++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552

หนี้ที่รัฐบาลกู้ : ภาระที่ประชาชนแบกรับ

โดย สามารถ มังสัง 22 มิถุนายน 2552 14:26 น.
การก่อหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้เพื่อการลงทุน
หรือหนี้เพื่อนำเงินมากินมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน
ล้วนแล้วแต่เป็นพันธะที่ผู้กู้จะต้องจ่ายคืนทั้งต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไข
ที่กำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้
และหากผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินกู้ตามเงื่อนไขสัญญา
ผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้ก็จะดำเนินการฟ้องร้องเรียกหนี้คืนจากผู้กู้

ด้วยเหตุนี้
การก่อหนี้ทางพุทธศาสนาถือเป็นการก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง
ดังที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 หน้า 392 หมวดฉักกนิบาตอังคุตตรนิกาย
ความว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
ความจนเป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม"

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า"

จึงตรัสต่อไปว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
คนจนไม่มีทรัพย์เป็นของตนเอง ไม่มั่งคั่ง ย่อมกู้หนี้
แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม"

"คนจนกู้หนี้แล้วก็จะต้องเสียดอกเบี้ย
แม้การเสียดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม"

"คนจนที่จะต้องเสียดอกเบี้ย ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนดก็ถูกเขาทวง
แม้การถูกเขาทวงก็เป็นทุกข์ใน
โลกของผู้บริโภคกาม"

"คนจนถูกทวงไม่ให้เขา ก็ถูกเขาตามตัว
แม้การถูกตามตัวก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม"

"คนจนถูกตามตัวไม่ให้เขา ย่อมถูกจองจำ
แม้การถูกจองจำก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม"

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ความจนก็ดี การกู้หนี้ก็ดี
การเสียดอกเบี้ยก็ดี การถูกทวงก็ดี การถูกตามตัวก็ดี การถูกจองจำก็ดี
เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม ด้วยประการฉะนี้

โดยนัยแห่งคำสอนของพระพุทธองค์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า
ความจนกับการก่อหนี้เป็นของคู่กันมาทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่ยุคพุทธกาลเมื่อ
2,000 กว่าปีล่วงมาแล้ว จนถึงปัจจุบัน
และในประเด็นที่ว่าการกู้หนี้เป็นทุกข์ ก็ยังเป็นสัจธรรม
แม้กระทั่งในยุคปัจจุบันจะเห็นได้จากการหนีหนี้ด้วยการฆ่าตัวตาย หรือใน
บางรายที่ไม่ฆ่าตัวตายก็ถูกเจ้าหนี้ทำร้ายร่างกายให้ได้รับทุกข์ทรมาน
ก็มีปรากฏบ่อยๆ

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนก่อหนี้ทั้งในส่วนของบุคคล
และนิติบุคคลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อหนี้ในภาครัฐ
ซึ่งทั้งที่รัฐบาลเป็นผู้กู้เอง และเป็นผู้ค้ำประกันให้องค์กรของรัฐกู้

ถึงแม้ว่าคำสอนของพระพุทธองค์จะยังคงเป็นจริงในส่วนที่ว่า
การกู้หนี้เป็นทุกข์ แต่การกู้หนี้ในภาครัฐ ผู้กู้คือรัฐบาล
ย่อมไม่ได้รับความทุกข์เหมือนกับผู้กู้หนี้ในภาคเอกชน
เพราะไม่ต้องนำเอาเงินโดยตรงหรือเงินส่วนตัวของผู้กู้มาจ่ายหนี้
แต่จะจ่ายหนี้คืนด้วยเงินภาษีที่เรียกเก็บจากประชาชน
ยิ่งกว่านี้เมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายหนี้
และยังไม่มีเงินจ่ายก็สามารถกู้หนี้มาใช้หนี้ได้ไม่เดือดร้อน
หรือต้องหลบหนีเจ้าหนี้เหมือนคนธรรมดาทั่วไป
และที่สำคัญยิ่งกว่านี้อีกประการหนึ่งก็คือ
รัฐบาลที่กู้หนี้กับรัฐบาลที่จะต้องหาเงินมาจ่ายหนี้
อาจไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากคนเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกันด้วยซ้ำ

และนี่เองน่าจะเป็นเหตุให้การก่อหนี้ในภาครัฐเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าภาค
เอกชน เพราะไม่ต้องเป็นทุกข์อันเนื่องมาจากการเป็นหนี้โดยตรง
จะเห็นได้จากการที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์
ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค
และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เสนอ พ.ร.ก. และ
พ.ร.บ.เพื่อกู้เงินแปดแสนล้านบาท
โดยอ้างเหตุจำเป็นในการที่จะต้องนำเงินมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

