++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กองทุนสุขภาพบางรักน้อย เพราะรักจึงร่วมสร้าง กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี

เรียบเรียงโดย วรุณวาร สว่างโสภากุล

            ไม่รู้ว่าตำบลบางรักน้อย แห่งจังหวัดนนทบุรีเคยได้ร่วมเป็นสักขีพยานความรักของหนุ่มสาว เหมือนกับอำเภอบางรักในกรุงเทพฯ ที่คู่บ่าวสาวชอบไปจดทะเบียนแต่งงานกันในวันแห่งความรักรึเปล่า แต่ที่แน่ๆ คนในตำบลบางรักน้อย มีความรักให้กันอย่างเต็มเปี่ยม ไม่เชื่อก็ลองดูจาก ความร่วมแรงร่วมใจที่คนในตำบลให้กับการสร้างกองทุนหลักประกันสุขภาพ ระดับท้องถิ่นที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้สิ

            อบต.บางรักน้อย เป็น อบต.ขนาดใหญ่ ชาวบ้านทำสวนผลไม้และเกษตรเป็นอาชีพ ปัญหาสุขภาพของคนที่นี่คือ ชาวบ้นส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ป้วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต และไขมันในเลือด หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคเหล่านั้นกันมาก
            เพราะเหตุนี้เอง อบต.บางรักน้อยจึงหันมามองปัญหาสุขภาพของชุมชนและกระตือรือร้นในการจัดการด้านสุขภาพ ของคนในตำบล ดังที่ปลัด อบต.ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "จุดเริ่มต้นของการจัดระบบการทำงานของ อบต.บางรักน้อย คือ การได้เข้าร่วมโครงการกับ สปสช. จึงมองไปที่ปัญหาสุขภาพของชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้ประชุมปรึกษาผู้ที่เกี่ยวข้อง และจัดทำแผนงานโครงการให้สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพในชุมชน และเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ปรับการทำงานโดยเน้นให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น"
       
            กองทุนหลักประกันสุขภาพของ อบต.บางรักน้อย มีคณะกรรมการบริหารกองทุนทั้งหมด 14 คน มีทั้งที่ได้เป็นโดยตำแหน่งและมาจากการเลือกตั้ง ประธานกรรมการ คือ นายก อบต. ส่วนกรรมการ ได้แก่ รองนายก อบต. สมาชิก อบต.บางรักน้อย  ผู้แทนสถานีอนามัย, ผู้แทน อสม. ผู้แทนหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน, รองปลัด อบต. โดยมีปลัด อบต. เป็นเลขานุการ ทุกคนเข้ามาร่วมเป็นทีมงานโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ
            สิ่งที่คณะกรรมการฯ หวังจะได้เห็นร่วมกัน คือ ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายมีสุขภาพดี เมื่อชาวประชาสุขภาพดี ชุมชนก็จะเข้มแข็ง นโยบายของคณะกรรมการกองทุนฯ จึงเน้นที่การส่งเสริมสุขภาพประชาชน  พร้อมทั้งสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมทำงานด้วยความสมัครใจ หากมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน จะใช้วิธีการฉันทามติ
            คณะกรรมการฯ วางแผนโครงการส่งเสริมสุขภาพโดยเน้นกิจกรรมที่เกิดประโยชน์กับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยดูว่า ปัญหานั้นสำคัญมากน้อยเพียงใด
           
            โครงการของกองทุนฯ บางรักน้อย ในระยะเริ่มต้นมี 2 ลักษณะ คือ โครงการที่จัดบริการสุขภาพตามชุดสิทธิประโยชน์ให้กับกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม และโครงการที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนและพัฒนาระบบ บริหารจัดการกองทุน รวมทั้งหมด 5 โครงการ กลุ่มเป้าหมายหลักคือ ชาวบางรักน้อยทุกคนที่อายุ 25 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง
            ตัวอย่างกิจกรรมของโครงการ ได้แก่ การเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้าน การตรวจคัดกรอง ควบคุมและป้องกันโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง และการอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง พร้อมทั้งให้คำปรึกษาแก่ญาติของผู้ป่วย
            ในการดำเนินงานโครงการ คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา เพื่อให้การทำงานคล่องตัว โดยใช้วิธีเลือกตั้ง แต่งตั้งและเข้ามาโดยตำแหน่ง การทำงานนั้นทำเป็นทีม ทีมงานแต่ละคนได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่ที่แตกต่างกันไป เจ้าหน้าที่แต่ละคนรับผิดชอบหมู่บ้านคนละหมู่บ้าน เพือให้ดูแลประชาชนในเชิงรุกได้อย่างทั่วถึง

