++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

มะเร็งร้ายของเกษตรกร!

โดย สิริอัญญา 29 สิงหาคม 2553 03:09 น.
บ้านเมืองของเราในทุกวันนี้ อะไรที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นก็เกิดขึ้น อะไรที่ไม่คิดว่าจะได้ยินก็ได้ยิน ดังกรณีการตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการตรวจสอบเพื่อปิดบัญชีของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเป็นกรณีที่มหัศจรรย์พันลึกมาก

คณะกรรมการชุดนี้มีนายนริศ ชัยสูตร เป็นประธาน ทำหน้าที่ตรวจสอบความเสียหายของ ธ.ก.ส. ในการให้สินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาลในการรับจำนำสินค้าเกษตรรวม 13 โครงการ

ผล การตรวจสอบปรากฏว่ามีการใช้เงินกู้จาก ธ.ก.ส. เป็นจำนวน 186,000 ล้านบาทเศษ เพื่อการรับจำนำสินค้าเกษตรตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายไว้รวมทั้งสิ้น 13 โครงการ ประกอบด้วยสินค้าในภาคเกษตรหลายชนิด

ทั้ง 13 โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรดังกล่าวนี้เป็นโครงการที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาล นี้ ซึ่งคงจะจำกันได้ว่าในช่วงตั้งรัฐบาลใหม่ๆ นั้นมีวิกฤตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้จากการผลิตภาคเกษตรโดยไม่ขาดทุน จึงมีโครงการรับจำนำสินค้าในราคาที่ไม่ต่ำกว่าทุน

เป็นผลให้พรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการกำมะลอโจมตีการดำเนินนโยบายนี้ ของรัฐบาลว่าเป็นการเอาเงินไปละลายแม่น้ำ การโจมตีนโยบายนี้ได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ในที่สุดความจริงก็ปรากฏว่าการดำเนินนโยบายรับจำนำสินค้าภาคเกษตรใน สถานการณ์เช่นนั้นต้องนับว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้อง เพราะเป็นการกระจายเงินไปยังเกษตรกรผู้ผลิตได้จำนวนมาก

เมื่อ เกษตรกรซึ่งเป็นมวลชนพื้นฐานในภาคการผลิตของประเทศมีเงินจับจ่ายใช้สอย การผลิตภาคอื่นๆ ก็สามารถขับเคลื่อนตัวไปได้ และทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่พังพินาศไปตามวิกฤตที่เกิดขึ้น ทั่วโลกในขณะนั้นได้

การกำหนดนโยบายเช่นนี้ก็ต้องถือว่าเป็นเครดิตของรัฐบาล และมีผลอย่างสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ทรุดลงและฟื้นขึ้นอย่างรวดเร็ว นี่เป็นเรื่องหนึ่ง

แต่อีกเรื่องหนึ่งนั้น เป็นเรื่องความอัปยศในการดำเนินนโยบาย ซึ่งเป็นเรื่องของนักการเมือง ข้าราชการประจำผู้มีอำนาจ พ่อค้าและลิ่วล้อบริวารของนักการเมืองที่ได้ฉวยโอกาสจากการดำเนินนโยบายนี้ ทำมาหากินแสวงหาผลประโยชน์จากเงินแผ่นดิน

คงจะจำกันได้ว่าทุกโครงการรับจำนำนั้น สื่อมวลชนจะรายงานข่าวอย่างต่อเนื่องว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับนักการ เมืองและผู้มีอำนาจและลิ่วล้อบริวาร เพราะเป็นผู้ได้รับโควตาการรับจำนำแล้วไปแสวงหาเกษตรกรผู้ผลิตมาเข้าโครงการ อีกต่อหนึ่ง

นั่น ย่อมถือได้ว่าเป็นการทุจริตชนิดหนึ่ง แต่ก็ยังดีอยู่บ้างที่ค่าผลิตผลตกได้แก่เกษตรกรผู้ผลิตคนไทย ส่วนที่ร้ายกว่านั้นก็คือการรายงานข่าวที่มีความชัดเจนว่ามีการสมคบกันนำ เข้าผลิตผลทางการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีราคาต่ำเข้ามาจำนำในโครงการ รับจำนำในราคาสูง

