++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

คู่แข่งที่แท้จริง


คู่แข่งที่แท้จริง




เคยอ่านมาในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง








ทุกปีในสหรัฐอเมริกาจะมีการประกวดแข่งขันสะกดคำ
โดยจำกัดเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า  16 ปี งานนี้เป็นงานระดับชาติ มีเด็กมาร่วมแข่งขันถึง 10 ล้านคน และมีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศในรอบสุดท้าย

ในปีนั้นผู้ที่ฝ่ามาถึงรอบสุดท้ายมีเพียง 13 คน ซามีร์ ปาเตล วัย 12 ขวบ ซึ่งปีที่แล้วได้อันดับ 2 เป็นตัวเต็งอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 คือ ราชีพ ทาริโกพูลา ซึ่งได้ที่ 4 เมื่อปีที่แล้ว ชัยชนะน่าจะเป็นของซามีร์ แต่แล้วเขาก็พลาดเมื่อเจอคำว่า eramacausis ( แปลว่าอะไร โปรดหาจากพจนานุกรมเล่มใหญ่ๆ เอาเอง) การตกรอบของซามีร์ทำให้ราชีพเป็นตัวเต็งอันดับ 1 ทันที








มีนักข่าวคนหนึ่งถามราชีพว่า
ดีใจไหมที่คู่ปรับตกรอบไป  คำตอบของราชีพก็คือ
"ไม่ครับ นี่เป็นการแข่งขันกับคำ  ไม่ใช่กับคน ครับ"

ไม่ทันขาดคำ เสียงตบมือก็ดังก้องห้องประชุม












คำตอบของราชีพคงทำให้ผู้ใหญ่หลายคนได้คิด
ใช่หรือไม่ว่าเวลาเราแข่งขันเรื่องอะไรก็ตาม
เรามักจะมองเห็นผู้ร่วมแข่งขันเป็นปรปักษ์หรือฝ่ายตรงข้าม
ในใจจึงอยากให้เขามีอันเป็นไป  เพื่อเราจะได้เป็นผู้ชนะแต่ผู้เดียว
หารู้ไม่ว่าลึกๆ แล้วความอิจฉาและพยาบาทกำลังก่อตัวขึ้น
ดังนั้นแข่งไปจึงทุกข์ไป แข่งเสร็จแล้วก็ยังทุกข์อีกที่เห็นคนอื่นเก่งกว่าตน  












แต่สำหรับราชีพ แม้การแข่งขันจะดุเดือดอย่างไร
เขาไม่ได้มองไปที่คน แต่มองไปที่คำ
สำหรับเขาความท้าทายอยู่ที่การต่อสู้กับคำยากๆ
คำยากทุกคำคือปริศนาที่เขาต้องถอดออกมาเป็นตัวๆ ให้ได้
เมื่อใจไปจดจ่ออยู่ที่คำเหล่านี้ เขาจึงมิได้ยินดียินร้ายที่ผู้ร่วมแข่งขันจะไปหรืออยู่








แม้ว่าในที่สุดราชีพจะได้เป็นที่ 4 ( เพราะแพ้คำว่า Hiligenschein) แต่อย่างน้อยเขาก็ไม่ได้ทุกข์เพราะเกลียดหรืออิจฉาคนที่เก่งกว่าเขา
คงมีแต่ความมุ่งมั่นที่จะศึกษาค้นคว้าให้หนักขึ้นเพื่อพิชิตคำยากๆ ในปีหน้า
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าปีหน้าเขาต้องเก่งกว่าปีนี้แน่ มองในแง่นี้
แม้เขาจะ "แพ้" แต่เขาไม่ขาดทุนเลย กลับมีกำไรด้วยซ้ำ
มุมมองของราชีพนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะในยามแข่งขันเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าสำหรับการดำเนินชีวิตและสัมพันธ์กับผู้คนด้วย












ใช่หรือไม่ว่าในชีวิตประจำวันเมื่อเราถูกวิพากษ์วิจารณ์ใจเรามักจะพุ่งตรงไปยังคนวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่ค่อยสนใจคำวิพากษ์วิจารณ์เท่าใดนัก  ดังนั้น แม้ว่าคำวิพากษ์วิจารณ์จะถูกต้องให้แง่คิดที่ดีเพียงใดก็ตาม
แต่เราไม่สนใจที่จะไตร่ตรองเสียแล้ว เพราะใจนั้นเต็มไปด้วยความเกลียดและโกรธคนที่วิพากษ์วิจารณ์เรา


ข้อคิดสำหรับคนทำงาน








ถ้าเราหันมาใส่ใจกับคำวิพากษ์วิจารณ์กันให้มากขึ้น  และสนใจให้น้อยลงกับการตอบโต้เพื่อเอาชนะคะคานคนที่วิพากษ์วิจารณ์
นอกจากเราจะทุกข์หรือโกรธเกลียดน้อยลงแล้วเรายังมีโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นด้วย
โดยเฉพาะหากเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ถูกต้องด้วยท่าทีเช่นนี้ เราจะได้กำไรสถานเดียว








เวลาทำงานก็เช่นกัน ถ้าเรามองว่านี้เป็นการต่อสู้ปลุกปล้ำกับงาน
เราจะไม่เดือดร้อนที่คนอื่นทำได้ดีกว่าเรา
ใครจะดีจะเก่งก็เป็นเรื่องของเขา เพราะในใจนั้นนึกอยู่เสมอว่า
"ฉันกำลังแข่งขันกับงาน  ไม่ใช่แข่งขันกับคนอื่น"
นอกจากจะไม่อิจฉาเขาแล้ว ยังพยายามเรียนรู้จากเขาว่ามีวิธีการอย่างไร เพื่อเอาไปใช้ในการพิชิตงานที่กำลังทำอยู่ หรือทำให้งานนั้นดีขึ้น









มองให้ลึกลงไปแล้ว คนไม่ใช่คู่แข่งของเรา  หากแต่เป็นความเห็นแก่ตัว หรือความหลงตนต่างหากที่เป็นคู่แข่งของเรา แทนที่จะสู้กับใครต่อใคร  เราควรหันมาสู้กับความคิดแง่ลบในตัวเราดีกว่า  ที่แล้วมาเราต่อสู้กับใครต่อใครมากแล้ว  แต่ไม่ได้ต่อสู้กับความคิดแง่ลบเหล่านี้ เราจึงทุกข์ไม่เว้นแต่ละวัน









ถึงที่สุดแล้ว แม้แต่คนที่คิดร้ายต่อเรา เขาก็ไม่ได้เป็นศัตรูของเรา ความโกรธความเกลียดหรือความเห็นแก่ตัวในใจเขาต่างหากที่เป็นศัตรูของเรา
สิ่งที่เราควรจัดการคือความชั่วร้ายในใจของเขา  มิใช่จัดการตัวเขา ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่เราจะปลอดภัยและมีชีวิตที่สงบสุขอย่างแท้จริง  เพราะการขจัดศัตรูที่ดีที่สุดคือเปลี่ยนเขามาเป็นมิตร

แล้วอะไรล่ะที่จะเปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตรได้ หากมิใช่การใช้ความดีเอาชนะใจเขา




“No one can knows what he can do until he tries…”


พับลิลิส ไซรัส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น