสำหรับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลก และความมหัศจรรย์อันหลังนี้ก็เกิดจากความมหัศจรรย์ของมันสมองของมนุษย์
      
        มนุษย์บางคนคิดและเชื่อว่า มนุษย์จะเดินทางไปสู่โลกพระจันทร์ได้ และในที่สุดยังไม่ถึงปลายศตวรรษดี มนุษย์ก็สามารถไปเหยียบโลกพระจันทร์
      
        ผมเกิดที่เชียงใหม่แต่ไปโตเป็นหนุ่มเรียนชั้นม.ปลายที่โรงเรียนหนองคายวิทยา คาร ร่วมโรงเรียนกับพล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี ตอนที่พล.อ.สุจินดากับผมเดินทางเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ นั้น ถนนลาดยางระหว่างหนองคายกับอุดรธานียังไม่มี รถไฟก็ยังไปไม่ถึงหนองคาย ผมต้องขึ้นรถไฟจากอุดรฯ ไปค้างคืนที่โรงแรมฟ้าสางที่สถานีรถไฟโคราช รุ่งขึ้นเช้าจึงขึ้นรถต่อมาถึงกรุงเทพฯ ค่ำพอดี
      
        ในช่วงนั้นแหละ ที่นักวิทยาศาสตร์อเมริกันเริ่มคิดถึงการเดินทางไปโลกพระจันทร์ แต่กว่าคนจะไปโลกพระจันทร์ได้จริงๆ ผมก็เกือบจะเดินทางไปเรียนต่อเมืองนอกพอดี ผมมีสิทธิเลือกว่าจะไปอังกฤษ ฝรั่งเศส หรืออเมริกา ผมเลือกไปอเมริกาประเทศที่เกิดหลังประเทศไทยตั้ง 500 ปี
      
        ตอนที่ผมออกเดินทางนั้น ยังไม่มีเครื่องบินเจ็ต ผมเลือกไปทางยุโรป ซึ่งอย่างเร็วก็จะต้องค้างปารีส หรือโคเปนเฮเกน หรือแฟรงก์เฟิร์ตหนึ่งคืน ถ้าจะให้สบายๆ ก็ขยายเวลาเป็น 2 คืน คือแวะพักกลางทางที่เมืองเดลฮีของอินเดียเสียก่อน
      
        ตลอดเวลาที่ผมเรียนอยู่กรุงเทพฯ คิดถึงพ่อแม่ใจจะขาดอย่างไร ก็ไม่เคยคิดที่จะโทรศัพท์ไปถึง เพราะจะต้องไปพูดได้ที่เดียวคือไปรษณีย์กลาง บางรัก คงได้อาศัยแต่จดหมายปิดสแตมป์หรือไม่ก็ฝากคนไป ปิดเทอมทีจึงจะได้กลับไปเยี่ยมบ้านครั้ง
      
        พอไปอยู่อเมริกาก็อีก คนที่ผมคอยใจจดใจจ่อที่สุดในรอบสัปดาห์หนึ่งๆ ก็คือบุรุษไปรษณีย์ เรื่องจะโทรศัพท์ก็อย่าไปฝันถึง สมัยโน้นอย่าว่าแต่มือถือเลย แม้โทรศัพท์ประจำบ้านมีกันทุกหลังคาเรือนก็โทร.ทางไกลข้ามประเทศยังไม่ได้ เรื่องจะกลับมาเยี่ยมบ้านตอนปิดเทอมก็อย่าได้ฝันเลย ค่าเครื่องบินแพงและการไปมาก็ยังเรียกไม่ได้ว่าสะดวก
      
        เห็นหรือยังครับ ท่านเจ้าของศตวรรษที่ 21 ซึ่งโทรศัพท์มือถือ และจานดาวเทียมบุกเข้าไปถึงท้องนาของภูมิภาคที่ทุรกันดารที่สุด
      
        สมัยโน้น ความคิดถึงบ้านมันช่างเป็นความสุขที่ปวดร้าวทรมานเสียเหลือเกิน เพื่อนผมหลายคนทั้งหญิงและชายต้องถอนหมั้นไปมีคู่ใหม่ เพราะไม่สามารถเอาชนะความหงอยเหงา ระยะทางและกาลเวลาได้
      