เช่น รับจำนำสินค้าเกษตรกิโลกรัมละ 8 บาท แต่สามารถจัดซื้อสินค้าชนิดเดียวกันนี้จากประเทศเพื่อนบ้านได้ราคากิโลกรัม ละ 3 บาท นักการเมืองและผู้มีอำนาจก็สมคบกันไปจัดซื้อจัดหาสินค้านั้นจากประเทศเพื่อน บ้าน แล้วลักลอบนำเข้ามาในประเทศ จากนั้นก็เอาไปจำนำ กินกำไรพุงกางถึงกิโลกรัมละ 5 บาท

ที่ว่าการทำแบบนี้เป็นเรื่องร้ายแรงก็เพราะว่าผลประโยชน์จากเงินแผ่น ดินที่มุ่งให้ไปถึงเกษตรกรคนไทยกลับไปตกได้อยู่แก่เกษตรกรของประเทศเพื่อน บ้าน โดยที่ส่วนต่างอันเป็นส่วนใหญ่นั้นตกได้แก่เครือข่ายของนักการเมือง

พฤติกรรมเช่นนี้ต้องถือได้ว่าเป็นการปล้นชาติ ปล้นประชาชนที่โหดเหี้ยมอำมหิตที่สุด!

ปรากฏ ว่าแม้สื่อมวลชนจะรายงานข่าวครึกโครมสักเพียงไหนก็ตาม โครงการรับจำนำสินค้าภาคเกษตรทั้ง 13 โครงการก็เดินหน้าอย่างราบรื่น เรียกว่าผ่านฉลุย และไม่มีใครไหนต้องรับผิดชอบแม้แต่คนเดียว

ข่าวคราวการโกงชาติ โกงประชาชน จากโครงการรับจำนำจึงเป็นข่าวที่หนาหูอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการดำเนิน โครงการดังกล่าวนี้ แม้กระทั่งถึงวันนี้ก็ยังมีการกล่าวขวัญถึงกันทั้งในและนอกสภา แต่หาได้กระทบกระเทือนต่อขบวนการโกงชาติโกงประชาชนเหล่านี้แต่ประการใด

วันเวลาผ่านไปปรากฏว่าบรรดาเงินที่ ธ.ก.ส. จ่ายไปในการรับจำนำสินค้าเหล่านั้นไม่ได้รับการชำระคืน มีแต่สินค้าคงคลังอยู่ในโกดังสินค้าที่บ้างก็ต้องเสียค่าเช่าในอัตราสูง มีส่วนน้อยที่เป็นคลังสินค้าของทางราชการ และยิ่งนานวันไปเท่าใด ก็ยิ่งมีข้ออ้างได้ว่าสินค้าในคลังนั้นเสื่อมคุณภาพและเสียหาย

รวม ความก็คือ เงินที่ ธ.ก.ส. ให้กู้ในการรับจำนำสินค้าเกษตร 13 โครงการเป็นเงิน 186,000 ล้านบาทเศษนั้น ถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับชำระหนี้คืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย จึงเป็นหนี้ที่มีปัญหาที่หมกอยู่ใน ธ.ก.ส. แล้วเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อปิดบัญชีเรื่องนี้

เพราะถ้าขืนปล่อยไว้เนิ่นนานไป แล้วในวันหน้าการเมืองผันแปรไปประการอื่น ก็จะมีการฟื้นฝอยหาตะเข็บขึ้นและอาจทำให้บรรดานักงาบเงินแผ่นดินทั้งหลาย ต้องเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง ดังนั้นจึงต้องหาทางปิดบัญชีกันเสียก่อนในยามที่ยังมีอำนาจกันอยู่

คณะกรรมการชุดนี้คงทำหน้าที่ด้วยความเที่ยงตรงตามสมควร ดังนั้นผลการตรวจสอบที่ตรวจสอบพบจึงปรากฏผลที่ตกตะลึงกันทั้งประเทศ

ผลการตรวจสอบได้พบเรื่องสำคัญๆ 2 เรื่อง คือ

เรื่องแรก ได้ตรวจสอบพบว่าสินค้าภาคเกษตร 13 โครงการที่รับจำนำไว้ด้วยเงินถึง 186,000 ล้านบาทเศษนั้น มีมูลค่ารวมในปัจจุบันนี้เพียงประมาณ 90,000 ล้านบาทเท่านั้น

