++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เข้าถึงสิทธิทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง : ความหวังที่ยังต้องปฏิรูป โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ตลอดความยาว 2,815 กิโลเมตรของชายฝั่งทะเล 22 ล้านไร่ของที่ดินชายฝั่ง และพื้นที่ง 350,000 ตารางกิโลเมตรของทะเลไทย ไม่นับอีก 618,319 ไร่ของทะเลสาบสงขลา แทบจะไม่มีสักนิ้วหรือตารางเมตรเดียวที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่งได้โดยไม่ถูกละเมิดสิทธิและเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชุมชนชายฝั่ง กลุ่มชาติพันธุ์มอแกนและอูรักลาโว้ย รวมถึงชาวประมงพื้นบ้านที่มีถึงร้อยละ 93 ของชาวประมงทั้งหมดที่มีกว่า 60,000 ครอบครัวใน 4,000 หมู่บ้าน แต่มีสัดส่วนการจับสัตว์น้ำเพียงร้อยละ 9 ของสัตว์น้ำทางทะเลที่จับได้ทั้งหมดที่มีมูลค่ารวมปีละกว่า 120,000 ล้านบาท

มากกว่านั้นความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่งยัง ‘ขัง’ คนชายขอบการพัฒนาไว้ในความยากจนข้นแค้นแม้นว่าเกือบทั้งชีวิตพวกเขาจะล่องเรือหล่อเลี้ยงชีวาหรืออาศัยใกล้เกาะแก่งทำมาหากินก็ตามที ด้วยทุกๆ ปีที่อุตสาหกรรมประมงและท่องเที่ยวขยายตัวก็หมายถึงสัตว์น้ำที่ทวีจำนวนหายไปจากทะเลอย่างรวดเร็วเพราะถูกกวาดจับด้วยเครื่องมือประมงที่ทำลายระบบนิเวศร้ายแรง และความงามของชายหาดปะการังสวยก็ม้วยมลายเพราะใช้ไปอย่างไม่อนุรักษ์เช่นกัน

อีกทั้งที่ดินชายฝั่ง ชายหาด ป่าชายเลน ก็ถูกบุกรุกครอบครองและออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบโดยเอกชนและบรรษัทขนาดใหญ่ ในขณะที่โครงการพัฒนาของรัฐและเอกชนก็ฉวยใช้ที่ดินชายฝั่งเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก หรือไม่ก็ถมทะเล ที่ทั้งปล่อยมลพิษและทำลายระบบนิเวศทางทะเล

แม้ว่าชาวชุมชนชายฝั่งและกลุ่มชาติพันธุ์จะพยายามต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิ แต่ถึงที่สุดก็ทนถาโถมของอำนาจเงินตราและการบังคับใช้กฎหมายสองมาตรฐานไม่ไหว จำใจจากรากเหง้าบรรพชน พลัดถิ่นที่อยู่ออกมาผจญวิกฤตยากจนเพราะไร้สิ้นอาชีพ ซึ่งทั้งมวลล้วนเป็นผลมาจากการพัฒนาที่ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและไม่ตั้งอยู่บนวิถีวัฒนธรรมชุมชนชายฝั่งที่ฝังฝากชีวิตไว้กับเศรษฐกิจการเกษตร การประมง และการท่องเที่ยว กระทั่งสุดท้ายหลายชุมชนเข้าใกล้หายนภัยไม่ต่างจากมาบตาพุดที่สุขภาวะทุกมิติถูกอุตสาหกรรมหนักบดขยี้ ขณะที่ชายฝั่งก็พังทลายเพราะถูกใช้เกินสมรรถนะทางธรรมชาติจะรับได้

ดังโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ในนามของอุตสาหกรรมและการขนส่งทางทะเลที่ไม่คำนึงถึงฐานวัฒนธรรมและศักยภาพพื้นที่เพื่อ ‘พัฒนาทางเลือกของการพัฒนา’ ได้นำพื้นที่คาบสมุทรภาคใต้ที่มีความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศสมดุล และเป็นแหล่งรายได้หลักคนเล็กคนน้อยถอยห่างจากการเป็นฐานทรัพยากรที่สร้างความมั่งคั่งมั่นคงของทุกชนชั้น เช่นนี้การกำหนดแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้และทั่วทุกภาคจึงต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย

ทั้งนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงจึงจำต้องปฏิบัติการตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) และคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่มีแนวคิดหลักร่วมกันในการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งว่าทั้งทรัพยากรทะเลและชายฝั่งเป็นทรัพยากรสาธารณะที่ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงโดยชอบ การบริหารจัดการต้องมีธรรมาภิบาลและสอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2550 ในการยอมรับสิทธิชุมชน (community rights) ที่จะบริหารจัดการทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืนเพื่อวางรากฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป

สำคัญไม่ด้อยกว่ากันคือต้องเร่งตรวจสอบเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย กำหนดพื้นที่สาธารณะที่ห้ามออกเอกสารสิทธิ์ ประกาศยกเลิกการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินน้ำทะเลท่วมถึงถาวร พร้อมกับยกเลิกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทิ้งร้างเนื่องจากถูกกัดเซาะลงทะเลให้เป็นที่สาธารณะโดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนร่วมกันบริหารจัดการ เพราะยิ่งนานการกัดเซาะชายฝั่งยิ่งรุนแรงทั้งจากกิจกรรมของมนุษย์และสภาวะความผันแปรด้านภูมิอากาศ ขณะที่การป้องกันด้วยโครงสร้างแข็งก็กลับสร้างปัญหาบานปลาย ต่างจากการสร้างระบบป้องกันแบบอ่อนที่สอดคล้องกับธรรมชาติโดยใช้เงินกองทุนชดเชยการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่จะจัดตั้งขึ้นตามนโยบายแห่งชาติเพื่อช่วยชุมชนที่ถูกกระทบ

ทั้งยังต้องยกเลิก ไม่ต่อสัญญาที่ดินของรัฐที่ให้เอกชนเช่า ยึดคืนพื้นที่สาธารณะ สันทราย ชายหาด ถนน ทะเล ป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน ที่เอกชนยึดไปใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดใหญ่โดยมิชอบให้กลับคืนมาเป็นสมบัติสาธารณะตามเดิม และห้ามปิดกั้นชายหาดสาธารณะและยึดครองทะเลหรือทรัพยากรทะเลและชายฝั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมายและมีบทลงโทษทางอาญาที่สูงขึ้น ซึ่งต้องทำควบคู่กับกำหนดเขตถอยร่นจากชายฝั่งเป็นเขตห้ามและควบคุมการก่อสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ จัดทำพื้นที่คุ้มครองระบบนิเวศชายฝั่งและทะเลเพื่อรักษาแหล่งเจริญพันธุ์และอนุบาลที่เป็นห่วงโซ่อาหาร หลังทรัพยากสัตว์น้ำเสื่อมโทรมลงรวดเร็ว และคุณภาพน้ำในแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์เลวลงจนไม่เหมาะกับการขยายพันธุ์

ถึงกระนั้นความเป็นธรรมในการบริหารจัดการทะเลและชายฝั่งจะยังคงแค่ ‘ความหวัง’ ต่อไป ตราบใดไม่ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจที่เหลื่อมล้ำโดยการให้ท้องถิ่นมีอำนาจบริหารจัดการทะเลและชายฝั่งแบบไม่แยกส่วนจากแม่น้ำ ป่า และการใช้ประโยชน์จากที่ดินในพื้นที่ การกำหนดผังเพื่อจำแนกพื้นที่ใช้ประโยชน์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ประเภทหรือขนาดสิ่งก่อสร้าง ประกาศเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงตราระเบียบกฎเกณฑ์การใช้ประโยชน์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ทั้งยังต้องยกเลิกแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ทั้งหมดเพราะขัดแนวทางที่ให้ท้องถิ่นมีสมรรถนะและอำนาจบริหารจัดการตนเองด้วย

ด้วยถึงที่สุดแล้วใช่ชุมชนชายฝั่ง กลุ่มชาติพันธุ์ และประมงพื้นบ้านที่ผูกร้อยความมั่นคงของชีวิตไว้กับทรัพยากรชายฝั่งและทะเล แต่รวมถึงประชากรไทยทั้งประเทศด้วย โดยเฉพาะแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ที่ต้อง ‘ปฏิรูป’ โดยเปลี่ยนกรอบคิดมาอยู่บนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับภูมินิเวศวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะจะนำความมั่นคงสู่ผู้เคยถูกละเมิดสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร ขณะเดียวกันก็สร้างความมั่งคั่งสู่ประเทศชาติเพราะสามารถรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางอาหารของท้องทะเลและชายฝั่งไว้ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น