...+

วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2550

การอุทิศส่วนกุศล..

ปัตติทาน – การอุทิศกุศล
ปัตติทาน... การให้บุญที่ตนถึงแล้วแก่คนอื่น คือตนเองทำแล้วก็นึกให้บุญที่ทำนั้นแก่ผู้อื่น ดุจผู้นั้นทำเองทีเดียว ใจความก็คืออุทิศกุศลนั่นเอง... สำหรับปัตติทานนั้นสงเคราะห์เข้าในทาน เพราะตนทำบุญแล้วอุทิศบุญให้กับคนอื่น ก็เท่ากับบำเพ็ญทาน เพียงแต่ว่า แทนที่จะเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค ก็ให้บุญนี้แก่คนอื่น ส่วนมากก็จะนึกถึงเปรตผู้เป็นญาติ แม้คนอื่นที่ไม่ใช่เปรตที่เป็นญาติก็อุทิศได้ ส่วนจะรับได้หรือไม่ได้ประการใดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ได้เป็นเหตุให้เสียบุญ

พึงทราบว่า สัตว์บุคคลผู้ที่สามารถรับเอาบุญที่คนอื่นอุทิศให้นั้น ได้แก่พวกเปรตเท่านั้น และเป็นเปรตบางจำพวกเท่านั้นไม่ใช่ทุกจำพวก คือเปรตที่ท่านเรียกว่า ปรทัตตุปชีวีแปลว่า “ผู้เลี้ยงชีพด้วยบุญที่ผู้อื่นอุทิศให้” จำพวกเดียวเท่านั้น และบุญที่ควรอุทิศให้โดยตรงและเป็นประธาน ก็คือทาน นั่นเองเพราะเปรตพวกนี้เสวยความทุกข์ ประสบความอดอยากแสนสาหัส ก็เกี่ยวกับว่าขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคอันเป็นส่วนวัตถุทาน เพราะฉะนั้น จึงปรารถนาจะให้ญาติในชาติก่อนหน้าที่ตนจะเกิดเป็นเปรตได้อุทิศทานให้ตนอยู่ ก็เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ

เวลาให้ทานคนทั้งหลายจึงควรอุทิศบุญของตนให้แก่ผู้เปรตผู้เป็นญาติของตนด้วย

ท่านบอกว่า บุญที่อุทิศนั้นจะตกถึงแก่พวกเปรตเหล่านั้นได้ ก็ในเมื่อพร้อมเพรียงด้วยองค์ 3 คือ
ความตั้งใจอุทิศของทายก (ผู้ถวายทาน) โดยอาการว่า “ขอให้ทานที่ข้าพเจ้าได้ให้แล้วครั้งนี้ จงตกถึงแก่พวกญาติผู้ล่วงลับไปแล้วเถิด” ดังนี้
ปฏิคาหก (ผู้รับเอาทาน) เป็นผู้มีคุณสมบัติ ศีลเป็นต้น เพียบพร้อม เพราะฉะนั้น เวลาที่คนทั้งหลายจะทำบุญอุทิศกุศล จึงมักนิยมถวายอาหารหวานคาวแก่พระภิกษุสงฆ์ เพราะเห็นว่าท่านเป็นผู้ทรงศีล แต่พึงทราบว่า แม้ให้แก่ฆราวาสผู้มีศีลเพียบพร้อมแม้เพียง 5 ข้อเท่านั้น และเป็นผู้มีไตรสรณคมณ์คือถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ บุญนั้นก็สามารถตกถึงแก่พวกเปรตได้เหมือนกัน
การอนุโมทนาของพวกเปรตเหล่านั้น คือพวกเปรตเหล่านั้นทราบว่าเขาอุทิศแก่ตน ก็ยินดีร่าเริงบันเทิงใจในอันจะรับเอา ถ้าไม่อนุโมทนาก็ไม่อาจจะรับได้

พร้อมเพรียงด้วยองค์ 3 เหล่านี้แล้ว พวกเปรตเหล่านั้นก็มีโอกาสเสวยบุญเหล่านั้น โดยการได้เสวยเครื่องอุปโภคบริโภคที่เป็นทิพย์ มีอาหารทิพย์ เป็นต้น อันเหมาะสมแก่อัตภาพเปรต พ้นจากความอดอยากหิวโหยไป

ในมหาปรินิพพานสูตร พระพุทธเจ้ายังทรงแนะนำให้อุทิศกุศล หรือบุญที่ทำแก่พวกเทวดาทั้งหลายด้วย ทั้งๆที่พวกเทวดาเป็นอยู่ด้วยบุญของตนไม่ใช่อาศัยบุญคนอื่นเป็นอยู่ก็ตาม ทั้งนี้ก็เพียงเพื่อเทวดาเหล่านั้นพอทราบว่า “ผู้นี้ทำบุญแล้ว ยังมีแก่ใจนึกถึงเรา” อย่างนี้แล้ว ก็จะเกิดจิตเอื้อเอ็นดู ใช้อานุภาพช่วยปกป้องคุ้มครองอันตรายให้ เท่าที่อานุภาพของตนจะอำนวย

ในการอุทิศบุญแก่พวกเปรตนั้น พึงตั้งใจอุทิศในขณะกำลังทำบุญนั้นๆ เช่น ขณะที่กำลังประเคนอาหารลงในบาตรพระ เป็นต้น บุญนั้นจึงจะมีกำลังช่วยให้ตกถึงเปรตได้ด้วยดี จะอุทิศให้หลังทำเสร็จไปใหม่ๆ ก็ใช้ได้ เพราะยังมีจิตระลึกถึงติดพันกันอยู่ แต่ถ้าในเวลาที่ว่านี้หลงลืมการอุทิศไป ทิ้งไปทำกิจอื่นเสียนาน เกิดนึกได้แล้วอุทิศ การอุทิศนี้ไม่มีกำลัง หาความแน่นอนในอันตกถึงแก่พวกเปรตมิได้

...ในสังสารวัฎอันยาวนาน แต่ละคนย่อมมีเปรตผู้เป็นญาติของตนแต่ชาติก่อนๆแน่นอน เพราะฉะนั้น ทำบุญทุกครั้งจึงควรอุทิศแก่เปรตผู้เป็นญาติหรือจะเผื่อแผ่ไปถึงเปรตผู้ไม่ใช่ญาติด้วยก็ไม่ขัดข้อง...

บทความโดย อาจารย์ไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์

ขอขอบพระคุณ ...

ที่มา http://weblog.manager.co.th/publichome/forgiven/Default.aspx

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น