หมายความว่าจำนวนที่ให้กู้ในการรับจำนำไม่คุ้มกับมูลค่าของราคา สินค้าที่รับจำนำอยู่ โดยมีส่วนต่างที่ทำให้เกิดผลขาดทุนทันทีถึง 96,000 ล้านบาท หรือกว่าครึ่งของจำนวนเงินที่รับจำนำ ซึ่งถ้าหากว่าเป็นการค้าทั่วไปก็ต้องถือว่าเจ๊งแบบไม่ต้องผุดไม่ต้องเกิดกัน เลย

และในความเป็นจริง มูลค่าของสินค้าในคลังที่ประมาณการว่าจะมีมูลค่า 96,000 ล้านบาทนั้น เมื่อถึงเวลาจำหน่ายขายจริงๆ แล้วก็อาจจะได้ราคาเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะอาจปรากฏความเสียหายจากการเสื่อมคุณภาพหรือถูกสัตว์กิน หรือด้วยเหตุอื่น

ดัง นั้นผลขาดทุนเบื้องต้นประมาณ 96,000 ล้านบาท จึงเป็นเพียงผลขาดทุนขั้นต่ำที่สุด และอาจขาดทุนจริงถึง 136,000 ล้านบาท ลองนึกดูเถิดลงทุนให้กู้รับจำนำ 186,000 ล้านบาท แต่ขาดทุนถึง 136,000 ล้านบาท มันเป็นความเสียหายที่ยับเยินเพียงไหน?

เรื่องที่สอง ผลการตรวจสอบยังพบต่อไปว่า ในจำนวนสินค้าที่รับจำนำทั้งหมดนั้น เป็นการรับจำนำลมไว้กว่า 10,000 ล้านบาท

ผล การตรวจสอบประการนี้หมายความว่าอย่างไร? นี่คือความร้ายแรงของการโกงบ้านผลาญเมืองในโครงการรับจำนำ เพราะมีความหมายว่ามีการเอาเงินค่ารับจำนำไปกว่า 10,000 ล้านบาท โดยไม่มีสินค้ามาจำนำแต่ประการใด

จึงเรียกวิธีการจำนำแบบนี้ว่าจำนำลม ซึ่งปกติไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ นอกจากมีมหกรรมโกงบ้านผลาญเมืองที่ทำกันอย่างเป็นขบวนการเท่านั้น

เพราะการที่สินค้าภาคเกษตรที่มีมูลค่าถึง 10,000 ล้านบาทแล้วรับเงินค่าจำนำไปโดยไม่มีสินค้าเลยนั้นย่อมไม่อาจทำได้โดยข้า ราชการเพียงไม่กี่คน หรือโดยพ่อค้าเพียงไม่กี่คน หรือโดยนักการเมืองเพียงไม่กี่คน

เพราะ ถ้าสินค้านี้เป็นข้าวโพดก็จะมีปริมาณที่กองเต็มสนามหลวงและสูงยิ่งกว่าภูเขา ทอง ปริมาณสินค้ามากมายขนาดนี้เอามาจำนำแล้วไม่มีสินค้า และรับแต่เงินค่าจำนำไปจึงไม่ใช่วิสัยธรรมดาที่จะเกิดขึ้นได้

ผลการตรวจสอบประการนี้จึงบ่งชี้ชัดเจนว่ามีขบวนการโกงบ้านผลาญเมือง ขบวนใหญ่โตมากที่ทำมาหากินกับโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาล

รายงานผลการตรวจสอบทั้งสองประการนี้ได้ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านทาง สื่อมวลชนมากหลาย แต่หามีผู้ใดเอาเป็นธุระหรือเจ็บร้อนด้วยแผ่นดินไม่! ไม่ว่าองค์กรที่มีหน้าที่ป้องกันปราบปรามการทุจริต ในการตรวจสอบการแผ่นดิน หรือในการบริหารจัดการในส่วนของรัฐบาล

คงปล่อยให้การโกงและขบวนการโกงบ้านผลาญเมืองลอยนวลและเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคมไทยต่อไปตามปกติ

ผล การตรวจสอบครั้งนี้แทนที่จะมีการเสนอให้หาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่กลับแสดงผลไปอีกทางหนึ่ง คือลงโทษประชาชนแทนคนโกงบ้านผลาญเมือง โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้จัดงบประมาณแผ่นดินไปชดเชยผลขาดทุนทั้งหมด ที่เกิดขึ้น

นี่คือการบริหารราชการแผ่นดินในยุคที่การโกงบ้านผลาญแผ่นดินกำลังเจริญงอกงามยิ่งกว่าดอกเห็ดในฤดูฝน!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น