...+

วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2550

การทำความเห็นให้ตรง..

ทิฏฐุชุกรรม – การทำความเห็นให้ตรง
ทิฏฐุชุกรรม แปลว่า "การทำความเห็นให้ตรง" ใจความก็คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ความเห็นถูกต้อง นั่นเอง สัมมาทิฏฐินี้มี 5 อย่างคือ

กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ แปลว่า “ความเห็นชอบว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน” หมายความว่าตนทำกรรมอะไรไว้ จะเป็นกรรมดีก็ตาม จะเป็นกรรมชั่วก็ตาม ตนต้องเป็นผู้รับผลของกรรมที่ตนทำ จะมอบหมายให้ผู้อื่นรับแทนมิได้

ฌานสัมมาทิฏฐิ แปลว่า “ความเห็นชอบที่ประกอบกับฌาน” คือปัญญาเกี่ยวกับฌาน เกิดขึ้นร่วมกันกับฌานที่เจริญได้

วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ แปลว่า “ความเห็นชอบที่เป็นวิปัสสนา” เป็นชื่อของปัญญาที่รู้สังขารทั้งหลายตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ที่เรียกว่าเห็นไตรลักษณ์

มัคคสัมมาทิฏฐิ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ อันเป็นองค์มรรคองค์แรกในบรรดาองค์มรรค 8 เกิดขึ้นแล้ว ก็รู้เห็นอริยสัจ 4 ตามความเป็นจริง

ผลสัมมาทิฏฐิ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิที่เกิดร่วมกับพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้นนั่นเอง ได้แก่ ปัญญาที่เกิดร่วมกับผลจิตทั้งหลายอันเป็นวิบากของมรรค

ในสัมมาทิฏฐิ 5 อย่างนี้ ผลสัมมาทิฏฐิอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ใช่บุญกิริยา เพราะไม่ใช่บุญ แต่เป็นผลของบุญปัญญาที่รู้เหตุผลตรงต่อความเป็นจริงทั้งหลาย แม้ไม่อาจสงเคราะห์เข้าในสัมมาทิฏฐิ 5 อย่างเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งโดยตรง ก็จัดว่าเป็นสัมมาทิฏฐิได้ เพราะมีคติเป็นสัมมาทิฏฐิ รวมทั้งความรู้ที่ได้จากการเรียนปริยัติธรรม บุญคือสัมมาทิฏฐิทั้งหลาย เรียกว่า “ทิฏฐุชุกรรม”

ในที่นี้... ทิฏฐุชุกรรมหรือสัมมาทิฏฐินี้ สงเคราะห์เข้าในบุญกิริยาวัตถุได้ทั้ง 3 ข้อ คือ ทาน ศีล ภาวนา เป็นตัวควบคุมให้การกระทำ นับได้ว่าเป็นทาน เป็นศีล เป็นภาวนา เพราะเป็นความรู้ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับเรื่องทาน ศีล ภาวนา ที่เรียกว่า “บุญ” กล่าวคือบุญที่เรียกว่าทานเป็นไฉน บุญที่เรียกว่าศีลเป็นไฉน บุญที่เรียกว่าภาวนาเป็นไฉน ขึ้นอยู่กับตัวทิฏฐุชุกรรม... หมายความว่า ทานจะเป็นทานได้ก็เพราะอาศัยปัญญาสัมมาทิฏฐิ ศีลจะเป็นศีลได้ก็เพราะอาศัยปัญญาสัมมาทิฏฐิ ภาวนาก็เช่นเดียวกัน

บทความโดย อาจารย์ไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์

ขอขอบพระคุณ ...

ที่มา http://weblog.manager.co.th/publichome/forgiven/Default.aspx

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น