ศาสตร์ในการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะในซีกโลกตะวันออกนั้น มักจะให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตใจไม่แพ้ร่างกาย ถึงกับกล่าวกันว่าคนเราไม่อาจมีร่างกายที่แข็งแรงหรือสุขภาพดีได้ถ้าหากจิต ใจไม่อยู่ในศานติมีแต่ความเร่าร้อนทุรนทุราย
ใน ทำนองเดียวกันจิตใจก็ไม่อาจเป็นสุขสงบอยู่ได้ ถ้าหากร่างกายเต็มไปด้วยโรคาพยาธิ พูดอีกอย่างหนึ่งว่าจิตใจและร่างกายนั้นต่างก็อิงอาศัยซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นการที่คนเราจะมีสุขภาพหรือคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จึงต้องดูแลรักษาทั้งร่างกายและจิตใจพร้อมๆ กันไป
ศาสตร์อายุรเวทซึ่งเป็นศาสตร์อันเก่าแต่โบราณก็ให้ความสำคัญกับการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ
ใน ทางร่างกายก็มีข้อแนะนำว่าเราควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าอย่างที่ได้นำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ก็ยังมีหลักปฏิบัติตัวในแต่ละฤดูกาล หลักปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติของแต่ละคน เหล่านี้เป็นวิถีปฏิบัติเพื่อให้ร่างกายเกิดความสมดุลทั้งกับตัวเองและขณะ เดียวกันก็สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติที่เราอิงอาศัยอยู่
ในส่วนของจิตใจก็มีหลักหรือข้อปฏิบัติที่เรียกว่า "สัตตวฤต" (Sadvrtta) หรือข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงาม
โดยในคัมภีร์อายุรเวทมีจารึกเป็นโศลกถอดความออกมาได้ว่า
"กิจกรรมหรือการกระทำทั้งหลายของมนุษย์นั้น ควรเป็นไปเพื่อความสุขของสรรพชีวิตทั้งมวล"
การ ทำให้ผู้อื่นเป็นสุขได้ ขั้นต้นที่สุดที่พึงกระทำก็คือไม่ทำให้เขาทุกข์ทรมาน เพราะฉะนั้นจึงมีสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยงคือไม่กระทำทั้งทางกาย วาจา และใจ ได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตหรือทำร้ายร่างกาย ไม่พรากเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่ประพฤติผิดทางเพศ ไม่พูดจาหยาบคายให้ร้ายป้ายสี ไม่พูดปด ไม่พูดจาให้เกิดความแตกแยกประเภทยุให้รำตำให้รั่ว ไม่มีจิตมุ่งร้ายอิจฉาริษยา หรือคอยจ้องจับผิดผู้อื่น
นอกจากหลีก เลี่ยงที่จะไม่ทำให้ผู้อื่นทุกข์ทรมานแล้ว ก็ควรที่จะช่วยลดความทุกข์หรือเกื้อกูลผู้อื่นด้วย เป็นการเกื้อกูลที่ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นญาติมิตรของเราเท่านั้น แต่ควรให้กว้างไกลออกไปถึงคนยากจน คนด้อยโอกาสในสังคม คนเจ็บไข้ได้ป่วย ไปจนถึงคนที่เป็นศัตรูหรือไม่หวังดีต่อเรา
ในคัมภีร์บอกว่าแม้แต่แมลงหรือมดตัวน้อยๆ เราก็ควรดูแลปฏิบัติต่อพวกเขาเหล่านั้นด้วยความเมตตาปรานีเหมือนที่เราปฏิบัติต่อตัวเราเอง
ควร เคารพบูชาต่อบุคคลผู้ควรบูชา เช่น เทพเจ้าที่เรานับถือศรัทธา พระสงฆ์องค์เจ้า พระเจ้าแผ่นดิน แพทย์ ผู้ที่อาวุโสกว่าเรา รวมทั้งแขกที่มาเยี่ยมเยือนควรพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวานอบอุ่นและ จริงใจ รู้จักควบคุมประสาทสัมผัสทั้งห้าคือ ตา หู ลิ้น จมูก กาย (ผิวหนัง) ให้เสพหรือรับรู้สิ่งที่ทำให้เกิดความสมดุลของร่างกายและจิตใจ
ควรประกอบสัมมาอาชีวะ คือดำรงชีวิตด้วยวิชาชีพที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ผิดศีลธรรมอันดีงาม
นอก จากการดูแลจิตใจโดยตรงอย่างที่ว่ามาแล้ว ศาสตร์แห่งชีวิตยังพูดถึงการดูแลร่างกายส่วนต่างๆ ด้วย เพราะร่างกายที่แข็งแรงย่อมทำให้จิตใจพลอยแช่มชื่นแจ่มใสไปด้วย
โดย ให้ดูแลเรื่องผมเผ้า เล็บ หนวด ทวารทั้งหลาย ควรจะตัดให้เรียบร้อย คอยดูแลให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อไม่เป็นแหล่งของโรคภัยไข้เจ็บ ควรอาบน้ำชำระล้างร่างกายและแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่สะอาด
ไม่ ใช้ร่างกายอย่างหักโหม ทุกอย่างควรให้เป็นทางสายกลาง ไม่โดนแดดตากลม หรือสัมผัสกับฝุ่นละอองเป็นเวลานานๆ ที่สำคัญควรพิจารณาไตร่ตรองอยู่เนืองๆ ว่าเราใช้ชีวิตให้ผ่านวันและคืนที่ล่วงเลยไปอย่างไรบ้าง ตรงนี้ในคัมภีร์กล่าวไว้ว่า
"ผู้ที่หมั่นทบทวนไตร่ตรองว่าตนเองใช้ ชีวิตผ่านวันและคืนอย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร จะไม่กลายเป็นเหยื่อของความโศกเศร้าเสียใจ"
หรือจะพูดอีกอย่างว่าให้ เราหมั่นทบทวนและคอยระมัดระวังให้ตัวเองได้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสม เกื้อกูลทั้งตนเอง ทั้งคนรอบข้าง กว้างไกลไปจนถึงธรรมชาติที่ประกอบด้วยสรรพชีวิตอีกนับไม่ถ้วนสายพันธุ์ ก็จะทำให้เกิดความสงบสุขและกลมกลืนระหว่างตัวเราและสิ่งรอบตัว
ปีเก่า ล่วงเลยไป ปีใหม่เข้ามา ให้ของขวัญปีใหม่แก่ตัวเองและผู้อื่นด้วยการดูแลจิตใจของเราให้ดีงามเพื่อ ความเป็นองค์รวมแห่งชีวิตและเพื่อความสุขสันติของโลกทั้งมวลดีไหม
โดยคุณ : มูลนิธิสุขภาพไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น