        ความคิดถึงบ้านทำให้ผมต้องเกณฑ์ให้พวกพ้อง ซึ่งอยู่ต่างมหาวิทยาลัยพากันเขียนคอลัมน์ “คิดถึงเมืองไทย” ส่งมาให้
      
        นสพ.ประชาธิปไตยรายวัน สมัยที่คุณไสว พรหมิ เป็นบรรณาธิการ พูดไปทำไมมี นอกจากจะไม่ได้ค่าเขียนแล้ว แม้แต่ค่าแสตมป์ก็ยังไม่มี แต่ที่มีค่ายอดยิ่งคือทางโรงพิมพ์ส่งหนังสือไปให้อ่านทางเมล์อากาศสัปดาห์ละ ครั้ง แค่นั้นเราก็ซึ้ง และเขียนส่งกันอย่างมีวินัยยอดเยี่ยมมิเคยขาด ต้นฉบับทั้งหมดเขียนด้วยลายมือ ผู้ที่ช่วยผมประสานงานอย่างเข้มแข็งในช่วงต้นๆ คือ ดร.กมล สมวิเชียร และดร.วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ วารินทร์จากไปแล้ว และกมล หลังจากที่ได้ดีในพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่วายฝันสลายกับการเมืองแบบกงจักรกวนน้ำเน่าแบบไทยๆ ตัดสินใจไปหากินเป็นศาสตราจารย์สอนหนังสืออยู่ในอเมริกา
      
        เมื่อเปรียบเทียบกับความสะดวกของการสื่อสารคมนาคมของยุคนี้แล้ว ผมรู้สึกว่าเราแทบจะอยู่กันคนละโลก ความแตกต่างในเรื่องนี้ผมอยากรู้จริงๆ ว่าความคิดและระบบพฤติกรรมของบุคคล สังคม และระบบการเมืองของเราจะแตกต่างกันแค่ไหนอย่างไร อย่างใดจึงจะเรียกว่าดีขึ้น อย่างใดจึงจะเรียกว่าเลวลง เอามาตรฐานอะไรเป็นเครื่องตัดสิน
      
        ปีใหม่นี้ หลังจากเป็นสิบๆ ปีมาแล้ว ผมมีโอกาสอยู่บ้านเป็นปีแรก เพิ่งกลับมาถึงจากการไปเยี่ยมเพื่อนฝูงในประเทศเพื่อนบ้าน คืนนี้เตรียมจะไปออกเอเอสทีวีตอน 3 ทุ่ม ยังไม่รู้ว่าเรื่องอะไร
      
        ผมเลยถือโอกาสไปกราบสวัสดีญาติผู้ใหญ่ นอกจากคุณอาหมอเสม พริ้งพวงแก้ว แพทย์รุ่นน้องของพ่อ ซึ่งปีนี้อายุย่าง 98 ปีแล้ว ยังแข็งแรงและรื่นเริง ท่านบ่นเสียดายอดีตนายกฯ คนหนึ่งบอกว่าดีได้ตั้ง 2 ปีแล้วไม่น่าจะดีแตกเลย เสียดายจริงๆ ผมมีโอกาสไปเยี่ยมพี่สาวลูกป้า พี่แท้ๆ ของศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหะอำไพ ชื่อพี่ไขแสง สุวรรณศร พี่แสงอายุ 86 ปีแล้ว ยังร่าเริงแจ่มใส ถึงจะเป็นเบาหวานอ่อนๆ และเดินเหินขัดบ้าง ก็ยังไปได้สบายๆ
      
        แต่ที่อยากจะเล่าก็คือ พอผมกับน้องสาวคนสุดท้องชื่ออังสนา พันธุ์เจริญ ซึ่งกลับมาเยี่ยมจากอเมริกา โผล่หน้าเข้าไป ทั้งๆ ที่ในบ้านอยู่กัน 3 คน ทำไมจึงบอกว่าคนมาคอยอยู่เต็มบ้านตั้ง 3 ชั่วโมงแล้ว
      
        ปรากฏว่าแท้ที่จริงคือหลานสาว หลานเขย และลูกๆ ครอบครัวของสมปอง สงวนบรรพ์ อุปทูตไทยประจำรัสเซียคอยอยู่บนจออินเทอร์เน็ต ซึ่งใช้เครื่องและระบบที่เรียกว่าสไกต์ ทำให้สามารถพูดจาเห็นหน้ากันได้หมดโดยไม่เสียเงินเลย ทั้งๆ ที่เขาอยู่บนอพาร์ตเมนต์ที่กรุงมอสโก อากาศหนาวเหน็บต่ำกว่าสิบดีกรี
      