จากจำนวนตัวเลขที่ปรากฏออกมาทำให้มองเห็นอนาคตของประชาชนคนไทยทั้ง
ประเทศว่า หนี้สาธารณะเฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นอีกคนละไม่น้อย
และแน่นอนว่าในอนาคตการเก็บภาษีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายส่วนของธุรกิจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ขึ้นภาษีแล้วได้เงินมาก
และแน่นอนก็คือภาษีน้ำมันที่คนใช้น้ำมันต้องแบกรับทั้งในส่วนของบุคคลธรรมดา
และในส่วนขององค์กรธุรกิจอันเป็นนิติบุคคล และการก่อหนี้ในภาครัฐครั้งนี้
คนที่จะต้องเป็นทุกข์จะเป็นใครไปไม่ได้นอกเหนือไปจากคนไทยที่มีอายุยืนไปถึง
วันที่ต้องจ่ายหนี้คืน หรือแม้กระทั่งคนที่เกิดมาภายหลังก็ต้องรับทุกข์
ทั้งๆ ที่ไม่มีโอกาสได้รับรู้และได้รับคำชี้แจงถึงความจำเป็นในการก่อหนี้
หรือถ้าจะพูดให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมในการที่ต้องแบกรับภาระก็คือ
พวกเขาไม่ได้เลือกนักการเมืองที่ก่อหนี้เข้ามาด้วยซ้ำไป
ไม่ว่าคนไทยจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะก่อหนี้แปดแสนล้าน
บาทในครั้งนี้ หนี้แปดแสนล้านบาทก็คงจะเกิดขึ้น
และคนไทยจะต้องแบกรับหนี้ก้อนนี้โดยไม่มีทางเลี่ยง

ดังนั้น ทางเดียวที่ทุกคนรวมทั้งรัฐบาลผู้ก่อหนี้จะต้องทำก็คือ
ช่วยกันตรวจสอบการใช้เงินจากหนี้ก้อนนี้เพื่อป้องกันการรั่วไหล
และควบคุมให้มีการใช้เงินเป็นไปด้วยความโปร่งใส
เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมโดยรวม

แต่การที่จะตรวจสอบได้และควบคุมได้มิได้ขึ้นอยู่กับประชาชนโดยตรง
แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่ามีความจริงใจและจริงจังในการที่จะนำเงินก้อนนี้มา
แก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ในส่วนของผู้เขียนบอกตรงๆ ว่าไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ด้วยเหตุผลในทางตรรกะดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสมที่มีลักษณะผิดปกติตั้งแต่เกิด คือ
นำเอาพรรคการเมืองที่มีพฤติกรรมส่วนบุคคลของนักการเมือง
และพฤติกรรมองค์กรของพรรคการเมืองที่แตกต่างกันชนิดขาวกับดำมาผสมกัน
ทำให้เอกลักษณ์โดยรวมของรัฐบาลเหมือนกับพระกับโจรมาอยู่ด้วยกัน
จึงไม่มีเอกภาพทางด้านความคิดในการทำงานร่วมกัน
และนี่คือจุดแตกต่างที่รอวันแตกหัก
แล้วจบลงด้วยการยุบสภาได้ทุกเวลาที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีทุนพร้อมที่จะลงเลือก
ตั้งใหม่ และจากจุดต่างที่ว่านี้เองน่าจะเป็นเหตุให้เกิดการแสวงหาทุนด้วยการผลักดัน
โครงการต่างๆ ออกมาให้มากที่สุด
ทั้งในส่วนของเงินและทุนทางสังคมอันได้จากการผลักดันโครงการให้เกิด
นี่เองคือการรั่วไหลของเงินกู้
และจะเป็นจุดให้เกิดโครงการในแง่ของจำนวนหรือปริมาณมากกว่าเน้นคุณภาพ

2. ในการเลือกตั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น พรรคต่างๆ
ที่ร่วมกันเป็นรัฐบาลในขณะนี้ก็ไม่มีอะไรบ่งบอกว่าจะมาร่วมกันอีกครั้งใน
ลักษณะจับมือกันอย่างเหนียวแน่นแน่นอน แต่ทุกพรรคมุ่งที่จะนำ
ส.ส.เข้ามาในสภาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพื่อแย่งชิงการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
หรือไม่เป็นแกนนำก็มีอำนาจในการต่อรองเพื่อเข้าร่วมรัฐบาล

ด้วยเหตุนี้
การหาทุนเข้าพรรคเพื่อเป็นปัจจัยในการต่อสู้ทางการเมืองของทุกพรรค
จึงเป็นไปอย่างเอกเทศพรรคต่างทำ
นี่ก็คือจุดต่างอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการนำหนี้ก้อน
นี้ไปใช้

แต่ อย่างไรก็ตาม
ข้อคิดเห็นทั้งหมดที่กล่าวมาอาจไม่เกิดขึ้นและเป็นไปตามนั้นก็ได้
ถ้าผู้นำรัฐบาลเข้มแข็งและรักษาความเป็นนักการเมืองมีคุณภาพ
ยืนหยัดในอุดมการณ์โดยการยอมปรับ ครม.เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย
และยุบสภาเมื่อมีความจำเป็นทางการเมืองมาถึง

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000070285

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น