            แม้ว่าจะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ แต่ก็ไม่เกิดการแบ่งแยก เพราะทีมงานแลกเปลี่ยนข้อมูล ปรึกษาหารือ และร่วมกันแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม
            การร่วมแรงร่วมใจนี้ มีอยู่ในทุกส่วนของงาน ไม่เพียงเฉพาะการดำเนินโครงการ แต่ในการบริหารจัดการกองทุนฯ คณะกรรมการฯ ก็ร่วมกันเรียนรู้ ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ร่วมกันทำงาน  ร่วมกันแก้ปัญหา และร่วมกันปรับตัวตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง  การดำเนินงานจึงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

            "การจัดกิจกรรมต้องจัดทำร่วมกัน และคิดร่วมกัน แล้วจะยั่งยืน" เป็นคำพูดจากปากของคณะกรรมการกองทุนฯ คนหนึ่ง
            ด้านการเงิน อบต.บางรักน้อย ได้งบประมาณมาจาก สปสช. ส่วนหนึ่ง และ อบต.บางรักน้อยสมทบทุนอีกร้อยละ 50 ของเงินที่ได้จาก สปสช. การบริหารการเงินโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะผู้แทนหมู่บ้านมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการที่รับผิดชอบการเงินและบัญชีด้วย
            ส่วนการสื่อสารนั้น เน้นการสื่อสาร 2 ทาง สื่อสารกันทั้งแบบที่เป็นทางการ เช่น ประชุมกันเดือนละหน และแบบที่ไม่เป็นทางการ เช่น โทรศัพท์ปรึกษากันเมื่อเกิดปัญหา
            จากการติดตามและประเมินผล โดยผู้รับผิดชอบโครงการ พบว่า ประชาชนพอใจกิจกรรมทุกกิจกรรม เพราะตรงกับความต้องการของตน  ดังเสียงสะท้อนจากชาวบางรักน้อยคนหนึ่งที่ว่า "อบอุ่นใจเมื่อมีนายก หมอ (พยาบาล) และ อบต. มาเยี่ยม เพราะพ่อกินข้าวได้มากขึ้น"
           
            ได้ยินเพียงเท่านี้ คณะทำงานก็ภูมิใจในการทำงานเป็นทีมอย่างมีเป้าหมาย ด้วยความตั้งใจจริง รับผิดชอบและเสียสละของตน ประกอบกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และงบประมาณที่เพียงพอ  ทำให้กองทุนฯ บางรักน้อย ประสบความสำเร็จจนเป็นที่พอใจของชาวบ้าน
            อย่างไรก็ดี ทีมงานคิดว่า ยังมีอะไรอีกมากที่ต้องพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นทีมบุคลากรซึ่งควรมีความรู้ความสามารถเฉพาะทางมากขึ้น การวางแผนงานที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย หรือการอธิบายให้ประชาชนทุกคนเข้าใจว่า ตนเองจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรจากกองทุนหลักประกันสุขภาพบ้าง เพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าถึงบริการอย่างเสมอภาค

            นอกจากนี้ ทีมงานเสนอแนะว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคนในทุกระดับน่าจะได้ รับทราบแนวคิดเรื่องกองทุนหลักประกันสุขภาพ สปสช. น่าจะติดตามประเมินผลโครงการและให้คำแนะนำเป็นระยะ และควรมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานหลักประกันสุขภาพกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก๋เพื่อการพัฒนากองทุนฯ ของ อบต.บางรักน้อย ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเอื้อประโยชน์ต่อชาวบางรักน้อยอย่างแท้จริง

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
ดร.อุษณีย์ เทพวรชัย
ดร.นิชดา สารถวัลย์แพศย์
วัลภา เพิ่มอัจฉริยะวงศ์
ดร.ศรีวรรณ มีบุญ
วพบ.นนทบุรี



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น