        เรื่องที่ว่านี้อาจจะธรรมดาๆ สำหรับคนสมัยใหม่ แต่สำหรับผมแล้วมันช่างมหัศจรรย์เสียจริงๆ
      
        ผมจึงเฝ้าแต่คิดว่า เราจะถ่ายทอดความมหัศจรรย์นี้มาเป็นความมั่งคั่งและศานติสุขในสังคมไทยได้อย่างไร
      
        ความรู้และเทคโนโลยีทุกวันนี้ ถ้าเรา “เข้าถึง” “สู้ราคาได้” และมี “ปัญญาในการเลือก” เราก็จะเป็นนายของมัน และนำมาใช้ให้เป็นคุณได้อย่างแน่นอน และแน่นอนที่สุดตัวชี้วัดก็คือ “ความรู้” และ “ความรู้สึก” ในเรื่องของความ “พอเพียง”
      
        ท่านผู้อ่านที่เคารพ ปีใหม่ปีนี้ สบายๆ หายเครียดนะครับ และอีกครั้ง ขอให้มีความสุขอย่าง “พอเพียง” และ “เพียงพอ” ทุกท่านนะครับ
      
        สวัสดีปีใหม่ครับ

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000153057


    กาลเวลาเดินผ่านไป สำหรับท่านผู้กระทำสิ่งเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองแล้ว เวลานั่นแสนจะคุ้มค่ามากๆนะครับ

แต่กาลเวลาไม่เคยส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในกรมสรรพากรประเทศไทยเลยครับผม
         คนทำมาค้าขายสุจริตโดนจับตามองอย่างไปคลาดสายตา ต้นทุนสต๊อคจับตาทุกหยด เมื่อขายสินค้าคนสุจริตก็ต้องออกใบกำกับภาษี ในสินค้าก็มี VAT แนบไปด้วยสินค้าก็เลยราคาสูงกว่า ผู้เลี่ยงและปล้น VAT เจ้าอื่นๆ ลูกค้าก็เลยไม่ต้องการซื้อ เพราะ ร้านนั้นมี VAT ราคาแพงกว่าร้านโน้น ซึ่งไม่ต้องมี VAT พ่วงก็ได้
         คนทำมาค้าขาย ร้านค้าปล้นชาติ ปล้นภาษี ปล้น VAT ขายใบกำกับภาษี กลับทำตัวเลขสวยงาม ผ่านการตรวจอย่างสบายใจ ไม่มีสิ่งใดที่มองแล้วว่า ไม่ปกติ ก็คือ โกงภาษีอย่างปกติ ยอมรับได้ว่าทำแบบนี้ดูอย่างไรก็ไม่ผิด
ค้าขายเจริญรุ่ งเรือง ซื้อง่ายขายคล่อง ลูกค้าเต็มร้าน วันๆขายสินค้าอย่างสนุกมือ เพราะราคาขายไม่ต้องมี VAT ไม่ต้องออกใบกำกับภาษี แถมด้วยสามารถ ขายใบกำกับภาษีหาเงินเข้ากระเป๋าได้อีกด้วย มีแต่สบายและสบาย เพราะได้ปล้นชาติแล้ว
                ผมขอเสียมารยาทบ่นหน่อยนะครับท่านอาจารย์ คือว่า สิ้นปีแล้วได้รัฐบาลใหม่แล้ว มีความหวังใหม่ๆแล้ว และกำลังใกล้จะหมดหวังแล้วด้วยครับผม ทำการค้าแบบซื่อตรง มีแต่จน และยิ่งจน ครับท่านอาจารย์
mlocal

    สุขสันต์วันปีใหม่นะค่ะ อาจารย์ ขอให้มีสุขภาพกายและใจแข็งแรง คอยให้ความรู้ ประสบการณ์ตลอดชีวิตถ่ายทอดมาให้พวกเรารับรู้ เพื่อถ่ายทอดต่อไปอีก และ ช่วยชาติต่อไป ตามแต่กำลังอาจารย์จะเอื้อนะค่ะ
ขอให้พระคุ้มครองค่ะ
ด้วยความปรารถนาดี ขอบคุณที่ให้ความรู้ค่ะ
pin

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น